‘อนุรักษ์’ วิศวกรที่หันมาทำไร่ ’อินทผลัม’ในยุคที่ไม่มีใครปลูก

‘อนุรักษ์’ วิศวกรที่หันมาทำไร่ ’อินทผลัม’ในยุคที่ไม่มีใครปลูก

ไม่ได้เริ่มจากความฝัน แต่มีพื้นฐานเป็นลูกชาวไร่ชาวนา มีโอกาสเรียนหนังสือ ทำงานเป็นวิศวกร ในบริษัท กระทั่งผันตัวมาปลูกไม้ผล 'อินทผลัม' และ'ทับทิมอินเดีย'ในยุคที่ไม่มีคนทำ เพราะมองเห็นโอกาส

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่เมืองไทยยังไม่มีใครปลูก อินทผลัม เชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ อนุรักษ์ บุญลือ วิศวกรเครื่องกล บริษัท พรพรหมเม็ททอล จำกัด (มหาชน) มองเห็นโอกาสบางอย่าง

เขาใช้เวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ ศึกษาและทดลองปลูก และเมื่อเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูง เขาจึงลาออกจากงานประจำ มาทำการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมเต็มตัว

“ผมเป็นลูกชาวนา ทำนาทำไร่ ตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบก็ตามพ่อไปช่วยใส่ปุ๋ยต้นไม้ แม่ก็สอนว่าให้เรียนสูงๆ จะได้ไม่ต้องมาทำนาลำบากและเหนื่อย ผมก็ตั้งคำถามว่า มันเหนื่อยจริงๆ หรือ”

ระหว่างการเป็นพนักงานบริษัทใส่สูท ผูกไท เท่ๆ มีเงินเดือน กับทำการเกษตร มีที่ดินและอุปกรณ์มากมาย เขามองต่างจากคนทั่วไป เชื่อว่า เกษตรคือความมั่นคงของชีวิต

161173108690

ต้นอินทผลัมในไร่

“ผมมองว่าทุกธุรกิจสู้ธุรกิจอาหารไม่ได้ ผมสนใจเรื่องเกษตรอุตสาหกรรม ไม่ว่าคนจะรวยหรือจน ก็ต้องกินอาหาร ต่อให้สภาพเศรษฐกิจเป็นยังไง ธุรกิจอาหารก็ไปต่อได้"

อาศัยว่าเคยเป็นนักออกแบบเครื่องจักรอุตสาหกรรม ทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ในบริษัทมานาน จึงมีวิธีคิดเป็นระบบ

“ตอนทำงานประจำ ผมก็มองหาว่า ถ้าจะปลูกพืชตัวไหน ปลูกแล้วต้องทำให้ผมดังเร็ว และประสบความสำเร็จ ต้องปลูกพืชที่ไม่เหมือนใคร ลงทุนครั้งเดียว ไม่เป็นพืชล้มลุก จะได้มีเวลาทำการตลาด ไม่ใช่ปลูกแล้วปีหน้าปลูกซ้ำเหมือนพืชไร่ทั่วไป แบบนั้นผมไม่เอา“

อนุรักษ์เลือกปลูกพืชที่มีคนอื่นไม่ปลูก ก็คือ อินทผลัม พันธุ์จากตะวันออกกลาง และทับทิมอินเดีย บนพื้นที่ 60 ไร่ จังหวัดกาญจนบุรี และที่ดินในจังหวัดเชียงราย 40 ไร่ กำลังจะปลูกบลูเบอร์รี่ และอินทผลัม ฯลฯ

161173105867

“อากาศบ้านเรากับอาหรับคล้ายๆ กัน อุณหภูมิหน้าร้อนที่จังหวัดกาญจนบุรี 40 กว่าองศา น่าจะปลูกอินทผลัมได้ ผมก็ลองผิดลองถูก 10 ปีที่แล้ว ยังไม่มีคนทำสวนทับทิมเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย ผมก็ลองทำ ส่วนเรื่องทับทิม ตอนนั้นผมเช็คที่กรมศุลกากร พบว่า มีการนำเข้าทับทิมปีละกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่มีผลผลิตในเมืองไทย มีแค่ปลูกตามบ้านเล็กๆ น้อยๆ "

เมื่อลองผิดลองถูก จนถึงจุดหนึ่ง รายได้ที่ทำการเกษตรพอๆ กับเงินเดือนประจำ ทำให้เขามั่นใจว่า ทำการเกษตรรายได้ไม่ธรรมดาแน่ เขาก็เลยลาออกจากงานประจำเพื่อปลูกอินทผลัม ซึ่งตอนแรกคนละแวกนั้นไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้ ส่วนใหญ่ มองว่าไม่มีทางเป็นไปได้

“ตอนนั้นพวกเขามองว่า ผมเพ้อเจ้อ เรียนมาสูงๆ มาทำแบบนี้ แต่ผมมองเห็นโอกาส พวกเขานินทาเราเหมือนไฟลามทุ่ง ทั้งหมู่บ้านมองมาที่ผม ผมจึงต้องทำให้สำเร็จ เพราะตอนนั้นไม่เคยมีคนเห็นอินทผลัมสด ส่วนใหญ่นำเข้า”

ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านการออกแบบเครื่องจักร และความเข้าใจเรื่องการตลาด เมื่อ อนุรักษ์ ห้ันมาทำการเกษตร เขาไม่ได้แค่ศึกษาข้อมูลทางการเกษตร ยังมองโอกาสการทำตลาดในต่างประเทศ และการแปรรูปอินทผลัม เมื่อมีผลผลิตเยอะขึ้น จึงตั้งบริษัทอินทผลัมภาคตะวันตก - Western Date Palm Group (WDP) ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ทำโรงงานแปรรูปผลไม้ ซึ่งเขาออกแบบเครื่องจักรเอง

161173101896

(ทับทิมอินเดีย)

“รู้ไหม ส่วนใหญ่ตลาดผู้บริโภคอินทผลัมอยู่ในอาเซียน เพราะมีมุสลิมมากที่สุด มุสลิมกับอินทผลัมเป็นเรื่องเดียวกัน มาเลเซียเป็นประเทศที่นำเข้าอินทผลัมอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในมาเลเซียและอินโดนีเซียไม่ได้ปลูกอินทผลัม”

สิบปีที่แล้ว อินทผลัมไม่เคยมีคนนำมาปลูกในเมืองไทย เพราะไม่เชื่อว่าจะปลูกได้ อนุรักษ์ บอกว่า ถ้าปลูกแบบบ้าน ๆ ก็เพาะเมล็ด แต่กลายพันธุ์ แรกๆ เขาก็ใช้วิธีนั้น

"ตอนแรกๆ ที่ปลูกอินทผลัม ผมก็เพาะเมล็ด จากนั้นผมไปถามเพื่อนชาวอิสราเอล พยายามรวบรวมองค์ความรู้มาทำเอง สุดท้ายอินทผลัมเชิงพาณิชย์จะเพาะเมล็ดไม่ได้ ต้องโคลนนิ่งจากต้นแม่พันธุ์ที่ดี" 

กว่าจะปลูกอินทผลัมให้ออกผลได้ เขาใช้ความพยายามและความเพียรในการหาความรู้ ลองผิดลองถูกอยู่นาน จนปัจจุบันไร่ประเสริฐสุข อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ของเขา กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกอินทผลัมสายพันธุ์แถบตะวันออกกลาง จากที่เคยปลูกในทะเลทราย 4 ปีได้ผลผลิต มาปลูกในประเทศไทยใช้เวลา 2 ปีได้ผลผลิต

“ตอนนี้มีคนมาหาผมเยอะมาก โดยเฉพาะผู้ว่าราชการหรือนายอำเภอใกล้เกษียณ และเกษตรกร บอกว่าอยากทำเกษตร ผมก็ถามว่า ทำไมไม่ทำตอนอายุ 30-40 ปี และผมบอกว่า ทุกการเริ่มต้นจะต้องล้มเหลวก่อน ถ้าไม่ล้มเหลวไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคุณอายุเยอะแล้ว ถ้าล้มเหลว คุณจะมีแรง มีทรัพยากร มีเงิน และสุขภาพไปต่ออย่างไร

ผมเองก็เคยล้มเหลว ก่อนอายุ 30 ผมเป็นนักออกแบบเครื่องจักร ตอนนั้นทำเงินได้เยอะ แค่เซ็นต์แบบก็ได้เงินแล้ว ตอนนั้นคิดว่า เราสุดยอดแล้ว จึงไปลงทุนกับเพื่อน แรกๆ ก็ดีได้เงินเยอะ ทำไปทำมารู้ว่าเราโง่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องภาษี การตลาด เราเก่งเรื่องเดียวด้านการออกแบบเครื่องจักร ผมก็เลยล้ม ที่คิดว่าผมฉลาดแล้ว ไม่ได้ฉลาดหรอก

เมื่อมีเกษตรกรมาเรียนรู้กับผม ถ้าจะทำเรื่องนี้ต้องทำมาตรฐานเดียวกัน ใช้แบรนด์เดียวกัน ไม่ต้องแข่งกัน เราต้องการปริมาณเยอะๆ เพื่อคุมตลาด เกษตรกรครอบครัวหนึ่งปลูกได้ประมาณ 5-10 ไร่ ถ้ามากกว่านั้นมีปัญหา บางคนมีทุนเยอะไปทำ 100 ไร่ควบคุมปริมาณและคุณภาพไม่ได้ เพราะผลผลิตออกพร้อมกัน"

161173375627

ส่วนทับทิมที่เขาปลูก สายพันธุ์มาจากอินเดีย อนุรักษ์ บอกว่า ทับทิมที่ขายส่วนใหญ่มาจากอียิปต์ สเปน จีน และอินเดีย ผมเคยเอาพันธุ์ทางอิสราเอลและสเปนมาปลูกแต่ไม่มีลูก จึงได้รู้ว่า อากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียนกับอากาศร้อนชื้นในบ้านเราต่างกัน ก็เลยไปเอาทับทิมอินเดียที่มีสภาพอากาศคล้ายกับไทยมาปลูก

เนื่องจากอินเดียปลูกทับทิมเชิงพาณิชย์ในระดับโลก พัฒนามานาน ผมเลือกทับทิมหนึ่งในห้าสายพันธุ์ดีที่สุดมาปลูก ปลูกแล้วก็ยังดีไม่เท่าอินเดีย ต้องเรียนรู้เทคนิคอีกเยอะ ในต่างประเทศ อินทผลัมกับทับทิม ถือเป็นสุดยอดผลไม้สุขภาพ มีคุณค่าและเป็นผลไม้มงคล ราคาไม่เคยตก"

อีกส่วนที่วิศกรเครื่องกลคนนี้ทำ ก็คือโรงงานแปรรูป ผลิตน้ำอินทผาลัมสด อินทผลัมโซดา ฯลฯ แบรนด์ In one (เพจ In one อินทผลัม)

 “ผมไม่อยากกลับมาทำเรื่องอุตสาหกรรม เราอยากทำเกษตร  เกษตรที่ทำใช้พลังงานธรรมชาติโซล่าเซลล์ ผมหนีเรื่องแปรรูปไม่พ้น ผมอยากทำแค่วางแนวทาง แล้วส่งไม้ต่อให้ทีมการตลาด อยากเห็นการเติบโต มีมืออาชีพมาบริหารร่วมกับเรา ผมชอบงานในสวนในธรรมชาติมากกว่า”