8 ขั้นตอน รับบริการ “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ” แบบละเอียด

8 ขั้นตอน รับบริการ “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ” แบบละเอียด

เปิด 8 ขั้นตอนรับบริการ “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ” ที่จะคิกออฟ 26 ส.ค.นี้ ต้องอย่าลืมพก”บัตรประชาชน” ตรวจสอบสิทธิ์-ยืนยันการรับบริการ  ที่สำคัญครอบคลุมเฉพาะบริการปฐมภูมิ

KEY

POINTS

  • 8 ขั้นตอนรับบริการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ ที่จะมีการคิกออฟในวันที่ 26 ส.ค.นี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอดเวลา
  • 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ นำบัตรประชาชนไปแสดงทุกครั้งที่เข้ารับบริการ เพื่อยืนยันสิทธิในการใช้บริการทั้งก่อนและหลังเสร็จสิ้น
  • 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ สามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิก, ร้านยาที่ได้รับการรับรอง หรือหน่วยบริการประจำที่ใกล้บ้าน โดยสังเกตป้ายสัญลักษณ์ 30 บาท รักษาทุกที่

หนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย(พท.)และนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐบาล คือ “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่

โดยหลักการของนโยบายนี้ มุ่งเน้น “อำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับผู้ป่วยมากขึ้น” ทั้งในแง่ของการเข้ารับบริการ  “รักษาได้ทุกที่ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะรพ.ที่กำหนดไว้ตามสิทธิเท่านั้น” ลดการรอคิว และการใช้เพียง “บัตรประชาชนใบเดียว”เมื่อเข้ารับบริการ

ยกระดับ “30 บาท รักษาทุกที่” ตามเป้า

การขับเคลื่อนเป็นไปตามไทม์ไลน์ “30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”ที่มีการกำหนดไว้ แบ่งเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 นำร่อง  4 จังหวัด แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส  ตั้งแต่  1 ม.ค. 2567

ระยะที่ 2 ขยายไป 8 จังหวัด  เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว เมื่อมี.ค. 2567 ทั้ง 2 ระยะ ผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งภายในจังหวัด

ระยะที่ 3 ครอบคลุม 4 เขตสุขภาพของสธ. คือ เขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12 เริ่ม พ.ค. 2567 ทำให้ปัจจุบันมีจังหวัดที่ให้บริการแล้วรวม 45 จังหวัด

และตามไทม์ไลน์จะมีการขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี  2567

30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ จังหวัดที่ 46 

กรุงเทพมหานครจะเป็นจังหวัดที่ 46  แต่มีรูปแบบการให้บริการแตกต่างจากพื้นที่ต่างจังหวัด

การคิกออฟนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ  จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ส.ค.2567 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.

พร้อมกับจะมีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ (Logo) “30 บาท รักษาทุกที่” รวมถึง ปาฐกถาพิเศษ “30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ปาฐกถา เรื่อง “จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่”

ขณะที่ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2567 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)เห็นชอบมาตรการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ โดยเฉพาะ 2 ประกาศสำคัญ คือ

1.ประกาศ สปสช. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2545

2.ประกาศ สปสช. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567

ประกาศ2 ฉบับดังกล่าว  ครอบคลุมเรื่องของการให้บริการของหน่วยบริการและการรับบริการของผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท  ซึ่งกรุงเทพธุรกิจ รวบรวมขั้นตอนการเข้ารับบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ

8 ขั้นตอน 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ

1. การใช้บริการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ ครอบคลุมเฉพาะการรักษาแบบปฐมภูมิ ยังไม่สามารถเดินเข้าไปรับบริการในรพ.ใหญ่ได้หากไม่ได้เป็นหน่วยบริการตามสิทธิ์

2.เจ็บป่วยทั่วไป หรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง เข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจํา ที่ได้รับการรับรองและมีป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ซึ่งจะเปิดตัวสัญลักษณ์ในวันที่ 26 ส.ค.2567

หน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภท ที่สามารถไปรับบริการได้ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ของโครงการ ได้แก่

• ร้านยาคุณภาพ

• คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น

• คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น

• คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น

• คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น

• คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น

ทั้งนี้ ตรวจสอบหน่วยบริการที่ใกล้บ้านได้ที่ สายด่วน 1330

3. แสดงบัตรประชาชนหรือวิธีการอื่นที่กำหนด หรือสูติบัตรคู่กับ บัตรประชาชนของผู้ปกครองกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีทุกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้สิทธิในการเข้ารับบริการ

4.ไปยังจุดคัดกรองผู้ป่วย

5.กรณีที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน และหน่วยบริการไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากเกินขีดจํากัดด้านจํานวนในแต่ละวัน ให้ประสานนัดวันให้ผู้รับบริการเข้ารับบริการใหม่ในภายหลัง

6.กรณีที่ผู้รับบริการเห็นว่าใช้ระยะเวลาในการรอเพื่อรับบริการนาน เกินสมควร ให้สอบถามระยะเวลา หากไม่สามารถรับบริการในวันดังกล่าวได้ ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อนัดหมายวันเวลาที่สามารถเข้ารับบริการในภายหลัง

7.แสดงบัตรประชาชน หรือสูติบัตรคู่กับบัตรประชาชนของผู้ปกครองกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีทุกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้สิทธิเมื่อสิ้นสุดการบริการ

8.กรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากเกินศักยภาพในการให้บริการ ให้หน่วยบริการพิจารณาส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการ หรือให้หน่วยบริการแจ้งสายด่วน สปสช. 1330