เข้าพรรษานี้ 'คืนปอดดี เลิกสูบบุหรี่' เพิ่มภูมิห่างไกล 'โควิด 19'
หนึ่งผลพลอยได้ของช่วงการระบาดของ "โควิด 19" คือการเกิดปรากฏการณ์ “คนอยากเลิกสูบบุหรี่" กันมากขึ้น เมื่อได้ทราบว่าการสูบหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงจนถึงเสียชีวิตในผู้ที่ติดเชื้อมากกว่าคนไม่สูบถึงเกือบ 5 เท่า
นอกจากนี้คนสูบบุหรี่ยังมีความเสี่ยงจะติดและป่วยจาก “โควิด 19” มากกว่าคนทั่วไป ที่สำคัญคนสูบบุหรี่เมื่อได้รับวัคซีนโควิด 19 อาจสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้น้อยกว่าคนไม่สูบอีกด้วย เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 จึงมีประชาชนขอรับปรึกษา “เลิกบุหรี่” กับสายเลิกบุหรี่ 1600 จำนวนมาก
โควิดกับบุหรี่เป็นเรื่องเดียวกัน
พญ.เริงฤดี ปธานวนิช จากภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลผ่านเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เข้าพรรษายุคโควิด เลิกเสพติดบุหรี่ด้วยสายเลิกบุหรี่ 1600” ที่จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) ว่าสาเหตุที่ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มีอยู่สองประการ หนึ่ง เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นการไปทำลายภูมิต้านทานของร่างกายโดยตรง
“ระบบต้านทานของร่างกายเราไม่ดีแข็งแรงอยู่แล้ว เวลาที่ได้รับเชื้อโรคเข้ามาเชื้อไวรัสก็จะทำให้ร่างกายรับเข้ามาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้อีกเหตุผลคือ การสูบบุหรี่จะทำให้ป่วยเป็นโรคเรื้องรังต่าง ๆ อาทิ โรคปอด โรคหัวใจโรคมะเร็ง โอกาสติดเชื้อจึงสูงกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่”
นอกจากนี้ มือที่ใช้สูบบุหรี่หรือคีบบุหรี่เพื่อสูบยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการนำเชื้อโควิดเข้าร่างกาย เหมือนที่เราข่าวบ่อยๆ ว่า มีหลายคลัสเตอร์เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ร่วมกัน
ส่วนสายบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ต่างกัน โดยข้อมูลวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา มีการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าพบว่า วัยรุ่นที่ติดบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเสี่ยงติดโควิด 19 ถึงห้าเท่าและถ้าสูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไปฟ้าความเสี่ยงจะสูงถึงเจ็ดเท่า
“ที่สำคัญ การสูบยังลดทอนประสิทธิภาพวัคซีน มีผลวิจัยศึกษาด้วยว่าคนที่สูบบุหรี่เมื่อฉีดวัคซีนแล้วอาจมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงถึงประมาณ 40%” พญ.เริงฤดีกล่าว
ลดบุหรี่ ลดโรค ลดภาระ
ข้อมูลจาก รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ที่กล่าวว่า จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทยสูบบุหรี่ลดลงเหลือร้อยละ 17.4 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 19.1 ในปี 2560 แต่อย่างไรก็ดี บุหรี่ยังคงก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายถึงสูงถึงร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศทั้งหมด
ปัจจุบันแนวโน้มคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่มีลดลง โดยข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ แต่ที่ผ่านมาคนไทยที่เจ็บป่วยเนื่องจากโรคจากบุหรี่ปีละ 1,200,000 คนและที่สำคัญแต่ละรายต้องเสียค่ารักษพยาบาลโรคและความเจ็บป่วยจากบุหรี่เฉลี่ยปีละถึง 2.2 ล้านบาท
“หากนักสูบลองนึกถึงครอบครัวที่ต้องมีผู้เจ็บป่วยจากบุหรี่ต้องรักษาพยาบาล ใครจะเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบภาระนี้ หากเป็นครอบครัวที่มีฐานะก็ยังพอไหว แม้ว่าโชคดีที่เราจะเกิดในยุคที่ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพ อาทิ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มารับภาระตรงนี้ แต่ก็อย่าลืมว่า ค่ารักษาที่เราใช้ไปนั้นคือภาระของคนไทยและสังคมไทยที่ต้องตัดงบประมาณมาดูแลด้านนี้ เฉลี่ยถึงปีละ 140,000 ล้านบาท”
