ช่องโหว่ 'สถานที่กักกัน' ควบคุมโควิด-19
บทเรียนกรณีทหารอียิปต์ออกจาก “สถานที่กักกันควบคุมโรค”ในพื้นที่จ.ระยอง ไปยังห้างสรรพสินค้า และปรากฏภายหลังว่าทหาร 1 รายติดเชื้อโรคโควิด-19 สร้างความตระหนกให้กับคนไทยมากว่าจะทำให้เกิดโรคแพร่ระบาดระลอกใหม่ และหวั่นจะซ้ำรอยเมื่อทหารอเมริกันเดินทางเข้ามา
พักสถานที่กักกันทางเลือกพื้นที่กทม. ยิ่งในอนาคตจะมีการเปิดสถานที่กักกันที่ดำเนินการโดยองค์กร รองรับกลุ่มแรงงาน!!
ปัจจุบันประเทศไทยดำเนินการจัดให้มีสถานที่กักกันเพื่อควบคุมโรค ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ใน 7 ประเภท ประกอบด้วย 1.State Quarantine(SQ) สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (รัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่าย) 2.Alternative State Quarantine(ASQ) สถานที่กักกันทางเลือก (ผู้ถูกกักกันจ่ายเอง ) 3.Local Quarantine(LQ) สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในพื้นที่ระดับจังหวัด (รัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่าย) 4. Alternative Local Quarantine(ALQ) สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ระดับจังหวัดผู้ถูกกักกันจ่ายเอง )
5.Organizational Quarantine(OQ) สถานที่กักกันที่ดำเนินการโยองค์กรหรือภาครัฐและเอกชน (องค์กรหรือหน่วยงานรับผิดชอบค่าใช้จ่าย) 6.Hospital Quarantine(HQ) สถานที่กักกันโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเข้ารับการรักษาพยาบาลตามนัดไว้ล่วงหน้า โดยใช้สถานพยาบาลที่รัฐกำหนด (ตามสิทธิ์รักษาพยาบาล และจ่ายส่วนเกินด้วยตนเอง) และ7. Alternative Hospital Quarantine(AHQ) สถานที่กักกันโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเข้ารับการรักษาพยาบาลตามนัดไว้ล่วงหน้า (ส่วนใหญ่เป็นการรองรับชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษา)
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่กักกันประเภทใด จะต้องผ่านการประเมินตามเกณฑ์การป้องกันและควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อาทิ มีระบบท่อระบายน้ำทิ้งและสุขาภิบาลไม่รั่วซึม มีระบบการจัดการขยะติดเชื้อ มีระบบการบำบัดน้ำเสีย มีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และมีแนวทางสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากชุมชนโดยรอบ เป็นต้น จึงจะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานประกอบการธุรกิจโรงแรม
ฉะนั้น ในแง่ของโครงสร้างหรือสภาพแวดล้อมของสถานที่กักกัน จึงไม่น่าห่วงที่จะทำให้เชื้อหลุดรอดออกมาสู่ชุมชน
แต่สิ่งที่จะเป็นจุดพลิกเกิดเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงที่โรคจะแพร่ระบาด คือ “คน” ทั้งผู้ถูกกักกันที่ฝ่าฝืนข้อปฏิบัติ โดยเฉพาะการออกนอกพื้นที่ ถึงแม้จะมีการให้โหลดแอพพลิเคชั่นติดตามตัวก่อนเข้ากักกันก็ตาม รวมถึง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลหละหลวม!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนาคตอันใกล้ เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) มีการผ่อนปรนระยะ 6 ให้ 4 กลุ่มต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้ หนึ่งในนั้นเป็น “แรงงานต่างด้าว” 3 สัญชาติ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานมีข้อมูลแรงงานที่จะเดินทางเข้าราว 1.1 แสนคน แบ่งเป็น ผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่าอยู่แล้ว ราว 6.9 หมื่นคน และผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ราว 4.2 หมื่นคน
ในกระบวนการกักกัน จะมีการอนุญาตให้เข้ารับการกักกันในสถานที่กักกันที่ดำเนินการโดยองค์กร หน่วยงานหรือสถานประกอบการที่เป็นผู้นำแรงงานเข้ามา เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ โดยต้องยื่นขออนุญาตและรับการประเมินสถานที่จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
และตามแนวทางการดำเนินการสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กรนี้ มีการกำหนดในกรณีที่มีห้องพักจำนวนจำกัด ไม่สามารถแยกกักกันห้องละ 1 คน สามารถจัดให้ผู้ถูกกักกันเข้าพักได้ไม่เกิน 10 คนต่อห้อง แต่ต้องจัดเตียงนอนให้ห่างกันไม่น้อยกว่า 1.5-2 เมตร ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อระหว่างผู้เข้ากักกันได้ “จะถือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานหรือองค์กรโดยตรง”
แม้จะมีการกำหนดให้กลุ่มนี้ต้องเข้ารับการกักกันทันที ณ พื้นที่ตั้งของด่านที่เดินทางเข้าประเทศ จนครบ 14 วัน แต่จุดนี้ถือเป็นหนึ่งใน 3 เหตุการณ์ที่ทีมวิชาการโควิด-19ของกระทรวงสาธารณสุข มีการประเมินว่าจะทำให้เกิดการระบาดระลอก 2 ขึ้นในประเทศไทย
นั่นหมายความว่า การดำเนินการในสถานที่กักกันโดยหน่วยงานนั้นๆ จะต้องมั่นใจว่าดูแลแรงงานได้แบบ “เอาอยู่” ไม่มีช่องโหว่สุ่มเสี่ยงจะมีการฝ่าฝืนออกมาใช้ชีวิตนอกสถานที่ก่อนครบกำหนด ต้องเข้มงวดมากเพียงพอ
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เชื่อว่าผู้ประกอบการณ์ที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเข้าใจสถานการณ์ของโรค คงจะไม่มีบริษัทไหนต้องการที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนเอาเชื้อเข้ามาในประเทศ หรือพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของด่านบกต่างๆ ก็คงไม่ต้องการให้เกิดโรคแพร่ระบาดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ แต่ละพื้นที่เองก็จะต้องเตรียมพร้อมกรณีหากมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ขึ้นด้วย