หาบ้านให้ "ขยะจากกาแฟ" วิธีการจัดการแบบยั่งยืน
ยิ่งร้านกาแฟมีมากขึ้น “ขยะจากกาแฟ” ก็มีมากขึ้นเพิ่มขึ้นตามมา แล้วเราจะมีวิธีจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
‘กาแฟ’ เป็นเครื่องดื่มโลกที่มีอายุยาวนาน หลายคนต้องดื่มทุกวัน บางคนดื่มวันละหลายแก้ว ถ้าไม่ดื่มจะไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน บางคนมีความสุขที่ได้ปรุงกาแฟดื่มเอง ปริมาณร้านกาแฟที่มีมากขึ้น ทำให้ขยะจากกาแฟเพิ่มมากขึ้นตามมา วิธีการจัดการที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
- เริ่มที่ตัวเรา
“เรามีโครงการความยั่งยืนเพื่อจัดการขยะ ทำมา 4-5 ปีแล้ว ถ้าคิดอะไรไม่ออก อันดับแรกให้แยก ขยะอินทรีย์ (ของกิน, น้ำ, อาหาร) ออกจากขยะประเภทอื่นก่อน ที่เหลือก็จะเป็นขยะค่อนข้างสะอาด จะจัดการได้ง่ายขึ้น”
วรุณ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste กล่าวในงาน Thailand Coffee Fest 2020 : Coffee Wisdom ที่เขามีส่วนร่วมในการจัดการขยะในงานนี้เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ณ IMPACT เมืองทองธานี
“ขยะ ถ้าเราไม่แยก มันก็จะรวมกันหมด กลายเป็น ขยะฝังกลบ เป็นระเบิดเวลาให้กับคนรุ่นถัดไป และมีโอกาสหลุดไปในทะเล ไปทำร้ายสัตว์ต่างๆ เช่น ปลากินถุงพลาสติกเข้าไป เต่าที่มีหลอดเสียบอยู่ในจมูก
แต่ถ้าแยกขยะไปเรื่อยๆ ขยะจะมีปลายทางที่สร้างคุณค่า เป็นพลังงานทดแทนได้ รีไซเคิลได้ เอาไปทำอาหารสัตว์ได้ ไม่ไปทำร้ายสัตว์ ไม่เป็นภาระต่อโลก ถ้าเราพกแก้วส่วนตัวได้ ลดการใช้พลาสติก ดีที่สุดเลยครับ ไม่มีขยะ ไม่ต้องแยก ไม่ต้องทิ้ง ชีวิตง่าย”
ธุรกิจกาแฟที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ละครั้งที่ซื้อกาแฟหนึ่งแก้ว จะเกิดขยะทั้งหมด 4 ชิ้นคือ แก้วกาแฟ, หลอด, ฝา, ถุงหูหิ้ว ทั้งหมดนี้เป็นขยะคนละชนิดกัน
“พลาสติกมีอายุ 400-500 ปี ตายไป 6-8 ชาติแล้วพลาสติกก็ยังอยู่ ถ้าโฟมก็ 1,000 ปี ปัญหาขยะพลาสติกเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายดีที่สุดในโลก ถ้าจะแยกขยะ
ต้องแยกกาแฟ, น้ำ ออกไปก่อน เพราะกระบวนการรีไซเคิลจะทำได้ต้องเหลือวัสดุเดียว พลาสติกคนละชนิดกันรีไซเคิลยากมาก ต้องส่งไปเผาเป็นพลังงานทดแทน ดีกว่าฝังกลบอยู่ในธรรมชาติ”
- ต้นทางที่ร้านกาแฟ
ร้านกาแฟ ต้นทางของการเกิดขยะ สามารถช่วยจัดการได้ ด้วยการให้ "ส่วนลด" กับผู้ที่เอาแก้วมาเอง หรือ "จำหน่ายแก้ว" เพื่อให้ลูกค้าใช้ซ้ำ ไม่ทำให้เกิดขยะ
“การจัดการขยะ ใช้หลัก 3 R คือ Reduce ลดการใช้, Reuse ใช้ซ้ำ และ Recycle ก่อนอื่นร้านกาแฟต้องเช็คก่อนว่า แถวนั้น ร้านรับซื้อของเก่า ร้านรีไซเคิล หรือซาเล้ง รับซื้อพลาสติกแบบไหน
แต่ละเขต แต่ละจังหวัด ไม่เหมือนกัน จากนั้นเราก็เลือกใช้พลาสติกชนิดนั้น ส่วนในร้าน ถ้าแยกเศษอาหาร แยกแก้ว ออกมาได้จะจัดการได้ง่ายขึ้น
เท่าที่เห็นในบ้านเราพลาสติกจะมีอยู่ 5 ชนิด PETE ขวดน้ำดื่ม, HDPE ขวดแชมพู, PP ขวดยา ฝาขวด, PS ถ้วย จาน กล่อง CD, LDPE ถุงใส่ของ แล้วก็ประเภทย่อยสลายได้ อันนี้ไม่แนะนำ เพราะประเทศไทยยังไม่มีระบบจัดการ
มันจะแตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนในธรรมชาติได้เร็วกว่าเดิม ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้หลอดกระดาษ หรือหลอดใช้ซ้ำ ถุงหูหิ้วควรลดการใช้ให้มากที่สุด ใช้ถุงกระดาษหรือวัสดุธรรมชาติแทน” วรุณ เล่าและยกตัวอย่างการแยกขยะในญี่ปุ่น พวกเขาแยกขยะได้ดีมาก โดยมีกฎว่า ทิ้งเยอะ จ่ายเยอะ
“ถ้ามีขยะถังใหญ่ 10 กิโล ก็ต้องจ่าย 10 กิโล คนญี่ปุ่นไม่สร้างขยะเยอะ ถ้าขยะแบบไหน ทิ้งแล้วรีไซเคิลไม่ได้ ต้องจ่ายแพงกว่าขยะที่รีไซเคิลได้ เช่น แก้วกาแฟ, หลอด, ฝา รีไซเคิลไม่ได้ ต้องแยกถุง ถ้าทิ้งผิดถุงจะมีคนมาจัดการทันที ดังนั้นต้องคิดตั้งแต่ซื้อของ เพราะต้องจ่ายค่าทิ้งขยะด้วย
คนญี่ปุ่นจึงเป็นคนที่คิดก่อนซื้อ หรือซื้ออะไรแล้วต้องไม่มีขยะ ไม่อย่างนั้นเสียเงินค่าขยะ เด็กของเขาจึงลดขยะ ใช้ซ้ำ ใช้น้อย มีอะไรก็เอาจากบ้าน เอาของเก่าไปใช้ ซึ่งคนไทยยังไม่มีตรงนี้เลย”
- คิดก่อนใช้
มีคนเคยคิดคำนวณ แล้วได้คำตอบว่า มนุษย์ใช้ทรัพยากรในโลกมากกว่าที่โลกมี ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ การแยกขยะ เพื่อนำกลับมาใช้อีก ลดการใช้ทรัพยากรใหม่
“การแยกขยะ เป็นหลักการหนึ่งของ Circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) ในอนาคตเราจะได้ยินศัพท์คำนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทรัพยากรของโลกใกล้หมดแล้ว เมื่อถึงรุ่นลูกแก่แล้ว พวกเขาจะรับกรรม ส่วนรุ่นหลานจะรับกรรมหนักขึ้น ทั้งสภาพอากาศ อาหาร ทรัพยากร
ในอนาคต ทุกคนอาจจะต้องกินแมลง เพราะเกิดโรคระบาดเยอะขึ้น ทำให้สัตว์ต่างๆ ไม่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คำนวณไว้ ซึ่งคนที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้คือคนรุ่นปัจจุบัน ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ ลดขยะ ลดการใช้พลาสติก แยกขยะนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการใช้ครั้งเดียวทิ้ง มันน่าเสียดายมาก ใช้เพียงแค่ 1 ชั่วโมง แต่มันอยู่ในโลกไปอีก 400-500 ปี” วรุณ เล่า
ถ้าอย่างนั้นมาแยกขยะให้ถูกวิธี ในงานดังกล่าวมีการสาธิตการแยกออกเป็น 6 ประเภท จุดแรก.ทิ้งน้ำ,น้ำแข็ง จุดที่สอง เอาหลอดออกมาวาง จุดที่สาม เอาแก้วคว่ำไว้ให้น้ำไหลออกให้หมด ไม่เป็นอาหารให้แมลงสาบ ง่ายต่อการจัดการ แก้วกระดาษที่เห็นจะเป็นกระดาษ 80 เปอร์เซ็นต์ และเคลือบพลาสติกบางๆ ไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าส่งไปรีไซเคิล จะมีพลาสติกติดไปด้วยซึ่งไม่ดีนัก
ส่วนการแยกทิ้งให้ถูกถังก็สำคัญ อาทิ ถังสีเหลือง ใช้ทิ้งขยะรีไซเคิล จำพวกขวด, pet, กระป๋อง, แก้ว, โลหะ, กระดาษ มีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยที่ีรีไซเคิลได้ ถังสีดำ เป็นขยะที่จะเอาไปเผาเป็นพลังงานทดแทน ,ถังสีแดง ขยะจำพวกกระดาษทิชชู, ซองฟอยล์ ส่งไปฝังกลบ ถังหน้ากากอนามัย ก็ส่งไปฝังกลบเหมือนกัน ขยะเศษอาหารส่งไปทำปุ๋ย