รุ่งอรุณให้ข้อมูลต่อว่า บางคนมองว่าค่ารักษาอาจนำมาจากการเก็บภาษีบุหรี่มาเป็นค่าใช้จ่าย แต่จากรายงานการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในปี 2563 ของประเทศไทยพบมีรายได้แค่ 60,000 กว่าล้านบาทหรือไม่ถึงครึ่งของค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโรคเนื่องจากบุหรี่ด้วยซ้ำ
ส่วนการทำงานด้านขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่ ปัจจุบัน สสส. มีการทำงานขับเคลื่อน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัย นักวิชาการหลายสาขาอย่างต่อเนื่อง ที่พยายามค้นหาแนวทาง นวัตกรรม ตลอดจนกระบวนที่จะชักจูงให้คน เลิกบุหรี่
แต่แค่พลังขับเคลื่อนทางวิชาการก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังจำเป็นต้องทำงานขับเคลื่อนกับภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียน ชุมชน หน่วยงานภาคีต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย
“การขยับในแง่ของกฎหมายก็เป็นอีกกลไกที่สำคัญ ความหวังของเราคืออยากให้คนไทยอยู่ในอากาศบริสุทธิ์ในพื้นที่สถานที่ธารณะ ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเราก็อยากให้คนที่ไม่สูบบุหรี่เข้าใจคนที่สูบบุหรี่ เพราะ สสส.เชื่อว่าคนสูบบุหรี่ คุณก็ยังเป็นคนดีมีคุณค่า ที่สำคัญคุณอาจจะเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือสมาชิกคนสำคัญในครอบครัวของใครก็ได้ และควรเป็นพลังที่ช่วยส่งเสริมให้เขาลด ละ เลิกสูบบุหรี่ ได้”
ส่วนในสถานการณ์การระบาดโควิด 19 สสส. และภาคีเครือข่าย ก็ยังเดินหน้าทำงานต่อ โดยได้ปรับแผนการทำงาน ให้ความสำคัญการทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในการให้ความรู้ การณรงค์สังคม ให้ลด ละ เลิกยาสูบ และสิ่งเสพติดต่างๆ ทั้ง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ยูทูบ และซูม เป็นต้น
เพียง 20 นาที ก็เลิกได้
ปัจจุบัน การทำงานเพื่อช่วยผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ทั้ง สสส. และภาคีต่างมีหลายช่องทางในการช่วยเหลือ หนึ่งในนั้น คือช่องทางที่ทุกคนคุ้นเคย คือ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600)
โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 อาจจะไม่พร้อมที่จะเข้าไปสถานบริการเลิกบุหรี่ ดังนั้นช่องทาง ที่ปลอดภัยที่สุดในช่วงนี้จึงควรติดต่อ สายเลิกบุหรี่ 1600
สำหรับสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เป็นบริการให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ สิ่งที่เป็นจุดเด่นของบริการนี้คือประชากรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ต้องการเลิกจริง
“เพราะหากเขาไม่สนใจ หรือไม่พร้อม ก็จะเป็นการที่จะเสียเวลาทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการให้คำปรึกษาลำดับแรก หากเป็นคนที่ยังไม่พร้อม เราจะใช้เวลา 3 นาทีเท่านั้นและเมื่อไหร่ที่เขาต้องการหรือตั้งใจจะเลิกจริง ๆ จึงจะเข้าไปสู่การให้คำปรึกษาแบบเข้มข้นครั้งละ 20 นาที” ศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) กล่าว
นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังมีการติดตามผลว่าเลิกได้จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ ศ.ดร.จินตนาย้ำว่าสำคัญ
“เนื่องจากบางคนแม้จะเลิกได้แล้ว แต่ก็อาจกลับไปสู่วงจรการสูบใหม่ โดยเฉพาะภายในวันที่ 3 วันที่ 5 และวันที่ 14 จะเป็นช่วงอันตรายมาก เพราะฉะนั้นเราจึงมีการบริการเชิงรุกเพื่อให้คำปรึกษาเพิ่มเติม ในหลังจากนั้น คือ ทุก 3, 5, 14 วัน หนึ่งเดือน สามเดือน และหกเดือน เพื่อไม่ให้กลับไปสู่ซ้ำแม้แต่ครั้งเดียวภายใน 6 เดือน”
สำหรับบางคนที่ไม่สะดวกใจทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะวัยรุ่นอาจไม่ชอบคุย ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ก็ยังได้เพิ่มข่องทาง LINE และอีกนวัตกรรม สำหรับคนที่ต้องการได้รับคำปรึกษา 1600 แต่ไม่มีโทรศัพท์ อาทิ กลุ่มผู้อายุในชุมชนบางคนไม่มีเบอร์โทรศัพท์ประเภทที่จะรับสายโทรออก ทางศูนย์จึงมีบริการแบบข้อความสั้น
