บอร์ด สปสช.อนุมัติมาตรการ “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” ย้ำอย่าแห่ไป รพ.ใหญ่

บอร์ด สปสช.อนุมัติมาตรการ  “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” ย้ำอย่าแห่ไป รพ.ใหญ่

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ มาตรการนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” เฉพาะบริการปฐมภูมิ  อย่าแห่เข้า รพ.ใหญ่  เจ็บป่วยทั่วไปต้องไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิ - หน่วยบริการนวัตกรรม  กรณีจำนวนผู้ป่วยต่อวันล้น ให้นัดมาใหม่วันหลัง   

KEY

POINTS

  • คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เห็นชอบมาตรการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ จะคิกออฟ 26 ส.ค.67 นี้ 
  • การให้บริการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ ย้ำชัดไม่ให้แห่ไป รพ.ใหญ่ เจ็บป่วยทั่วไป เข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หน่วยบริการประจำก่อน
  • หน่วยบริการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ หากจำนวนผู้ป่วยต่อวันล้น ออกนัดหมายให้ผู้ป่วยมาวันอื่น กรณีเกินศักยภาพรักษาต้องส่งต่อ รพ.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2567 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน  รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และเห็นชอบ “การกำหนดมาตรการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่” เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  มีจำนวน 4 ฉบับ ดังนี้

1.ประกาศ สปสช. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2545

2.ประกาศ สปสช. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567

“2 ฉบับนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการให้บริการของหน่วยบริการ และการเข้ารับบริการของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ โดยกรณีที่เจ็บป่วยทั่วไปหรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจำ ที่ได้รับการรับรอง และติดป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมให้บริการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่”นายสมศักดิ์ กล่าว

หน่วยบริการ ต้องมีตราสัญลักษณ์ 30 บาท รักษาทุกที่

3.ประกาศ สปสช.เรื่อง กำหนดตราสัญลักษณ์ และการใช้ตราสัญลักษณ์ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ พ.ศ.2567 เป็นการกำหนดตราสัญลักษณ์ และหลักเกณฑ์ใช้ตราสัญลักษณ์ตามนโยบายฯ ในพื้นที่ กทม. โดยกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุข และทราบถึงหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขดังกล่าว โดยผู้ที่นำตราสัญลักษณ์นี้ไปใช้ต้องเป็นหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ที่ผ่านการรับรองจาก สปสช.  

และ 4.ประกาศ สปสช. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และการดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่กรุงเทพฯ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูล และเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวกเพื่อประโยชน์ในการบริการสาธารณสุขให้แก่ประชาชน มีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบถ้วน และไร้รอยต่อ โดยมีการยกระดับความปลอดภัยของข้อมูล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย

30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ  ห้ามแห่ไป รพ.ใหญ่

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อยากให้ สปสช. ทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนใน กทม. ให้ชัดเจนว่า นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ เป็นการเข้ารับบริการเฉพาะกรณีที่ปฐมภูมิเท่านั้น เพราะกังวลว่าหากไม่ชัดเจน โดยประชาชนเข้าใจว่าไปที่ไหนก็ได้ก็จะมุ่งไปรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นจึงขอให้ สปสช. ทำการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนที่จะเข้ารับบริการต้องเป็นหน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ให้บริการ 30 บาท รักษาทุกที่ ติดอยู่เท่านั้น และหน่วยบริการที่จะได้รับตราสัญลักษณ์นี้ได้ต้องผ่านการรับรองจาก สปสช. ก่อน ต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลในระบบก่อน
บอร์ด สปสช.อนุมัติมาตรการ  “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” ย้ำอย่าแห่ไป รพ.ใหญ่

การให้บริการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ

อนึ่ง สำหรับการกำหนดมาตรการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่  ในส่วนของ 2 หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่  การให้บริการของหน่วยบริการ และการรับบริการของประชาชน ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

1.การกําหนดหลักเกณฑ์และการดําเนินการให้บริการของหน่วยบริการ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

