จับตา “ฝีดาษลิง Mpox เคลด 1” ไทยยังไม่เจอ แต่ก็มีความเสี่ยง

จับตา “ฝีดาษลิง Mpox เคลด 1” ไทยยังไม่เจอ แต่ก็มีความเสี่ยง

ไทยเพิ่มความเข้มเฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง Mpox เคลด 1” หลังสวีเดนเจอรายแรกติดเชื้อนอกทวีปแอฟริกา ส่วนในไทยที่เจอยังเป็นสายพันธุ์เคลด 2 รุนแรงน้อยกว่า  แต่ก็มีความเสี่ยงจะพบสายพันธุ์รุนแรงได้ 

KEY

POINTS

  • องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิง Mpox เคลด 1b เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ สวีเดนเจอรายแรกติดเชื้อนอกทวีปแฟริกา
  • ไทยเพิ่มความเข้มเฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง Mpox เคลด 1” ในไทยที่เจอยังเป็นสายพันธุ์เคลด 2 รุนแรงน้อยกว่า  แต่ก็มีความเสี่ยงจะพบสายพันธุ์รุนแรงได้ 
  • ย้ำวิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิง Mpox กรมควบคุมโรคออกคำแนะนำผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่เสี้ยง

จากสถานการณ์การระบาดของโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง หรือMpox ในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก เช่น ประเทศสาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐรวันดา สาธารณรัฐยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  พบอัตราการป่วยด้วยโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ Mpox clade 1b(เคลด 1b) สูงขึ้น  สะสม ในปี 2565 - 2567 ผู้ป่วยสะสม 14,250 ราย เสียชีวิต 456 ราย

ฝีดาษลิง Mpox สถานการณ์ทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Mpox clade 1b(เคลด 1b) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) PHEIC) หลังจากนั้นเพียง 1 วัน ประเทศสวีเดนมีรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อนี้นอกทวีปแอฟริการายแรก และเชื่อมโยงการติดเชื้อดังกล่าวกับการระบาดที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกา

และล่าสุด 16 ส.ค.2567ประเทศปากีสถาน มีรายงานผลตรวจยืนยันฝีดาษลิงแล้ว 2 ราย ส่วนอีกรายอยู่ระหว่างรอผลยืนยันจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติในกรุงอิสลามาบัด แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยถึงสายพันธุ์ 

สถานการณ์โรคทั่วโลก (2022-2024) ป่วยยืนยันสะสมราว 99,176 ราย เสียชีวิตสะสม 208 ราย

สถานการณ์ฝีดาษลิง Mpox ในไทย 

ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 ถึง 11 ส.ค.2567 จำนวน  827 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ Clade 2 (เคลด 2) ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในแอฟริกา

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนไทย 742 คน  ชาวต่างชาติ 81 คน ไม่ระบุ 4 คน เฉพาะช่วงปี 2567 ตั้งแต่ 1 ม.ค.– 3 ส.ค.2567 พบผู้ป่วยยืนยัน 140 คน พบมากในเพศชาย 97.46% และเพศหญิง 2.54%

เสียชีวิตสะสม 11 ราย โดย 100 % เป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีด้วย ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว

ฝีดาษลิง Mpox ความต่างในไทย-แอฟริกา

 ฝีดาษลิง ณ ตอนนี้มี  2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ clade 1 (เคลด1) หรือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก  มีอัตราการป่วยตายสูง ยังไม่พบในประเทศไทย 
ทั้งนี้ สายพันธุ์เคลด 1 มีการปรับตัวรุนแรงขึ้น เรียกว่าสายพันธุ์ clade IB (เคลด1b)  พบในดีอาร์คองโก (DR Congo)  ตั้งแต่กันยายน 2566 แพร่ระบาดจากการสัมผัสใกล้ชิด การมีเพศสัมพันธ์  ผู้อาศัยร่วมบ้าน และติดเชื้อในสถานพยาบาล ส่วนเด็กอาจติดจากผู้ปกครอง แต่สายพันธุ์ clade IB สามารถติดจากสัตว์ได้ เป็นไปได้ว่าผู้ปกครองไปคลุกคลีกับสัตว์ ล่าสัตว์ก็อาจติดเชื้อ และแพร่มายังเด็กๆ ได้

และสายพันธุ์ clade 2 (เคลด2)  หรือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก   ณ ตอนนี้ประเทศไทยพบเพียงสายพันธุ์นี้

“อัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษวานร Mpox สายพันธุ์เคลด 1b ที่องค์การอนามัยโลกประกาศอยู่ที่ราว 5 % แต่ในไทยที่เป็นสายพันธุ์เคลด 2 อยู่ที่ราว 1.3 % แต่ไม่ใช่ว่าคนปกติจะมีอัตราการเสียชีวิตนี้ เนื่องจากผู้เสียชีวิตในสะสม 11 รายนั้น 100 % เป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ”นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

แผนเฝ้าระวังฝีดาษลิง Mpox

 สำหรับประเทศไทย หลังองค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า มอบหมายกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เพิ่มมาตรการและเข้มงวดการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาด ได้แก่

          1.ตรวจสอบการลงทะเบียน Health Declaration เพื่อการควบคุมโรค ซึ่งต้องมีที่อยู่ การเดินทางและสถานที่ติดต่อระหว่างอยู่ในประเทศไทย

          2. ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (Health Beware Monitor) 4 ภาษา ได้แก่ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน บริเวณด่านคัดกรอง รวมทั้ง QR code สำหรับการรายงานอาการเจ็บป่วยของตนเอง

          3.วัดอุณหภูมิร่างกาย

          4.หากพบผู้เดินทางมีผื่น หรืออาการเข้าได้กับ โรคฝีดาษลิง จะทำการแยกไว้ในห้องแยกโรคทันที และเก็บตัวอย่างจากผื่น และจากคอหอย ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี RT-PCR ณ ห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคฯ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสามารถรอผลตรวจในห้องแยก 70 นาที

          5. หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบ เป็นโรคฝีดาษลิง จะส่งรับการรักษา ณ สถาบันบำราศนราดูร

          6. กรณีพบผู้เดินทางมีผื่น ชัดเจนที่ด่าน หรือสนามบิน ให้พามาตรวจสอบอาการที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ได้ทันที
 

 “ไม่อยากให้ประชาชนตระหนกจนเกินไปเพราะประเทศไทยมีมาตรการควบคุมอยู่แล้ว ทุกด่านเข้าประเทศ ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวว่าประเทศสวีเดนพบผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์เคลด 1 เป็นรายแรกนอกทวีปแอฟริกา กรมมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ส่วนจะเพิ่มการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสวีเดนหรือประเทศแถบยุโรปนั้นคงต้องขอดูข้อมูลก่อน”นพ.ธงชัย กล่าว

ย้ำการป้องกันโรคฝีดาษลิง Mpox

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคล หมั่นสังเกตอาการตนเอง   

ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือเริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตาม ร่างกายเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง ควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้น

กรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โรคฝีดาษลิง รวมถึงโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำอื่นๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ อาจมีโอกาสพบผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศติดโรคหรือเจ็บป่วยได้ จึงขอเน้นย้ำการป้องกันโรคฝีดาษลิง ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดบุคคล และขอให้มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ

2. หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

3.หากผู้ที่มีอาการสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค