ไอเดีย!เตรียมความพร้อม “วัยชะ-รา-ล่า กับคุณหมอหลานอาม่า”

ไอเดีย!เตรียมความพร้อม “วัยชะ-รา-ล่า กับคุณหมอหลานอาม่า”

“หมอเก่ง” เปรียบคนแต่ละเจน เสมือนสวมแว่นตาคนละสี เน้นการสื่อสารด้วยเหตุผล ระบุเตรียมพร้อมวางแผนดูแลผู้สูงอายุ ใช้ลูกรัก หลานรักชวนเช็กสุขภาพ รู้ก่อนป้องกันได้ ชี้ชัดอีก 5 ปี สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมสูงวัย เป็นสังคมอายุยืน ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน

KEY

POINTS

  • แต่ละคนมีแว่นตาเป็นของตัวเอง ประสบการณ์ในแต่ละเจนแตกต่างกันตามบริบท วัฒนธรรมในครอบครัว เศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ ฉะนั้น ต้องเคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกัน 
  • ดูแลผู้สูงอายุ หรือคนป่วย ต้องดูแลในทุกมิติร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ อยากให้ทุกคนแจ้งความประสงค์ หรือทำพินัยกรรมชีวิตของตัวเอง ว่าอยากให้เป็นอย่างไรหากเราอายุมากขึ้น
  • การเป็นผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ กระฉับกระเฉง มีอายุ 70-90 ปี ต้องเป็นคนกินดี นอนดี และออกกำลังกายดี  ถ้าเราวางแผนไว้อย่างดี ตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ เราน่าจะเป็นผู้สูงอายุที่มีต้นทุนที่ดี 

วันนี้ (30 ก.ย.2567) “Sustainability Expo 2024 (SX2024)” งานเอ็กซ์โปเพื่อความยั่งยืนที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากการผนึกกำลังของ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำ ได้แก่ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้, ปตท., เอสซีจี, ไทยเบฟเวอเรจ และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่  จัดตั้งแต่ 27 ก.ย.-6 ต.ค.2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ได้จัด SX TALK STAGE เสวนา “วางแผนวัยชะ-รา-ล่า กับคุณหมอหลานอาม่า” โดยมี  “นพ. เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ” ผู้อำนวยการ รพ.ผู้สูงอายุ Chersery Home International และนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุไทย (SHSTA)  พร้อมด้วย “ทศพล ทิพย์ทินกร (เป็ด)” ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า”

อีกหนึ่งเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองของหลานอาม่าในฐานะหมอ และผู้เขียนบทภาพยนตร์ที่นำเรื่องราวในชีวิตจริงมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบท รวมทั้งสอดแทรกความรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุและการวางแผนดูแลชีวิตจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ชีวิต – การทำงาน - ดูแลสุขภาพ ในแบบฉบับ “หมอเก่งพงศ์”

ถอดสูตร “นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ” ดันธุรกิจดูแล “Silver age” มาตรฐานสากล

คนแต่ละเจน  เหมือนสวมแว่นตาคนละสี

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวว่า การตั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery Home International จุดเริ่มต้นมาจากอาม่าของตนที่เป็นเสมือนอาม่า 5 แผ่นดิน  เพราะอาม่ามาจากเมืองจีนตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบันที่มีลูกหลานหลายคน และส่วนหนึ่งก็เป็นหมอ แต่ตอนอาม่าไม่สบาย เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารก็ไม่มีใครรู้ จนกระทั่งต้องไปพบหมอ เนื่องจากอาการต่างๆ อาม่าไม่เล่าให้ใครฟัง และตอนนั้นพออาม่าป่วย ในครอบครัวก็ตกลงกันว่าใครจะเป็นคนดูแลหลัก ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกครอบครัวพบเจอ ซึ่งตอนนั้นมองว่าถ้าหมอสามารถทำโรงพยาบาลผู้สูงอายุที่ดีจะเกิดความยั่งยืนและช่วยพลิกวงการสาธารณสุขได้

"การเข้าใจผู้สูงอายุ ต้องมองว่าเขาใส่แว่นตาสีอะไร รุ่นอาม่าเรา เขาเป็นเจนเบบี้บูมเมอร์(Baby Boomer)เขาเกิดในสมัยสงครามโลก ทุกอย่างที่เขาเกิดมาต้องต่อสู้ ดิ้นรน ต้องใช้เงิน  อาม่าผมถ่ายอุจจาระเป็นเลือดนานจนร่างกายไม่ไหว และเขาไม่บอกใคร จนไปตรวจและพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งพอถามอาม่า ว่าทำไมไม่บอกลูกหลาย เขาไม่อยากให้ลูกหลานต้องกังวลกับเขา เขาไม่อยากจะให้ลูกต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลมาก"นพ.เก่งพงศ์ กล่าว

แต่ละคนมีแว่นตาเป็นของตัวเอง ประสบการณ์ในแต่ละเจนแตกต่างกันตามบริบท วัฒนธรรมในครอบครัว เศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ ฉะนั้น ต้องเคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกัน  อย่าง วัฒนธรรมครอบครัวหมอ จะเป็นวัฒนธรรมจีน อาม่ามีความเป็นแม่เสือมาก การชมลูกเป็นเรื่องยากมากเพราะกลัวลูกหลานจะเหลิง การเข้าใจผู้สูงวัยจะต้องรู้จักวิธีการสื่อสาร เพราะผู้สูงอายุอาจจะมีความคิดแบบหนึ่ง ลูกหลานมีความคิดแบบนั้น แต่ละเจนเติบโตมาคนละแบบเหมือนใส่แว่นตาคนละสี  

ดูแลสูงวัยครบทั้งมิติร่างกาย จิตใจและความสัมพันธ์

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวต่อไปว่าการดูแลคน 1 คน ต้องดูแลในทุกมิติ และไม่ใช่มองเพียงคนๆ นั้น แต่ต้องดูทั้งร่ายกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ หลายๆ ครั้ง คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เขาจะฟังและเชื่อคนที่เป็นลูกรัก หลานรัก การจะให้พวกเขาไปตรวจสุขภาพ อาจจะต้องเลือกคนที่เข้าไปสื่อสาร รวมถึงวิธีการด้วยซึ่งการโกหกนั้นอาจจะดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวคงไม่ดี ฉะนั้น  ควรเล่าให้ท่านฟัง และให้ท่านได้ตัดสินใจ พูดด้วยเหตุและผลว่าทำไมเราต้องพาท่านไปตรวจร่างกาย หรือต้องเตรียมพร้อมในการดูแลตัวเอง

"อยากให้ทุกคนแจ้งความประสงค์ หรือทำพินัยกรรมชีวิตของตัวเอง ว่าเราอยากให้เป็นอย่างไรหากเราอายุมากขึ้น และอยากให้ทุกคนให้กำลังใจซึ่งกันและกันตามแว่นตาที่เราสวมใส่อยู่ เพราะจริงๆ แล้ว ผู้สูงอายุ ไม่ใช่เขาไม่เชื่อฟัง แต่เขามักจะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เล่าให้เขาฟังว่าหากตรวจร่างกายและรู้ว่าเป็นโรคอะไร ก็จะป้องกันและรักษาได้ เนื่องจากเทคโนโลยี การรักษาในโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ตับ ลำไส้ ถ้ารู้ในระยะต้นๆ สามารถรักษาหายขาดได้" นพ.เก่งพงศ์ กล่าว

รวมถึงการปรับเปลี่ยนสุขภาพ การกิน การสูบบุหรี่ หรือการเลิกเหล้า ต้องให้เกิดการสื่อสารที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ  "อาม่าหมอเก่ง" จะมีกระเป๋าอยู่ใบหนึ่งที่เขาวางไว้อยู่บนหัวเตียงสม่ำเสมอ ซึ่งในนั้นมีชุดกี่เพ้า รูปถ่าย ที่แกเตรียมไว้เพื่อใช้ในงานศพของตัวเอง ท่านเตรียมพร้อมมาตั้งแต่อายุ 70 ปี และเปลี่ยนมา 3 เวอร์ชั่น เพราะท่านเสียชีวิตหลังจากอายุ 100 กว่าบาท 

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวอีกว่าทุกครั้งที่อาม่าตื่นขึ้นมา ท่านจะมองว่านั่นคือโบนัสของชีวิตและท่านสั่งไว้เสมอว่า หากท่านเป็นอะไรขอให้ตายอย่างปกติ ไม่ต้องพยายามช่วยชีวิตของท่าน ให้เจ็บป่วย และขอให้ทุกคนก้าวข้ามความยากลำบาก  อยากให้ทุกมองว่า ความตายเป็นเรื่องวัฎจักรหนึ่งของชีวิต การตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน

"สังคมผู้สูงวัย อีก 5 ปี จะกลายเป็นสังคมอายุยืน เด็กรุ่นลูกรุ่นหลายเรา จะอายุเฉลี่ยที่ 99 ปี ดังนั้น การวางแผนเตรียมความพร้อมวัยชรา จะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ทำอย่างไรให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ  มีสุขภาพที่ดี มีการพัฒนาการที่ดี ได้รับวัคซีนครบ และได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ดี การออกกำลังกายที่ดี ไม่เป็นโรค NCDs เรื่องเหล่านี้ต้องเริ่มในระดับนโยบาย ขณะเดียวกัน ควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุตรวจสุขภาพเป็นประจำ และรณรงค์ให้ได้รับ 5 วัคซีนหลัก ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 วัคซีนงูสวัด วัคซีนปอดบวม  และวัคซีนคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก" นพ.เก่งพงศ์ กล่าว

