ทำไมการชำระหนี้การศึกษาควรขึ้นอยู่กับรายได้ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่การชำระเงินคืนขึ้นอยู่กับรายได้ที่เรียกว่า Income Contingent Loan (ICL) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกว่าการกู้ยืมแบบที่ต้องชำระหนี้ตามยอดที่กำหนดไว้ เป็นเหมือนการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
ระบบ Income Contingent Loan (ICL) มีลักษณะที่น่าสนใจ 3 ประการ
ประการแรก ไม่ต้องมีการค้ำประกันผู้กู้ ระบบนี้จึงช่วยให้คนที่ต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาแต่ไม่มีเงินทุนพอ ไม่มีหลักทรัพย์หรือผู้ค้ำประกัน ได้เรียนต่อได้ในสาขาที่ต้องการหากได้รับการคัดเลือกจากสถานศึกษา โอกาสในการเรียนต่อจึงไม่ต้องขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
ประการที่สอง ผู้กู้มีสิทธิเลือกว่าจะเข้าเรียนในสถานศึกษาไหน ซึ่งเป็นการกดดันให้สถานศึกษาต้องพัฒนคุณภาพในการผลิตบัณฑิตของตนเอง เพราะหากนักศึกษาจบออกมาหางานดีๆ ทำไม่ได้ จำนวนนักศึกษาก็จะลดลง ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ได้ยาก ถึงจะไม่โดนปิด อย่างน้อยผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็คงอยู่ไม่ติด เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ต่อสัญญาอีกหรือเปล่า
ประการที่สาม โครงสร้างของระบบถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นเพื่อลดภาระทางการเงินของผู้กู้ เพราะกำหนดให้การชำระหนี้คิดเป็นร้อยละของรายได้ในแต่ละปี
จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระคืนจึงเปลี่ยนแปลงไปตามระดับรายได้ ตอนไหนที่ชีวิตการงานก้าวหน้าได้เงินเดือนเยอะก็จ่ายมากหน่อย ช่วงไหนดวงไม่ค่อยดีโดนลดเงินเดือนหรือตกงานก็ยังไม่ต้องจ่าย
แม้จะมีหลักการทางเศรษฐศาสตร์รองรับอย่างมั่นคง แต่การนำ ICL ใช้ในประเทศต่างๆ นั้นประสบผลสำเร็จไม่เหมือนกัน ออสเตรเลีย ถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
ปัจจัยที่ทำให้กองทุนกู้ยืมของออสเตรเลียประสบความสำเร็จมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ
1) การกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินที่สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้ในอนาคตของผู้กู้
2) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม ช่วยลดการเสื่อมค่าของเงินที่เก็บได้ในอนาคต และ
3) มีระบบการจัดเก็บที่ดี โดยมีสรรพากรเป็นเจ้าภาพในการจัดเก็บไปพร้อมกับการเก็บภาษีรายได้ของผู้กู้
หากนำเอากองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ของเราไปเทียบกับระบบของออสเตรเลียซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งก็จะพบว่า กรอ. มีจุดที่ต้องประเด็นที่ควรพัฒนาให้เหมาะสมขึ้น 3 ประการ
ประการแรก คือ อัตราการชำระเงินคืน รายได้ขั้นต่ำที่กำหนดให้ชำระเงินคืนคือปีละ 192,000 บาทหรือเดือนละ 16,000 บาท โดยชำระเงินคืนร้อยละ 5 แล้วเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 เมื่อรายได้เพิ่มเป็น 30,001– 70,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 12 เมื่อรายได้มากกว่า 70,000 บาทนั้น
หากเทียบกับประเทศออสเตรเลียที่มีอัตราการชำระเงินเริ่มต้นร้อยละ 1 และสูงสุดร้อยละ 10 ของรายได้ โดยมีอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 18 ระดับ เพื่อให้ภาระในการจ่ายเพิ่มขึ้นทีละน้อย จะเห็นว่าอัตราเริ่มต้นและอัตราสูงสุดของไทยมีค่าสูงกว่า
นอกจากนี้แล้ว อัตราของการชำระหนี้มีเพียง 3 ระดับ ทำให้ภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แทนที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยเหมือนของประเทศออสเตรเลีย ที่จะช่วยให้ผู้กู้มีโอกาสในการปรับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นในชีวิตไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการชำระหนี้มากนัก
ประการที่สอง คือ การกำหนดสาขาวิชาที่กู้ กรอ. ได้ บนหลักการว่าสาขาเหล่านี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน น่าจะมีรายได้สูงจนสามารถชำระหนี้ได้ตามเกณฑ์การชำระหนี้ที่กำหนดขึ้น เป็นสิ่งที่ค้านกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของหลักการพื้นฐานของการชำระหนี้ด้วยวิธีนี้
เพราะการกำหนดให้การชำระหนี้แบบกำหนดให้ผูกพันกับรายได้ถูกออกแบบมาเพื่อลดภาระทางการเงินของผู้กู้ในกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดแรงงาน หรือพบกันเหตุการณ์อื่นจนส่งผลต่อรายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ประการที่สาม คือ ประสิทธิภาพของการเก็บหนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บหนี้ การรับรู้รายได้ และกลไกในการชำระหนี้ ปัญหาแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศออสเตรเลีย เพราะเขามีระบบจัดเก็บภาษีที่ดีและรายได้ของคนจนมหาวิทยาลัยค่อนข้างสูง
บางคนพอเรียนจบก็เริ่มจ่ายได้เลย และเพียงไม่กี่ปีคนส่วนใหญ่ก็มีรายได้ถึงขั้นต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ภาระทางการคลังของเขาจึงไม่สูงมาก ระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถติดตามผู้กู้ได้และมีต้นทุนในการจัดเก็บต่อคนที่ต่ำ
ขอฝากการบ้านไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า หลังจากนี้ไปตลาดแรงงานจะมีความผันผวนมาก การมีระบบการชำระหนี้ที่ “เป็นมิตร” กับผู้กู้มากขึ้น ย่อมช่วยบรรเทาผลกระทบทางการเงินของผู้กู้ได้ ทำให้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากลายเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ทั่วถึงและยั่งยืนอย่างแท้จริง.
คอลัมน์ หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[email protected]