"ใส่ใจ" (Psyjai) แชทบอท ตัวช่วยด้านจิตใจในยุค"โควิด"
การระบาดของโควิด 19 ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและสุขภาพจิต ซึ่งการเว้นระยะห่าง ทำให้คนมากมายไม่รู้จะระบายความทุกข์ให้ใครฟัง ล่าสุดได้มีผู้สร้างสรรค์แชทบอท "ใส่ใจ" (Psyjai) ออกมาช่วยเหลือแล้ว
โลกในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกคนจำเป็นต้องสนใจข่าวสารในโลกโซเชียล เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้น จนยากที่จะรับมือ โชคดีที่มีผู้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พัฒนา ‘แชทบอท’สุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมงออกมาช่วยเหลือ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวนวัตกรรม แชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai)
ที่สามารถพูดคุยกับทุกเพศวัย ก้าวล้ำด้วย เอ.ไอ.ช่วยประเมินสภาวะจิตใจและอารมณ์เบื้องต้น บรรเทาความเครียดด้วยหลักจิตวิทยา เปิดบริการแล้ววันนี้ ให้เข้าถึงได้ง่ายในทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ช.ม.
- แชทบอท “ใส่ใจ” คืออะไร
แชทบอท ใส่ใจ (Psyjai) ให้บริการผ่านทางเฟสบุค โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) วิเคราะห์อารมณ์จากเนื้อหาการพูดคุย และมีระบบจัดการการสนทนา (Dialogue Management) สำหรับส่งข้อความโต้ตอบให้สอดคล้องกับอารมณ์และประเด็นปัญหาที่ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์หรือตรวจจับได้
ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1)ประเมินสภาวะอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์เศร้า เครียด และวิตกกังวล ที่มีต่อภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ข่าวสารโซเชียลมีเดีย หรือจากผลกระทบต่ออาชีพการงาน การศึกษา การปรับตัวทางสังคม ภาระการดูแลสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อสร้างภาวะตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของภาวะสุขภาพจิตในระยะเริ่มแรกที่สามารถให้การดูแลได้ง่าย
2)ให้การดูแลประคับประคองอารมณ์ในระดับเบื้องต้น (Emotional Support) โดยอ้างอิงหลักการให้การดูแลจิตใจตามหลักจิตวิทยา โดยผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกับแชทบอทได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีการบ้านหรือแบบฝึกหัด (Homework) เพื่อกระตุ้นให้นำเนื้อหาที่พูดคุยไปปรับใช้จริง และผู้ใช้งานสามารถติดตามความก้าวหน้าของตนเองได้บนหน้าแสดงข้อมูล (Dashboard)
- ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกวัย
ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความคิดเห็นว่า ไม่ว่าวัยไหนก็มีความเครียดได้
“ปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเครียดวิตกกังวลได้หลายๆ ด้าน ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งความเครียดอาจแสดงออกมาเป็นรูปแบบของการนอนไม่หลับ ไม่สามารถหาความสุขจากกิจกรรมในวันธรรมดาๆ ได้ ท้อแท้ รู้สึกว่าไม่สามารถเอาชนะความยากลำบากของตัวเองได้
รวมถึงความรู้สึกทุกข์ใจและซึมเศร้า เสียความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกตัวเองไร้ค่า เป็นต้น ทีมวิจัย จึงได้พัฒนา นวัตกรรมแชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai) ที่เป็นเสมือนเพื่อนคนหนึ่งที่มีความรู้ทางด้านจิตวิทยา สามารถพูดคุยกับผู้ใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา และใช้งานง่าย
โดยทีมวิจัยมีวัตถุประสงค์ต้องการดูแลคนไทยให้มีสุขภาพจิตที่ดี ผู้ใช้งานสามารถตระหนักรู้ถึงสภาวะอารมณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า นำไปสู่การจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
ช่วยลดความยากลำบากของประชาชนในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตในช่วงโควิด-19 ทั้งที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ประเด็นปัญหาทั่วไป ช่วยให้คนไทยทุกเพศวัยสามารถดูแลสุขภาพจิตตนเองได้ทันท่วงที ป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้พัฒนาความรุนแรงขึ้น
- วิธีการใช้งาน
เสิร์ชหาคำว่า “Psyjai” ในช่องค้นหา ของแอพพลิเคชันเฟซบุ๊ก หรือ www.facebook.com/psyjaibot/
หลังจากเข้ามาที่หน้าเฟซบุ๊กเพจใส่ใจแล้ว ก็กดปุ่ม “ส่งข้อความ” เพื่อเริ่มพูดคุยได้ทันที
นอกจากนี้แชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai) ยังมีระบบให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง หรือมีภาวะอารมณ์ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง โดยเราให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความลับของผู้ใช้งานตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านคะแนนการประเมินสุขภาพจิต และเนื้อหาที่พูดคุย
ทางด้าน รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุกวันนี้คนมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมาก
"จากสถิติของกรมสุขภาพจิต รายงานว่า เฉพาะช่วง ม.ค.2564 เดือนเดียว มีผู้ขอรับบริการโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เกี่ยวกับความเครียดจากโควิด-19 มีจำนวนสูงลิ่วถึง 1.8 แสนคน เปรียบเทียบกับทั้งปี 2563 มีจำนวนการโทรขอคำปรึกษาอยู่ที่ราว 7 แสนคน
ดังนั้น “ใส่ใจ” แชทบอทบริการทางสุขภาพจิต จึงตอบโจทย์ได้ดี มีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วในการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้เป็นจำนวนมาก สะดวกมากลดการเดินทาง ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิดในสังคม
ทางด้าน พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจ มีอยู่ 2 ประการด้วยกัน
1) ปัจจัยทางด้านกายภาพ เช่น พันธุกรรม เพศ อายุ
2) ปัจจัยทางด้านจิตสังคม เช่น พื้นฐานทางจิตใจ อารมณ์ ทักษะการแก้ปัญหา สภาพแวดล้อม เป็นต้น
ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน กระทบการดำเนินชีวิตของคนในหลายๆ ด้าน ภาวะวิกฤติที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต"
- วิธีทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
หมั่นสำรวจภาวะอารมณ์และความคิดของตนเอง เรียนรู้และจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อการดูแลที่เหมาะสม แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนบุคลากรและการเข้าถึง ทำให้มีประชากรไทยจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิต จนปัญหารุนแรงขึ้นจนถึงระดับที่แก้ไขได้ยาก
แชทบอท “ใส่ใจ” (Psyjai) ที่บูรณาการองค์ความรู้ทางจิตวิทยาคลินิกและจิตเวช ผสานกับเทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นตัวช่วยเหลือที่ดี ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทย ยกระดับการให้บริการสุขภาพจิตในประเทศไทยให้ก้าวทันโลกไปพร้อมๆ กับไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล
หากรู้สึกไม่สบายใจ เครียด หรือสงสัยว่าตนมีอาการซึมเศร้า สามารถเข้าถึงบริการ “ใส่ใจ” แชทบอททางสุขภาพจิตได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเฟซบุ๊ก ทั้งในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป