ไทยตรวจพบ "Mpox ฝีดาษวานร" 8 สายพันธุ์ย่อย

ไทยตรวจพบ "Mpox ฝีดาษวานร" 8 สายพันธุ์ย่อย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบMpox ฝีดาษวานร 8 สายพันธุ์ย่อย  ยืนยันสามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ขณะที่สายพันธุ์เคลดวันบีระบาดในแอฟริกา ติดเชื้อง่ายขึ้น

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับกรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคMpox หรือ ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ในประเทศไทย ด้วยการสุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด 

ล่าสุดการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 191 ราย ผลการวิเคราะห์พบสายพันธุ์ Clade II (เคลดทู) แบ่งได้เป็น 8 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2, A.2.1, B.1, B.1.12, B.1.3, B.1.7, C.1 และ C.1.1

  • โดยพบสายพันธุ์ย่อย C.1 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 85.34%
  • รองลงมาคือสายพันธุ์ย่อย A.2.1 (5.76%), C.1.1 (3.66%)
  • และ A.2 (2.09%)

“สายพันธุ์ย่อย C.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ในประเทศไทย  ซึ่งแตกต่างจากในช่วงแรกของสถานการณ์ระบาดที่เป็นสายพันธุ์ย่อย A.2  ทั้งนี้บ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสะสมของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับตัวตลอดเวลา”นพ.ยงยศกล่าว 

นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า สายพันธุ์เคลด 2 ย่อย C.1 ถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ Clade I (เคลดวัน) ที่มีการระบาด อยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเคลดวันมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% ขณะที่เคลดทู ทั้งเคลดทูเอ (Clade IIa) ,เคลดทูบี (Clade IIb) รวมถึง C.1 มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเพียง 1% โดยทั่วไปเคลดทู Clade II (รวมถึง C.1) มีลักษณะ การแพร่เชื้อที่ไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ซึ่ง ปัจจุบันได้จำแนกไวรัสฝีดาษวานรออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ เคลดวัน Clade I, เคลดทูเอ Clade IIa, และเคลดทูบี Clade IIb

ตรวจฝีดาษวานร รู้ผลได้ใน 24 ชั่วโมง

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการเครือข่าย จำนวน 62 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจเชื้อฝีดาษวานร  ได้ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก ภูเก็ต ราชบุรี ลำปาง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี

ทั้งนี้สามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม ในการตรวจวินิจฉัย การติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานร ทางห้องปฏิบัติการ และสามารถถ่ายทอดไปยังห้องปฏิบัติการเครือข่าย ช่วยส่งเสริมการควบคุม และป้องกันการแพร่กระจายของโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ

ฝีดาษวานรเคลดวันบี ติดง่ายขึ้น

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปี2565 ที่เคยระบาดเป็น เคลด 2 บี ติดต่อค่อนข้างยาก ต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด พบมากในกลุ่มชายรักชาย แต่ปีนี้กลับเปลี่ยนไป เป็นเคลดวัน บี (Clade 1b) เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว แต่ปรับตัวเองให้ติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะสาธารณรัฐคองโก มีการติดต่อง่ายขึ้น  อยู่บ้านเดียวกันเสี่ยงติดเชื้อได้ 4 ชั่วโมง

“ผู้เสียชีวิตในแอฟริการอบนี้เป็นเด็กถึง 70%  แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น คนที่อยู่บ้านเดียวกัน ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อกันได้ โดยมีการติดตามข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า คนที่ป่วยและไปอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ 4 ชั่วโมงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ ทั้งจากการสัมผัสเชื้อจากสารคัดหลั่ง การใช้มือที่สัมผัสเชื้อขยี้ตา การไอหรือจาม โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อจากแอร์บอร์น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

 

วัคซีนฝีดาษวานรป้องกันได้ 68-80%

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้วเช่นกัน โดยสภากาชาดไทยนำเข้ามา แต่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถฉีดก่อนและหลังเดินทางไปกลุ่มเสี่ยงได้ โดยข้อมูลที่ผ่านมาหากสัมผัสเชื้อมาแล้ว จะฉีดป้องกันความรุนแรงได้ 68%-80% 

“ขอย้ำว่า หากหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของฝีดาษวานร โดยเฉพาะฝีดาษวานรสายพันธุ์เคลดวันบีในประเทศแถบแอฟริกาหรือดีอาร์ คองโก ขอให้หลีกเลี่ยงไปก่อน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในประเทศเสี่ยงเหล่านี้ เนื่องจากมีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ฝีดาษวานรสายพันธุ์เคลดวันบี สามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว