จดหมายเปิดผนึก : ความจริงเรื่อง 'ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า' ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ให้ดีขึ้น ทางออกการแก้ปัญหาที่ถูกจุด มากกว่าการเก็บ 'ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า'
ตามที่มี ส.ส. ออกข่าว เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนั้น ในความเป็นจริงหากหันมาเรียกร้องให้กระทรวงการคลังแก้ไขจุดอ่อนภาษียาสูบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ จะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมาก
การที่ ส.ส. ออกมาเรียกร้องเช่นนี้นั้น ในความเป็นจริงแล้วหาก ส.ส. หันมาเรียกร้องให้กระทรวงการคลังแก้ไขจุดอ่อนภาษียาสูบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ จะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมาก มากกว่าที่หวังจะเก็บได้จากการเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายหลายเท่า
แต่หากเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ไม่ได้แก้ไขระบบภาษีบุหรี่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น จะเป็นการเพิ่มปัญหาทั้งด้านการจัดเก็บรายได้จากภาษี และเกิดประชากรกลุ่มใหม่ที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มาก่อน และไม่แน่ว่าโดยรวมแล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีจากสินค้าบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น
โครงสร้างและอัตราภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิตจากยาสูบ ลดลงจากที่เก็บได้ 68,603 ล้านบาทในปี พ.ศ.2560 68,548 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2561 เหลือ 62,905 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2563
และผลจากการที่ส่วนแบ่งการตลาดของการยาสูบแห่งประเทศไทยลดลงจาก 64.6% ในปี 2560 เหลือ 43% ในปี 2563 กำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทยที่เคยสูงถึง 9,343 ล้านบาทในปี พ.ศ.2560 ลดลงเหลือ 550 ในปี พ.ศ.2563 ทำให้ไม่มีเงินกำไรที่จะนำส่งคลัง ส่วนนี้ก็เป็นรายได้ของรัฐที่ขาดหายไปปีละหลายพันล้านบาท
ขณะที่ชาวไร่ยาสูบได้รับความเดือดร้อนสาหัสจากการที่การยาสูบลดโควต้าการปลูกยาสูบมากกว่า 40%
การประเมินประสิทธิภาพของระบบภาษียาสูบโดยศูนย์วิจัยยาสูบนานาชาติ มหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่า ระบบภาษีของประเทศไทยได้คะแนน 1.75 จากคะแนนเต็ม 5 จากการที่มีการเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ซิกาแรต 2 อัตราตามราคาขายปลีก ทั้งยังมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างภาษีบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ยาเส้น และไม่มีการปรับอัตราภาษีตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อที่ต้องทำทุกปี
การเก็บภาษียาเส้นในอัตราที่ต่ำมาก ทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ยาเส้นต่ำกว่าบุหรี่ซิกาแรต 5-6 เท่า ในขณะที่ผู้สูบบุหรี่ยาเส้นมีถึงเกือบ 5 ล้านคน หากเพิ่มการเก็บภาษียาเส้นจะทำให้ภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นอีกมาก และทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง เด็กๆ ติดบุหรี่น้อยลงด้วย
ระบบการควบคุมบุหรี่หนีภาษี ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงอีกมาก และประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันในพิธีสารขจัดการค้ายาสูบผิดกฎหมาย อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดแนวทางปรับปรุงระบบการควบคุมยาสูบผิดกฎหมายอย่างครบวงจร
การพิจารณานโยบายภาษียาสูบ ที่ผ่านมายังขาดการมีส่วนร่วมของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง จากนอกกระทรวงการคลัง และยังขาดความโปร่งใส รอบครอบ อีกทั้งแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ ที่กรมสรรพสามิตกำหนดโครงสร้าง อัตราภาษี และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจร ไม่เปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีมีเวลาพิจารณาอย่างรอบครอบ ก่อนการลงมติเห็นชอบข้อเสนอจากกรมสรรพสามิต ดังความผิดพลาดในการปรับโครงสร้างภาษีเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2560
ยังไม่มีการกำหนดนโยบายและแนวทางที่จะช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบที่จะได้รับผลจากการขึ้นภาษียาสูบอย่างเป็นรูปธรรม ความไม่ชัดเจนนี้ส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดนโยบายภาษียาสูบที่ดี ที่จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นและการสูบบุหรี่ลดลง เพราะการเคลื่อนไหวร้องเรียนของชาวไร่ยาสูบจะกลายเป็นประเด็นการเมือง
ดังนั้น แทนที่ ส.ส. หลายท่านจะเคลื่อนไหว ออกข่าวเรียกร้องให้เปิดขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรัฐจะได้เก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้า จนกระทั่งมีการขอให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร
จะเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง หาก ส.ส. จะรวมพลังมาเคลื่อนไหวให้กระทรวงการคลัง/รัฐบาลแก้ไขจุดอ่อนระบบภาษียาสูบที่ใช้อยู่ให้ได้เสียก่อน ที่จะเสนอให้รัฐบาลหารายได้จากบุหรี่ไฟฟ้า
ในทางกลับกันหากเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาของระบบภาษีบุหรี่ที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นการเพิ่มปัญหาใหม่จากปัญหาเดิมที่เรื้อรังมานาน
บริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่อ้างว่าการเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เป็นบริษัทเดียวกันกับที่ขณะนี้ขายบุหรี่ซิกาแรตได้มากที่สุดในประเทศไทย มีประวัติคัดค้าน และใช้กลยุทธ์การลดราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ไทย หากเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้า มีหรือที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเดียวกันนี้จะไม่คัดค้านหรือแทรกแซงการกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีบุหรี่ไฟฟ้า
สิ่งที่ชวนให้คิดอีกประการหนึ่งคือ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกสำหรับคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา โดยที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติขายทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า หากบุหรี่ไฟฟ้าทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาจริง เป็นไปได้หรือที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะส่งเสริมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อทำให้บุหรี่ธรรมดาที่ตัวเองผลิต ขายได้น้อยลงและทำให้กำไรของบริษัทลดลง
จึงชัดเจนว่าการมุ่งมั่นที่จะวิ่งเต้นให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ก็เพื่อที่บริษัทจะขายได้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา ที่เขาครองส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ในประเทศไทยได้มากกว่าการยาสูบแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว
ผลที่จะตามมาเป็นลูกโซ่คือ การยาสูบแห่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบที่สู้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติไม่ได้ และส่งผลต่อชาวไร่ยาสูบอีกทอดหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศ. นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ
ดร. พญ. เริงฤดี ปธานวนิช
14 มิถุนายน 2564