  • หน่วยบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนฯ ให้ติดตราสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ตามที่ สปสช.กําหนด
  •  ให้มีการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล
  • จัดให้มีจุดคัดกรองผู้ป่วย
  • เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชน หน่วยบริการอาจประสานงานกับสายด่วน 1330 เพื่อค้นหารายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็น หน่วยบริการภายใต้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เกินศักยภาพรักษาต้องส่งต่อผู้ป่วย

  • หน่วยบริการต้องจัดให้ผู้รับบริการแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการเพื่อประกอบการขอรับค่าใช้จ่ายในการให้บริการ สาธารณสุข ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการในการดําเนินงานเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ
  • ให้บริการสาธารณสุขตามความจําเป็นต่อสุขภาพและการดํารงชีวิต โดยคํานึงถึงความสะดวกของผู้รับบริการเป็นสําคัญ
  • ในกรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากเกินศักยภาพในการให้บริการ ให้หน่วยบริการพิจารณาส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการ หรือให้หน่วยบริการแจ้งสายด่วน สปสช. 1330 เกี่ยวกับการดําเนินการดังกล่าว

จำนวนผู้ป่วยต่อวันล้น นัดวันมารับบริการใหม่

  • ในกรณีที่ไม่ใช่การเข้ารับบริการในกรณีฉุกเฉิน หากหน่วยบริการไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากเกินขีดจํากัดด้านจํานวน ผู้รับบริการในการให้บริการในแต่ละวัน ให้หน่วยบริการพิจารณาดําเนินการประสานนัดวันให้ผู้รับบริการเข้ารับบริการใหม่ในภายหลัง หรือให้หน่วยบริการแจ้งสายด่วน สปสช. 1330 เกี่ยวกับการดําเนินการดังกล่าว
  • หน่วยบริการต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ตลอดจนข้อมูลการให้บริการกับหน่วยบริการอื่น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่ สปสช.กําหนด
  • หน่วยบริการที่ได้ให้บริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการ สาธารณสุขตามที่บอร์ด สปสช.หรือ สปสช.กําหนด

การรับบริการ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ

และ 2.การกําหนดหลักเกณฑ์ และการดําเนินการในการรับบริการของประชาชน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ

  • แสดงบัตรประชาชนหรือวิธีการอื่นที่จําเป็นตามที่ สปสช.กําหนด หรือสูติบัตรคู่กับ บัตรประชาชนของผู้ปกครองกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีทุกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้สิทธิในการเข้ารับบริการ
  • เข้ารับบริการสาธารณสุขตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนด
  • กรณีเจ็บป่วยทั่วไป หรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจํา ที่ได้รับการรับรอง และมีป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ตามที่ สปสช.กําหนด
    บอร์ด สปสช.อนุมัติมาตรการ  “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” ย้ำอย่าแห่ไป รพ.ใหญ่
  • แสดงบัตรประชาชนหรือวิธีการอื่นที่จําเป็นตามที่ สปสช.กําหนด หรือสูติบัตรคู่กับบัตรประชาชนของผู้ปกครองกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีทุกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้สิทธิเมื่อสิ้นสุดการบริการ
  • ในกรณีที่ผู้รับบริการเห็นว่าในการเข้ารับบริการสาธารณสุขต้องใช้ระยะเวลาในการรอเพื่อรับบริการนาน เกินสมควร ให้ผู้รับบริการสอบถามระยะเวลาในการได้รับบริการจากหน่วยบริการ หากไม่สามารถรับบริการในวัน ดังกล่าวได้ ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อนัดหมายวันเวลาที่สามารถเข้ารับบริการในภายหลัง

26 ส.ค.67 คิกออฟ 30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26 ส.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานคิกออฟ 30 บาท รักษาทุกที่ในกรุงเทพฯ ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. พร้อมกับจะมีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ (Logo) “30 บาทรักษาทุกที่”

ทั้งนี้ หน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภท ที่สามารถไปรับบริการได้ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ของโครงการ เป็นการบ่งบอกว่าหน่วยนวัตกรรมแห่งนั้น ประชาชนสามารถไปรับบริการไม่เสียค่าใช้จ่าย  ได้แก่

  • ร้านยาคุณภาพ
  • คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น
  • คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น
  • คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น
  • คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น
  • คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น