สุ่มตรวจพบ“ส้มไทย”สารพิษเยอะกว่า"ส้มนำเข้า": เสนอปรับระบบการผลิตใหม่
มีผลสำรวจล่าสุด “ส้ม”เป็นผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงมาก และพบว่า ส้มและน้ำส้มในเมืองไทยหลายแบรนด์สารพิษเยอะกว่า"ส้มนำเข้า" ลองเช็คดูว่ามีแบรนด์ไหนที่คุณดื่มอยู่
ไม่ว่าจะสำรวจ"ส้ม"ปีไหนก็ตาม...
“ส้ม” ก็ยังเป็นผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน และคนไทยก็บริโภคส้มเป็นว่าเล่น ไม่เกรงกลัวสารพิษที่มีอยู่ปริมาณมาก
ล่าสุดสภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เก็บตัวอย่างส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง
พบว่า ส้มปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทุกตัวอย่าง (100%)
ส่วนส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบ 16 ตัวอย่างมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน(84.21%) และ 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ
ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย
ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด
ตรวจสอบส้มและน้ำส้มอาบยาพิษ
การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มเมื่อวันที่ 3-10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง
ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025
จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า
ส้ม 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง
1. จำนวน 57 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง
2. จำนวน 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน คิดเป็น 5% ได้แก่
-ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่
-Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต
-ส้มแมนดาริน (ไต้หวัน) จากร้านเจ๊สุ พรีเมียมฟรุต
โดยทั้งสามตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ
น้ำส้ม(ในภาชนะปิดสนิท) 10 ตัวอย่าง พบว่า
5 ตัวอย่างไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่
-น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco
-น้ำส้ม 100% ตรา UFC
-น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน)
-น้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh
-Harvey Fresh
5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่
-น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO
-น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA
-น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ
-น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น
-น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100%
ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้
-สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง
-เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง
-โชกุน 9 ตัวอย่าง
-ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง
-ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง
-ส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง
ข้อเสนอการแก้ปัญหา
จากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทย
ข้อเสนอต่อภาครัฐ
1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
• ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว
• ปฏิรูประบบการรับรอง GAP เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน
• ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค
2.กระทรวงสาธารณสุข
• เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า
• พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
• ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย
ข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย
1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส (Traceability)
เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีเช่นการสแกนคิวอาร์โค้ด
2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์