สแกน“นโยบายสาธารณสุข”ที่ค้างเติ่ง หลัง 1 ปี รัฐบาล - 3 รัฐมนตรี

สแกน“นโยบายสาธารณสุข”ที่ค้างเติ่ง หลัง 1 ปี รัฐบาล - 3 รัฐมนตรี

ช่วงเวลาการทำงาน 1 ปี ของ 2 รมว.สธ.และ 1 รมช. “นโยบายสาธารณสุข” มีทั้งส่วนที่ขับเคลื่อนได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว บางเรื่องเพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.)มาแบบฉิวเฉียด และอีกหลายเรื่องสำคัญที่รอเข้าครม.  รวมถึง (ร่าง)พ.ร.บ.ที่จะมาพลิกการบริหารสธ.

KEY

POINTS

  • ช่วงเวลาการทำงาน 1 ปี ของ 2 รมว.สธ.และ 1 รมช. “นโยบายสาธารณสุข” มีทั้งส่วนที่ขับเคลื่อนได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว และอีกหลายเรื่องสำคัญที่รอเข้าครม.  
  • นโยบายสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมมากที่สุด ส่วนที่เข้าครม.ได้แบบฉิวเฉียดคือ การแต่งตั้ง 13 ผบ.สธ. และยุทธศาสตร์ปฏิรูปกำลังคนด้านสาธารณสุข
  • ส่วนนโยบายสาธารณสุข ที่รอครม.ชุดใหม่มาขับเคลื่อนต่อ มีเรื่องใหญ่อย่างเช่น “การแยกสธ.ออกจากก.พ.”  ร่างพ.ร.บ.อสม. ยุทธศาสตร์เมดิคัลฮับ 10 ปี  และกัญชากัญชง

มีผลให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทั้งหมด  หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ  4
เวลาเกือบ 1 ปีเต็มของรัฐบาล “เศรษฐา” เป็นนายกรัฐมนตรี ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีรัฐมนตรีรวม 3 คน  คนแรก “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) รวม 241 วัน โดยมี “สันติ พร้อมพัฒน์” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ก่อนที่จะมีการปรับครม. คงรมช.สธ.คนเดิม แต่ให้ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” มาเป็นรมว.สธ.และเป็นได้ 100 วัน 

30 บาท รักษาทุกที่โดดเด่น

ผลงานที่โดดเด่นที่สุดและเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย(พท.)สังกัดของ 2 รมว. คือ “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ซึ่งเป็นการให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถใช้บัตรประชาชนไปรับบริการได้ในหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ไม่จำกัดเฉพาะสถานพยาบาลที่กำหนดไว้ตามสิทธิเท่านั้น 

ดำเนินการแล้ว 3 ระยะ ใน 45 จังหวัด  ตามกำหนดจะมีการคิกออฟนโยบายนี้ที่กรุงเทพ เป็นจังหวัดที่ 46 ในวันที่ 26 ส.ค.2567 แต่เป็นการให้ใช้ได้เฉพาะบริการปฐมภูมิเท่านั้น ส่วนรพ.ในพื้นที่กทม.จะเป็นการรับส่งต่อ อย่างไรก็ตาม มีอีก 31 จังหวัดยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ  โดยไทม์ไลน์จะมีขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2567
มี “คลินิกส่งเสริมการมีบุตร”ในรพ.สธ.ครบทุกแห่งแล้ว ยังมีโรงพยาบาลที่รักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการฉีดน้ำเชื้อ เข้าโพรงมดลูก (IUI) 66 แห่ง และวิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) 3 แห่ง รวมทั้งมีการคัดกรองกลุ่มโรคหายาก (IEM) 40 โรค ในทารกแรกเกิด

