'กัญชา'กับคนไทยกะเหรี่ยง

'กัญชา'กับคนไทยกะเหรี่ยง

กะเหรี่ยงโบราณจะปลูก"กัญชา"พร้อมกันไปกับข้าวไร่  ในฤดูฝนราวเดือน 7-8 ลงเม็ดพร้อมข้าวไร่ เพื่อใช้กัญชาช่วยป้องกันเพลี้ยไม่ให้ลงข้าว

คนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงชายแดนตะวันตกที่ดิฉันได้ไปสืบถามข้อมูลเรื่องกัญชามา บุกไปถึงหมู่บ้านไกลสูดกู่ริมภูเขา นั่งเรือเป็นชั่วโมงๆ ฝ่าสายน้ำลึกเข้าไปในเขต อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เข้าไปคุยกับพี่โต้น หนุ่มใหญ่ชาวกะเหรี่ยง อายุ 56 ปี ไปสืบถามเรื่องกัญชา ที่คนหมู่บ้านนี้ปลูกใช้ประโยชน์มายาวนาน และบัดนี้ยังพอมีพันธุ์อยู่บ้าง

พี่โต้นเล่าให้ฟังว่า
“ที่ชายแดนจ.กาญจนบุรี คนกะเหรี่ยงบ้านผมจะปลูกกัญชาพันธุ์ “ช้างเผือก” เป็นพันธุ์พื้นบ้าน เรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่าพันธุ์ “ช่องวา” ลักษณะต้นใหญ่มาก  เป็นพันธุ์เก่าแก่ดั้งเดิมมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ขึ้นดีในที่ชื้น อากาศหนาวมากๆ

คนกะเหรี่ยงโบราณจะปลูกกัญชาพร้อมกันไปกับข้าวไร่  ในฤดูฝนราวเดือน 7-8 ลงเม็ดพร้อมข้าวไร่ เราใช้กัญชาช่วยป้องกันเพลี้ยไม่ให้ลงข้าว ไม่ให้เพลี้ยกินข้าวเป็นใบแดง คนกะเหรี่ยงปลูกกัญชาพร้อมข้าวไร่มาแต่โบราณ อาศัยกัญชาช่วยดูแลข้าว

แต่เดิมข้าว 1 ไร่ จะปลูกกัญชาแซมไป 20-30 ต้น ต่อมาผิดกฎหมาย เราก็ยังต้องหลบๆ ปลูกกัญชาในข้าวไร่ไว้กันเพลี้ย แต่แอบๆ ปลูก จำนวนน้อยลงมาก

คนกะเหรี่ยงบ้านผมมีปลูกกัญชาพันธุ์ฝอยทอง อันนี้เรียกชื่อตามภาษาไทยกลาง พันธุ์นี้คำกะเหรี่ยงไม่มีเรียก รุ่นปู่ย่าไม่มีกัญชาพันธุ์นี้ แล้วยังมีพันธุ์ก้านยาวอีกด้วยที่คนในหมู่บ้านใช้ปลูก แต่กะหลี่(ดอก)ไม่ดก ออกกะหลี่ห่างๆ เม็ดมาก


161363702868

วิธีปลูกกัญชาพร้อมข้าวไร่ของคนกะเหรี่ยงต้องทำอย่างนี้

1.พอหยอดข้าวเสร็จ ข้างๆไร่ข้าวมีกอไผ่ไฟไหม้อยู่ เอาที่ตรงนั้นแหละ ดีมาก ปุ๋ยดี ลงเม็ดกัญชาไว้ 40-50 เม็ด เอาแก้วพลาสติกคลุมกันนก หนู ตั๊กแตนมากิน แค่ 3 วัน มันก็งอกรากออกใบอ่อน  ปล่อยให้โตสักหน่อยแล้วค่อยแยกออกมาปลูก

2.เราต้องดูว่ากัญชาที่แตกใบงอกรากออกมามันเป็นตัวเมียหรือตัวผู้ วิธีดู  สังเกตจากเม็ดแตกต้นออกมา  ราว 1 อาทิตย์ก็ดูได้แล้ว ถ้าต้นแดงเป็นตัวเมีย 90 %  ถ้าต้นเขียวเป็นตัวผู้ อีกอย่างที่ต้องดูประกอบด้วยคือถ้ากิ่งที่ออกมา 2 ชั้น หงายขึ้นอย่างเดียวเป็นตัวผู้ แต่ถ้ามีหงายลงด้วยเป็นเมีย

3.เวลาปลูกกัญชาแซมข้าว เราต้องเอาแต่ตัวเมียไปปลูก ตัวผู้ถอนทิ้งเลย ถ้าปลูกแต่ตัวเมียจะไม่มีเม็ด ไม่เสียเวลาคัดเม็ดออก แต่เราต้องกันไว้แปลงหนึ่งให้อยู่ห่างๆกับนาข้าว แปลงที่กันไว้ต้องปลูกกัญชาทั้งตัวเมียกับตัวผู้ เพื่อให้ติดเม็ด จะเอาไปทำพันธุ์ต่อได้

4.พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวข้าวไร่ราวเดือนธันวาคม เราเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็เก็บกัญชาได้

5.ตอนจะเก็บกะหลี่กัญชาต้องดูเม็ด ถ้าเห็นเม็ดแก่ได้ชัด คือเปลือกเม็ดจะเหลือง ไล่ดูเม็ดไปสุดยอด ว่าเหลืองหรือยัง ถ้าเหลืองสุดยอด ไม่อมน้ำค้างจะถึงเวลาเก็บได้ หรือดูใบบ้า-ใบเลี้ยงกะหรี่กัญชา ใบบ้าเหลืองถึงยอดก็ใช้ได้ แต่ตอนนี้ใช้กล้องส่องดูยางจากกะหรี่ได้

6.การเก็บกัญชาจะเก็บทั้งวัน ตั้งแต่หัวรุ่งก่อนตะวันขึ้น เก็บเรื่อยไปจนค่ำ  มีคนบอกเก็บเช้าจะได้ยางฤทธิ์แรงกว่าเก็บกลางวัน

กัญชาที่ปลูกกับข้าวไร่นี้ เราไม่ใส่ปุ๋ย ข้าวก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ย อาศัยแต่ขี้เถ้าเผาไร่ที่ค้างอยู่มาช่วยบำรุงดิน ถ้าอยากให้ข้าวให้กัญชางามมากๆ ก็มีบ้างที่ไปโกยขี้ค้างคาวจากในถ้ำมาใส่ลงบ้าง

คนกะเหรี่ยงรุ่นเก่าเขาปลูกกัญชาไม่มาก ปลูกแซมข้าวไว้กันเพลี้ย เราปลูกแค่ 4-5 ต้นก็ได้กะหรี่มาสูบเพียงพอตลอดปีแล้ว ถ้าปลูกเยอะถึง 20-30 ต้นนั้นน่ะ ได้กะหรี่เป็นกระสอบเลย”

..........................................

เรื่องราวกัญชากับคนไทยกระเหรี่ยง เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ ปฏิวัติกัญชาสยาม ๒๕๖๒ เขียนโดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว โดยในเล่มนำเสนอตั้งแต่ แหล่งกำเนิดกัญชาและลักษณะพืชพรรณ,ประวัติศาสตร์กัญชาไทย,กัญชาในจิตรกรรมไทย,กัญชาในคำบอกเล่าของชาวบ้าน,กัญชากับกฎหมายไทย,ปลดล็อก กัญชานานาชาติ ฯลฯ 

ผู้จัดพิมพ์โดย เดชา ศิริภัทร ติดต่อได้ที่ 035-597193 

161363778030