ชง“30บาท” ให้ทางเลือกคนไข้จ่ายออนท็อป สปสช.ประกันจ่ายขั้นต่ำรพ. ปมงบไม่พอ

ชง“30บาท” ให้ทางเลือกคนไข้จ่ายออนท็อป สปสช.ประกันจ่ายขั้นต่ำรพ.  ปมงบไม่พอ

ยูฮอสเน็ต-รพศ./รพท.ร้องสปสช.จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยต่ำกว่าต้นทุนที่รพ.ต้องแบก ชงทางออกเปิดช่องทางเลือก "ผู้ป่วย 30บาท" จ่าย "ออนท็อป"แล้วรับบริการเพิ่มเติม -สปสช.ประกันอัตราจ่ายขั้นต่ำให้รพ.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2567 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet)) นำโดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) นำโดยนพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมรพศ./รพท. พร้อมตัวแทนเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายเพื่อบริการประชาชนสิทธิ 30บาท

ร้องสปสช.จ่ายค่ารักษาต่ำกว่าต้นทุน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า มาขอความช่วยเหลือรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการไม่สอดคล้องกับต้นทุน โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขาดไปจำนวนมาก  แม้รพ.ของรัฐจะไม่แสวงหากำไร แต่ก็ต้องมีเงินไว้พัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่งบฯ กลับไม่เพียงพอ

อย่างเช่น งบประมาณผู้ป่วยใน ให้เพียง 8,350 บาท/ต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน(AdjRW)  แต่ต้นทุนจริงของรพ.สธ.จะอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นบาท ส่วนต้นทุนโรงเรียนแพทย์อยู่ที่ 25,000 -30,000 บาท ทั้งหมด 8 เดือน งบประมาณก็ไม่พอแล้ว แสดงว่าเมื่อครบปีงบฯ จะจ่ายให้รพ.แค่ 4,500 บาท ยิ่งทำให้รพ.แบกรับไม่ไหว จึงมาขอความช่วยเหลือรัฐมนตรี

“การขับเคลื่อนนโยบายต้องดูให้รอบด้าน ครบถ้วน การที่มีนโยบายรักษาทุกที่ในปีที่ผ่านมา ตั้งงบฯ 400-500 ล้านบาท แต่ใช้ไป 900 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดของโครงการตั้งแต่เฟส1-เฟส4  รวม 7,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการใช้ก่อนหน้านี้แล้ว 4,000 ล้านบาท ส่วนปี 2567 รัฐให้งบประมาณ 74 ล้านบาท คาดการณ์ว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาทแน่ ถามว่า จะเอางบมาจากที่ไหน สปสช.เตรียมรับมืออย่างไร” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ชงทางเลือกผู้ป่วย 30บาท “ออนท็อป”รับบริการเพิ่มเติม

ทางออก คือ 1.สปสช.ควรเสนองบฯ เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาจัดสรรตามต้นทุนจริงหรือใกล้เคียงต้นทุนของหน่วยบริการ

2. ในส่วนของผู้ป่วย ทางสปสช.ควรกลับไปดูที่พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการเพิ่มเติมจากสิทธิ์ที่ได้รับ คล้ายกับสิทธิประกันสังคมที่ให้ผู้ประกันตนสามารถออนท็อป (On Top) เพื่อรับบริการเพิ่มเติม

สปสช.ต้องประกันอัตราจ่ายขั้นต่ำให้รพ.

ด้าน นพ.อนุกูล กล่าวว่า รพ.สธ.ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สปสช.จ่ายให้ไม่เต็ม โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยใน ทำให้หลายแห่งขาดสภาพคล่อง ที่อยู่ได้เพราะมีเงินบริจาค และการหาเงินจากแหล่งอื่น รวมถึง นโยบายการช่วยเหลือกันภายในเขตสุขภาพ แต่สามารถช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

ล่าสุดเดือน มิ.ย.2567 ได้รับเงินจากสปสช.ในอัตรา 7,000 บาท ลดจากข้อตกลงเดิมที่ให้มาในอัตรา 8,350 บาท ขณะที่ต้นทุนรพ.สธ.อยู่ที่ 13,412 บาท ส่งผลกระทบต่อรายรับของรพ.ทำให้เดือน มิ.ย. 2567 มีรพ.ถึง 236 จาก 902 แห่ง ที่ให้บริการผู้ป่วยใน ไม่ได้รับเงินชดเชยค่ารักษา เนื่องจากอัตราจ่ายปรับลดลงมาก และถูกหักเป็นเงินเดือนบุคลากรจนหมด

  • ขอให้ สปสช.ประกันอัตราจ่ายขั้นต่ำที่ 8,350 บาท
  • กรณีที่งบฯไม่เพียงพอให้สปสช.จัดสรรงบฯ เหลือจ่ายจากกองทุนอื่นมาช่วยเหลือ
  • กรณีที่ไม่สามารถชดเชยได้เพียงพอ สปสช.ต้องเป็นลูกหนี้เพื่อทำเรื่องของบฯ มาสนับสนุน ชดเชยต่อไป
  • ที่สำคัญ ขอให้นำเงินค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์หลังการรับหนังสือว่า เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ช่วยกันดู 1.การเพิ่มงบประมาณ 2.ใช้นวัตกรรมช่วยลดจำนวนคนป่วยน้อยลง จะช่วยให้ไม่ต้องเข้ารพ.เพิ่ม ซึ่งก็คงไม่เห็นผลในเร็ววัน และ 3.ดูเรื่อง งบฯว่าสามารถเพิ่มหรือลดส่วนไหนได้ จะตอบทั้งหมดตอนนี้คงไม่ได้ ต้องใช้เวลา ส่วนที่มีรายงานว่ารพ.ขาดสภาพคล่อง ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้ ยังไม่ได้เห็น