เตรียมพร้อมเกษียณ ผสมผสานทักษะที่มีสร้างอาชีพใหม่

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวด้วยว่าตอนนี้เจนที่น่ากังวลมากสุด คือ คนเจน Y เพราะเขาเป็นเหมือนแซนวิชที่ต้องดูแลเด็กเล็ก  พ่อแม่ และผู้สูงวัยในบ้าน  เป็นวัยที่ต้องใช้ทุกอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งในอนาคต การเกษียณอายุ อาจจะไม่ได้เป็น 60 ปีเหมือนในปัจจุบัน อายุ 60 ปี อาจจะเป็นเพียงวัยกลางคน และการเกษียณอายุคงไม่ใช่การอยู่บ้านแล้วไม่มีอะไรทำ ไม่มีกิจกรรม เพราะหากเป็นอย่างนั้นจะเสี่ยงอัลไซเมอร์ก่อนวัน 30% และไม่ควรจะมีอาชีพเดียว

"ตอนเราวัยทำงาน เราอาจจะเป็นผู้บริหาร ผู้ประกอบการ มีทักษะการพูด การเขียน  หรือทักษะอะไรก็ตาม เราต้องพัฒนาทักษะที่มี ผสมผสานทักษะเข้าด้วยกัน และสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ตัวเราเองในอนาคต อย่าง หมออนาคตอาจจะไม่ได้เป็นหมอ แต่ไปทำอาชีพอื่นๆ ดังนั้น ทุกคนอาจต้องรีไทร์จากอาชีพเดิมและไปสร้างอาชีพใหม่ตามสิ่งที่ตนเอง ถนัด และรัก ต้องหาอาชีพนั้นให้เจอ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและเป็นอาชีพได้นั้น จะทำให้มีความสุข และควรทำพินัยกรรมชีวิต ว่าเราอยากมีชีวิตอย่างไร ซึ่งพินัยกรรมชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเรา" นพ.เก่งพงศ์ กล่าว

การดูแลผู้สูงอายุ เป็นงานกลุ่ม

"ทศพล" กล่าวว่า ตอนเด็กๆ บ้านตน กับบ้านอาม่าจะอยู่คนละซอยแต่แม่ของตนจะต้องไปช่วยอาม่าขายโจ๊ก เราก็ได้เจออาม่าตลอด แต่เมื่อเราโตขึ้นเราก็ไม่ได้ไปเจออาม่า จนกระทั่งเรียนจบ อาม่าไปหาหมอและพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ ซึ่งอาม่ามีลูก 3 คนก็มาตัดสินใจร่วมกันว่าใครจะดูแลอาม่า และแม่ของตนก็รับดูแลอาม่า ตอนนั้น อาม่าก็เริ่มเล่าเรื่องราวสมัยเด็กให้ฟัง เป็นเรื่องราวความทรงจำที่ตนนำมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์หลานอาม่า  

"ปัญหาระหว่างการสื่อสารในครอบครัวที่มี 3 เจน เข้าด้วยกัน ปัญหาแรกคือ คนจีนจะรักแต่ไม่แสดงออก ไม่บอกรัก ไม่พูดตรงๆ อย่าง อาม่า เขาปวดท้องมาหลายปี แต่เขาไม่บอกใคร ผมมองว่าเขากลัวลูกหลานจะลำบาก กลัวจะเป็นภาระ เขาก็ไปซื้อยาชุดกินไปเรื่อยๆ  หรือพ่อแม่ของผมเอง เวลาเจอปัญหา เขาก็ไม่บอกลูก เขามองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทั้งที่เป็นครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้น การที่ครอบครัวเดียวกัน แต่ไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัวเรา ครอบครัวเดียวกันจึงควรพูดความจริง และควรจะบอกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ" ทศพล กล่าว

 

ทศพล กล่าวต่อว่า การดูแลไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือคนเจ็บป่วย ไม่มีใครเคยเรียนมาจากหนังสือว่าจะต้องทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องปรับตัว หาจุดบาลานซ์ร่วมกัน ต้องอธิบายให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ที่สำคัญ การดูแลผู้สูงอายุ คนป่วย เหมือนเป็นงานกลุ่ม ที่ทุกคนต้องร่วมกัน และเราควรพูดความจริง ให้เขาตัดสินใจ

"การสื่อสารในครอบครัว เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เช่น การตรวจสุขภาพของพ่อแม่ หลายคนพารถไปตรวจเช็กสุขภาพได้ แต่เมื่อไปตรวจร่างกายกลับไม่ไป  ผมต้องอธิบายให้พ่อแม่ฟังว่าการไปตรวจสุขภาพดีอย่างไร การเช็กอัปร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเป็นผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ กระฉับกระเฉง มีอายุ 70-90 ปี ต้องเป็นคนกินดี นอนดี และออกกำลังกายดี  ถ้าเราวางแผนการกินที่ดี นอนตรงเวลา นอนอย่างเพียงพอ และออกกำลังกาย เราน่าจะเป็นผู้สูงอายุที่มีต้นทุนที่ดี ลูกหลานอาจจะต้องไม่เหนื่อยในการดูแลเรามาก" ทศพล กล่าว