“ตอนแรกเราส่งข้อความสั้นหน่อย โดยจะส่งเช้าเย็นเช้าเย็น จนกระทั่ง 21 ก็จะส่งออกทุกหนึ่งหรือสองสัปดาห์เป็นระยะเวลาสามเดือน ซึ่งงานวิจัยพบว่าผู้ที่ได้รับคำปรึกษาแบบข้อความสั้นก็เลิกบุหรี่ได้ 21% นะคะ แต่คนที่ไม่พร้อมจะเลิกเราก็มีข้อความสั้นอีกประเภทหนึ่งนะส่ง โดยเน้นกระตุ้นความสนใจผ่านข้อความว่าท่านจะมีโอกาสการเลิกได้ ซึ่งแบบนี้ยังไม่ค่อยมีความนิยมเท่าไหร่นักแต่ปัจจุบันเรากำลังพยายามขยายเครือข่ายอยู่ และนอกจากนี้ยังมี Facebook สายเลิกบุหรี่ 1600 เป็นการให้ความรู้ผู้ที่ต้องการจะเลิก รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนที่เลิกแล้วเป็นอย่างไร เป็นต้น”
ในด้านผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่ต้องการเลิกได้รับคำปรึกษาผ่าน 1600 ใช้ครบหลักสูตร คือสามารถเลิกบุหรี่คือต่อเนื่องหกเดือน พบว่ามีประมาณ 32%
You quit and You refer
นอกเหนือจากศูนย์ทำงานในระดับเชิงรับที่เรียกว่า You Quit โดยรับให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่โทรเข้ามาโดยตรง ในระดับเชิงรุก ทางศูนย์ยังมีความร่วมมือทำงานกับหน่วยงานเลิกบุหรี่หลายแห่ง ได้แก่ หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยเชิญชวนเชิงรุกถามความสมัครใจผู้ที่ต้องการเลิก ถ้าพร้อมที่จะเลิก เจ้าหน้าที่จึงส่งเบอร์โทรศัพท์กับเบอร์กับชื่อและเวลาที่ต้องการให้ทาง 1600 เพื่อให้คำปรึกษา
“บริการที่เรียกว่า You Refer เป็นระบบช่วยเลิกบุหรี่แบบบูรณาการ โดยการประสานกับทางหน่วยงานสาธารณสุขระดับพื้นที่ ซึ่งจะจัดส่งผู้ที่ต้องการเลิก โดยเป็นการทำงานผ่านแอปพลิเคชัน หรือทางเว็บไซต์ ซึ่งง่ายและสะดวกเพราะเจ้าหน้าที่และศูนย์ 1600 สามารถที่จะส่งคิวอาร์โค้ดระหว่างกันสำหรับการส่งข้อมูลผู้ที่ตั้งใจจะเลิก”
สำหรับการพัฒนาการให้บริการในอนาคต ทางศูนย์ยังเพิ่มการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อให้สามารถติดตามผลการให้บริการได้ผ่านแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ (Real Time) รวมทั้งการเชื่อมโยงการบริการระหว่าง 1600 และคลินิกเลิกบุหรี่ ซึ่งมีกระจายทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเลิกได้จริง
เข้าพรรษา มาหยุดบุหรี่กันเถอะ
เมื่อบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เรามากขนาดนี้ ในช่วงเข้าพรรษาที่เริ่มขึ้นแล้ววันนี้ จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทย ใช้เป็นโอกาสเริ่มต้นตัดสินใจหยุดพฤติกรรมนักสูบ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายกันเถอะ
รวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะได้รับวัคซีนป้องกัน โควิด 19 ควรเลิกสูบบุหรี่ก่อนได้รับวัคซีน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันและปอดฟื้นฟูกลับมาทำงานได้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังช่วยลดควันบุหรี่มือสองที่อาจกระทบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะคนในครอบครัว คนที่เรารัก โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่จากสายเลิกบุหรี่ 1600
พระวิสิทธิ ฐิตวิสิทโธ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เอ่ยว่าเทศกาลเข้าพรรษา ยังเป็นอีกฤดูกาลที่พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้เป็นโอกาสในการ ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อสร้างกุศลให้กับทั้งตัวเองและผู้อื่น
ซึ่งบุหรี่และอบายมุขเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เราผิดศีล 5 เพราะเป็นหนทางที่นำไปสู่การขาดสติ ที่สำคัญ การสูบบุหรี่เป็นการเบียดเบียนทำร้ายคนอื่น นอกเหนือจากทำร้ายตัวเองแล้ว
“เข้าพรรษาเป็นระยะที่เราควรฉีดวัคซีนทางจิตใจ นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนให้กับร่างกายเราแล้ว ซึ่งอีกวัคซีนที่จะทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้นได้คือการตั้งจิตอธิฐานที่จะปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามและหากมีสิ่งที่ไม่เอื้อต่อชีวิตคุณงามความดีกับตัวเองแล้ว ก็ควรขยับออก เช่นการที่เราเริ่มลดละบุหรี่หรืออบายมุขต่างๆ” พระวิสิทธิ กล่าว
“เราอยากชวนทุกคนมาเลิกบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษาด้วยกัน เพราะว่าช่วยทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายและลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่สำคัญเราอยากให้ทุกคนเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรงมีภูมิคุ้มกัน” รุ่งอรุณกล่าวเสริมทิ้งท้าย