ข้อสอบเจ้าปัญหา "เมนูอาหารลดโลกร้อน" ทปอ.วัดความรู้SDGs ยันมีคำตอบเดียว

ข้อสอบเจ้าปัญหา "เมนูอาหารลดโลกร้อน" ทปอ.วัดความรู้SDGs ยันมีคำตอบเดียว

ทปอ.ระบุข้อสอบเจ้าปัญหา “เมนูอาหารลดโลกร้อน” วัดความรู้เรื่อง SDGs เด็ก พร้อมยืนยันมีคำตอบเดียว ขณะที่นักวิชาการสวนกลับ ไม่มีคำตอบไหนถูกที่สุด ควรยกคะแนนให้แก่ผู้เข้าสอบ ติงทปอ.ปรับรูปแบบคำถามข้อสอบ ชี้ระบบการศึกษาไทยเน้นท่องจำ ขาดการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ

กลายเป็นข้อถกเถียงบนโลกออนไลน์ทันที เมื่อข้อสอบเจ้าปัญหา "วิชาความถนัดทั่วไป" (TGAT) จัดสอบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับ

"เมนูใดต่อไปนี้ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด"

โดยมีคำตอบ 4 ข้อให้เลือกคือ

1.ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย

2.ราดหน้าหมู

3.สเต็กปลาแซลมอน 

4.สุกี้ทะเลรวม 

จนผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนเรียกหาเฉลย เพราะไม่รู้ว่าข้อใดเป็นคำตอบกันแน่ 

"เมนูอาหารลดโลกร้อน" วัดความรู้เรื่อง SDGs เด็ก

ล่าสุด นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส ปีการศึกษา 2566 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่าหลังจากสอบ TGAT แล้ว ทปอ.ก็มีการติดตามดูเสียงสะท้อนของเด็กๆ เบื้องต้นก็พบเสียงบ่นเรื่องข้อสอบดังกล่าว 

ซึ่งข้อสอบดังกล่าวเป็นการวัดความรู้เรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals) หรือความยั่งยืนมีการกล่าวถึงเป้าหมาย 17 ประการ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการลดโลกร้อน

  • อาหารที่คุณบริโภคส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ?
  • ภาวะโลกร้อนเกี่ยวกับอาหารที่เรากินอย่างไร
  • นาข้าวลดโลกร้อน : ทำนาวิถีใหม่ ลดน้ำ ลดต้นทุน ลดปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ยันข้อสอบมีคำตอบที่ถูกเพียงข้อเดียว 

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเรามีส่วนร่วมได้หลายวิธี รวมทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร อาหารแต่ละประเภทจะมีคาร์บอนฟุตพรินท์ หรือ การผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ อาหารทะเล หรือว่าปลาแซลมอนนะครับ เพราะฉะนั้นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือ การตระหนักรู้ในเรื่องปริมาณ คาร์บอนฟุตพรินท์ เราก็ใช้ข้อมูลระดับโลกในการที่จะกำหนดข้อมูลของคาร์บอนฟุตพรินท์แต่ละชนิด

"ผมคงไม่สามารถบอกได้ตอนนี้ว่าข้อใดถูก ต้องรอการเฉลยคำตอบจากอาจารย์ผู้ออกข้อสอบอีกครั้ง แต่เบื้องต้นมีข้อสอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว โดยข้อนี้ออกโดยยึดหลักเกณฑ์การสร้างก๊าซเรือนกระจกมาตรฐานข้อสอบโลก ซึ่งมีกำหนดไว้ชัดเจน ส่วนเรื่องจำนวนข้อสอบ 200 ข้อ ต้องทำในเวลา 180 นาที และเด็กทำไม่ทันนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ทปอ.แจ้งเด็กให้ทราบล่วงหน้าก่อนสอบ และการทำข้อสอบไม่ทันก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกปี เพราะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการเวลา” นายชาลี กล่าว

ข้อสอบเจ้าปัญหา \"เมนูอาหารลดโลกร้อน\" ทปอ.วัดความรู้SDGs ยันมีคำตอบเดียว

ล่าสุด เพจ Mytcas.com เผยแพร่ประกาศ TCAS66 เรื่อง ทปอ. ชี้แจงประเด็นที่สื่อสังคมให้ความสนใจข้อสอบ TGAT พร้อมอธิบายเจตนาของการปรับการสอบรูปแบบใหม่ ระบุว่าตามที่มีประเด็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับข้อสอบวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) ในข้อคำถามเกี่ยวกับการเลือกเมนูอาหารที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนน้อยที่สุดนั้น 

คณะกรรมการดำเนินงาน TCAS รู้สึกยินดีที่ข้อคำถามดังกล่าว กระตุ้นให้ถกเถียงและทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการเลือกรับประทานอาหาร ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างก๊าซเรือนกระจก ตามหลักของเป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืนข้อ 13-Climate Action ของสหประชาชาติ (SDG: Sustainable Development Goals)


แจงกระตุ้นถึงการเลือกรับประทานอาหารช่วยโลก

นอกจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ประหยัดพลังงาน การเดินทางโดยสาธารณะ การเลือกทานอาหารจากแหล่งในท้องถิ่น และการบริโภคอย่างพอเหมาะ แล้วการเลือกชนิดอาหารที่รับประทานก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ในการสร้างก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน

ข้อสอบดังกล่าวได้พัฒนาบนฐานความรู้ของการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของสังคม (Civic Engagement) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมรรถนะการทำงานในอนาคต (Future Workforce Competency) ในส่วนที่ 3 ของวิชา TGAT ซึ่งเป็นวิชาใหม่ที่จัดสอบในปีนี้เป็นครั้งแรก

ความมุ่งหวังประการหนึ่งของการพัฒนาระบบการสอบรูปแบบใหม่ ในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศ ไทย คือการกระตุ้นให้ผู้เข้าสอบได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะอนาคตและทัศนคติที่ดี โดยกำหนดให้เป็นส่วนใหม่ของการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT)

เช่น การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ การคิดเชิงวิพากษ์และการใช้เหตุผล การบริหารจัดการอารมณ์ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม และการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาของสังคม และหวังว่าการจัดศึกษาในอนาคตและการพัฒนาตนเองของผู้เรียนจะเป็นไปในทิศทางดังกล่าวควบคู่ไปกับการเรียนรู้ และประยุกต์เนื้อหาเชิงวิชาการตามหลักสูตรไปพร้อมกัน

 

ปรับรูปแบบคำถามข้อสอบให้ชัดเจน ยกคะแนนให้เด็ก

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Thira Woratanarat โดยระบุว่าคำแนะนำด้วยความปรารถนาดี เกี่ยวกับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นข่าวถกเถียงกันในช่วงนี้ ไม่ควรด่วนปลื้มอกปลื้มใจว่าข้อสอบดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดกระแสสังคม

ทั้งนี้ โดยแท้จริงแล้วการถกเถียงข้างต้นในวงกว้างนั้น มิได้สัมพันธ์โดยตรงกับการทำให้มีจิตสำนึกหรือความตระหนักที่จะเลือกของกินเพื่อไม่ให้โลกร้อน แต่กลับสะท้อนถึง social unrest ว่าข้อสอบอาจมีปัญหาสำหรับผู้สอบ คนจำนวนมากในสังคม ซึ่งรวมถึงนักวิชาการและอาจารย์หลากหลายวิชาชีพ ได้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นคำถามที่ตีความได้หลายแง่ ไม่ได้จำกัดขอบเขตของการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสม

"สิ่งที่ควรดำเนินการคือ น้อมรับคำร้องขอจากสาธารณะ เฉลยคำตอบพร้อมคำอธิบายอย่างละเอียด และระบุที่มาของแหล่งข้อมูลเพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงนำไปปรับรูปแบบคำถามให้ชัดเจนในอนาคต ทั้งนี้หากคำถามดังกล่าวสำหรับการสอบในปีนี้นั้นไม่ชัดเจน ก็ควรยกคะแนนข้อนี้ไปให้น้องๆ ทุกคนที่เข้าสอบ" นพ.ธีระ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากทำตามกระบวนการข้างต้นได้ น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่จะจุดประกายกระตุ้นให้เกิดการยกระดับการเรียนรู้ในทุกระดับ ทั้งในสถานศึกษา และในสังคมอยากขอเรียนเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดนำไปพิจารณา

 

ระบบการศึกษาเน้นท่องจำ ขาดการคิดวิเคราะห์

ขณะที่ นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าข้อสอบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นระบบการศึกษาไทยเน้นให้ท่องจำและขาดการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ โดยคำถามของข้อสอบมีความคลุมเครืออย่างยิ่ง และตัวเลือกทั้ง 4 ยิ่งคลุมเครือหนักขึ้นไปอีก

ความคลุมเครือของคำถามคือ

(1) คำว่า “สร้างก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งอาจเป็นชนิดของก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่คาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียว) ชนิดใดชนิดหนึ่ง/หลายๆ ชนิดก็ได้ หรือพิจารณาในแง่ Carbon Footprint ซึ่งคิดผลรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดก็ได้

(2) ความคลุมเครือของคำว่า “ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน…” เพราะก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดมีศักยภาพที่ทำให้เกิดโลกร้อน (Global Warming Potential) ต่างกันไป