แก้ไขปัญหายาเสพติด-บำบัดรักษา

“แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการ” เป็นอีกนโยบาย โดยมีการออกกฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดปริมาณยาเสพติดที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ด้วยการเปลี่ยนจากเดิมกำหนดไว้ 5 เม็ดในสมัยนพ.ชลน่าน เป็น 1 เม็ด ในสมัยสมศักดิ์ 
ที่สำคัญ มีระบบดูแล บำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติด ปัจจุบันเปิดให้บริการมินิธัญญารักษ์ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด 146 โรงพยาบาล รวม 2,039 เตียง มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดครอบคลุม รพศ. รพท. รวม 127 แห่ง และมีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน 754 แห่ง ขับเคลื่อนระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

ปี 2566 มีผู้ป่วยยาเสพติดสะสม 969,901 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย 381,631 ราย (39.35%) ส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) มีจำนวนผู้ที่คลุ้มคลั่งเพิ่มขึ้นทุกปี

งานสาธารณสุขที่เพิ่งผ่านครม.

ล่าสุด การประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2567 มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง 13 ผู้บริหารสธ.ใหม่แทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ เป็น 6 อธิบดี ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์  กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) , 4 รองปลัดสธ.  และ 2 ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.2567
นับเป็นการ “จัดทัพขุนศึกใหม่”ได้ในการประชุมครม.นัดสุดท้ายของครม.ชุดเก่า เท่ากับว่าผู้บริหารจากการแต่งตั้งชุดนี้ จะเข้ามาดำเนินงานในตำแหน่งใหม่ พร้อมๆกับการเข้ามาของ “รัฐมนตรี”คนใหม่เช่นกัน   

และก่อนหน้านี้ ได้รับทราบข้อเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปกําลังคน สธ.และภารกิจด้านบริการสาธารณสุขภาพรวมในระยะเวลา 10 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เพื่อเป็นการเร่งผลิต และพัฒนากําลังคนให้เพียงพอต่อการดูแลทางด้านสาธารณสุข โดยแผนผลิตกำลังคน สธ.เพิ่มใน 9 วิชาชีพรวมกว่า 2 แสนคน ประกอบด้วย  1.แพทย์ 2.ทันตแพทย์ 3.เภสัชกร 4.พยาบาล  5.นักกายภาพบำบัด 6.แพทย์แผนไทย อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร 7.นักรังสีเทคนิค

 8.นักสาธารณสุข  และ 9.นักเทคนิคการแพทย์ จะช่วยแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนได้อย่างเหมาะสม เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข และรองรับนโยบายสำคัญ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และนโยบาย Wellness & Medical Hub(เวลเนส &เมดิคัลฮับ)

สแกน“นโยบายสาธารณสุข”ที่ค้างเติ่ง หลัง 1 ปี รัฐบาล - 3 รัฐมนตรี

3(ร่าง)พ.ร.บ.สำคัญรอเข้าครม.

สำหรับนโยบายที่รอรัฐมนตรีใหม่เข้ามาสานต่อ เรื่องหนึ่งที่สำคัญที่มีความพยายามผลักดันมากว่า 10 ปี เพื่อที่จะเปลี่ยนการบริหารจัดการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นั่นคือ “การแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)” เพื่อให้สธ.สามารถบริหารจัดการตัวเอง โดยเฉพาะการกำหนดอัตราตำแหน่งและค่าตอบแทนได้สอดคล้องกับภาระงาน

ล่าสุดมีการยก(ร่าง)พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ....แล้วเสร็จ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น 90,348  เห็นด้วยกับการ มีพ.ร.บ.แยก สธ.ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)  91 % , เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.จะใช้บังคับกับข้าราชการทั้งสายงานวิชาชีพ และสายงานสนับสนุน 92.69 %,

เห็นด้วยองค์ประกอบของ กสธ.91.88 % และเห็นด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ เหมือนกับกฎหมายข้าราชการพลเรือน 93.96 % ขณะอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ก่อนเสนอรมว.สธ.และนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

สแกน“นโยบายสาธารณสุข”ที่ค้างเติ่ง หลัง 1 ปี รัฐบาล - 3 รัฐมนตรี

(ร่าง)พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่จะเป็นกำหนดคุณสมบัติอสม ,การให้อสม.ได้รับค่าป่วยการ และการจัดตั้งกองทุนอสม. เป็นต้น ซึ่งผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงและนำเข้าครม. ตามกรอบเวลาเดิมจะเป็นเดือนก.ย.2567

ทั้งนี้ ผลการประชาพิจารณ์ (Public Hearing)  ช่องทาง Google Form 346,834 ราย เห็นด้วย 307,122 ราย (88.55 %) ไม่เห็นด้วย 38,225 ราย (11.02%) อื่นๆ (ไม่แน่ใจ/เห็นด้วยบางข้อ) 1,487 ราย (0.43%) ช่องทางระบบกลางทางกฎหมาย 1,081 ราย ส่งตรงถึง รมว. 10 ราย ประเด็นสำคัญจากการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ในภาพรวมเห็นด้วย ข้อเสนอ คุณสมบัติพื้นฐาน ให้ตัดการกำหนดอายุการสิ้นสุดสภาพการเป็นอสม.เมื่ออายุ 70 ปี ออก
รวมถึง (ร่าง)พ.ร.บ.สุขภาพจิต(ฉบับที่....)พ.ศ.... สาระสำคัญ ขยายความหมาย อาการผิดปกติทางจิตให้ครอบคลุมสาเหตุจากสุรา ยาเสพติด ตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติมาฟื้นฟูรักษาผู้ป่วย ผู้เสนอข่าวเฟคนิวส์ทำให้ประชาชนหวั่นไหวถือเป็นความผิดได้โทษ โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว  98.69 % เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต (ฉบับที่…) พ.ศ… ไม่เห็นด้วย 1.31 % เห็นด้วยกับการจัดตั้ง “กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ” 97.99% รอนำเสนอต่อรมว.สธ.ก่อนเข้าครม.

ยุทธศาสตร์เมดิคัลฮับ 10 ปี

 “(ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2568 - 2577)” ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(บอร์ดเมดิคัลฮับ)แล้ว รอนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.

เป็นการกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(เมดิคัลฮับ) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก เกิดการขยายตัวมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร2.พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและ 3.ส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์

กัญชายังไร้ทิศทางชัดเจน

ในส่วนของ “นโยบายกัญชากัญชง” เพื่อการแพทย์ สุขภาพ เศรษฐกิจ  ที่ล่าสุด “เศรษฐา”ให้แนวทางไว้ว่า “ให้ใช้พ.ร.บ.ในการควบคุม” หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้นโยบายชัดเจนว่า “กัญชาคืนเป็นยาเสพติด” ทำให้ขณะนี้เกิดความไม่ชัดเจนในการ “สถานะกัญชากัญชง”ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใดระหว่างเป็นยาเสพติด กับไม่เป็นยาเสพติด

แม้การกำหนด “สถานะกัญชากัญชง”จะเลยขั้นตอนของสธ.ไปแล้ว เนื่องจากมีการนำเสนอ(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ....ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ(บอร์ดป.ป.ส.)แล้ว

แต่หากบอร์ดมีมติเห็นชอบให้ “กัญชากลับเป็นยาเสพติด” ก็จะต้องส่งมาให้รมว.สธ.เป็นผู้ลงนามในประกาศ  รวมถึง (ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชง มีฉบับที่เสนอโดยสธ.ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นช่วงครม.รักษาการ แต่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรมว.สาธารณสุข” ให้สัมภาษณ์ว่า ดูกฎหมายแล้ว งานสธ. รัฐมนตรีสามารถปฏิบัติงานได้ปกติจนถึงมีการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่หรือมีรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามา ในส่วนร่างพ.ร.บ.ต่างๆที่ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว หากนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. ก็สามารถมีมติได้

ต้องรอดูว่า “รัฐบาลใหม่”  รมว.สธ.ที่จะมาขับเคลื่อน “นโยบายสาธารณสุข”เป็นคนที่ 3 ของปี จะเป็นคนเดิมจากพรรคเดิม หรือคนใหม่จากพรรคเดิม หรือคนใหม่จากพรรคใหม่