พอคำถามมีความคลุมเครือ/กำกวม การหาคำตอบว่าข้อไหนถูกจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้ทำข้อสอบ บางคนอาจคิดจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการได้มาซึ่งไก่ หมู ปลาแซลมอนและสัตว์ทะเล(หมึก กุ้ง ฯลฯ) ว่าเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมหรือเลี้ยงแบบบ้านๆ บางคนอาจคิดจาก Carbon Footprint ของแต่ละเมนู บางคนอาจคิดไปไกลถึงห่วงโซ่อุปทาน(supply chain) ตั้งแต่ต้นจนจบของแต่ละเมนู

"การตั้งคำถามที่ชัดเจนและชาญฉลาดจึงมีความสำคัญ ข้อสอบ TGAT เมนูใดที่ทำโลกร้อนน้อยที่สุด” มีปัญหาจริงๆ  เพราะการตั้งคำถามไม่ได้นำไปสู่คำตอบที่เป็นความจริงหนึ่งเดียว" นายธารา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดว่า “การสร้างก๊าซเรือนกระจก” นั้นหมายถึง “Carbon Footprints” ต้องอย่าลืมว่า การเปรียบเทียบ Carbon Footprints นั้นไม่ง่ายเลยหากไม่ได้ใช้ Life Cycle Analysis(LCA) แบบเดียวกัน 

คำถามควรจะระบุด้วยว่า 4 เมนูอาหาร ดังกล่าว ทั้ง ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย  ราดหน้าหมู สเต็กปลาแซลมอน และสุกี้ทะเลรวมมิตร ใช้เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลาแซลมอน และเนื้อสัตว์ทะเล(สมมุติว่าเป็นกุ้ง) ในน้ำหนักที่เท่ากัน มาจากการผลิตทางอุตสาหกรรม ถึงจะเปรียบเทียบกันได้แบบเท่าเทียม เป็นต้น

คำถามที่ถามก็ไม่ได้ระบุอะไรที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ผู้ทำข้อสอบคิดวิเคราะห์หาคำตอบที่เป็น “ความจริงหนึ่งเดียว” ดังนั้น ต่อให้บอกว่าข้อสอบอ้างอิงจากมาตรฐานโลก อย่าหวังเลยว่าจะมีคำตอบที่เป็นความจริงหนึ่งเดียว

 

อาหารที่เรากินเกี่ยวกับโลกร้อนอย่างไร?

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (IPCC) เผยแพร่รายงานที่ศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ 107 คน ในการประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในประเทศตะวันตกที่มีปริมาณสูงมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของวงจรอาหารของมนุษย์ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนที่ตกมากขึ้น และสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์

อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารก็ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเช่นกัน เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมป่าไม้ กินสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ส่วนการเลี้ยงปศุสัตว์ก่อโลกร้อนด้วยการปล่อยก๊าซมีเทน รวมทั้งการทำให้พื้นที่ป่าลดลงจากการรูปแบบการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง

ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติและวีแกนหลายคนเปลี่ยนวิถีการบริโภคของตัวเองส่วนหนึ่งเพราะเหตุผลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ มีกลุ่มรณรงค์กลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักรที่ชื่อว่า #nobeef พยายามรณรงค์ให้ผู้ค้าอาหารเอาเนื้อวัวและแกะออกจากเมนูอาหารที่จัดให้นักเรียน

ส่วนในสหรัฐฯ เบอร์เกอร์แบบวีแกน (การงดบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบจากสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ปรุงจากพืชแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งรสชาติไม่มีความแตกต่างจากการใช้เนื้อจริงปรุง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของวงจรอาหารของมนุษย์ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนที่ตกมากขึ้น และสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์

องค์กรคอมแพชชั่น อิน เวิลด์ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการลดปัญหาด้านสภาวะภูมิอากาศให้ได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอย่างจีน การกินเนื้อวัวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามจากรัฐบาลจีนในการส่งเสริมให้กินอาหารพื้นถิ่น

รายงานของสหประชาชาติ ยังกระตุ้นให้หยุดการบริโภคอาหารแล้วเหลือทิ้ง ทั้งในขั้นก่อนและหลังที่จะขายให้กับผู้บริโภค ตัวอย่างของการลดการเกิดอาหารที่ไม่ถูกบริโภค อาจนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หรืออาหารตามร้านค้าที่ขายไม่หมดควรบริจาคให้กับผู้คนที่จำเป็น เช่น ที่สวิตเซอร์แลนด์มีองค์กรที่นำอาหารจากร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายไม่หมดและกำลังจะถูกทิ้ง นำไปส่งต่อให้กับครอบครัวในท้องถิ่น วิธีการเหล่านี้จะช่วย ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร

อ้างอิง: BBC NEWS ไทย