PTG จับมือ KU หนุน “เรียน-สอน-วิจัย” ปั้นบุคลากรคุณภาพ
PTG จับมือ KU ร่วมหนุน “เรียน-สอน-วิจัย” ปั้นบุคลากรคุณภาพ ดันนวัตกรรมไทยสู่ธุรกิจเต็มตัว เพื่อสร้างให้สังคมและคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้วยหลายปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและจากกระแสความเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานทั่วโลก กำลังเป็นความท้าทายของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในยุคปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องยกระดับเป้าหมายของ “สถานีบริการน้ำมัน” ในวันนี้ โดยอาจไม่ได้จำกัดแต่เพียงธุรกิจน้ำมันเป็นหลักอีกต่อไป
จากแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคและเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมันหลายรายพลิกบทบาท ปรับจากการเป็น “ปั๊มน้ำมัน” ในวันวาน ไปสู่การเป็น “touch point” ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นของผู้บริโภคยุคใหม่
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เป็นอีกหนึ่งสถานีบริการน้ำมันที่ยกระดับความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ “PTG” พยายามสร้าง “ความสดใหม่” ให้กับลูกค้าเสมอ รวมถึงในปี 2566 นี้ พีทีจียังตั้งเป้าเดินหน้าขยายสู่ธุรกิจนอนออยล์เต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขา “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” เป็น 1,500 สาขาทั่วประเทศ การปั้นแบรนด์ “PT Station” ให้เป็น service station ที่สร้างความสุขให้กับคนไทยด้วยมีจุดบริการ touch point 3,000 จุดทั่วประเทศ
ล่าสุด อีกหนึ่งความคืบหน้าในการขับเคลื่อนพัฒนาด้านนวัตกรรมองค์กร เมื่อ PTG เดินหน้าผนวกความร่วมมือเชิงวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการจัดกิจกรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University : KU) กับ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ลงนาม ร่วมกับ นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนางสุขวสา ภูชัชวนิชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน
พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า การร่วมมือกันครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรด้านการเกษตร ด้านการเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรและแหล่งวิทยาการ การพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งให้ความร่วมมือทุนวิจัยและทุนการศึกษา
“นับเป็นการพัฒนานิสิตที่ตอบสนองความต้องการตลาดแรงงาน และส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ของไทยให้เป็นที่ยอมรับนานาชาติ และการได้พัฒนาสินค้าภายใต้การพัฒนาของสถาบันการศึกษาไทยไปสู่ตลาด”
นอกจากนี้ PTG ยังให้ความสำคัญสูงสุดต่อคณาจารย์ นิสิต และบุคลากรมหาวิทยาลัย โดยให้ทุนการศึกษาวิจัยกลุ่ม บริษัทนำความรู้ในฐานะผู้ประกอบการมาผนวกรวมความรู้กับทางวิชาการและผลงานวิจัยของเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศ มั่นใจว่าจะร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทยอย่างแน่นอน
“จุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรนั้น เกิดจากที่ผมเองเป็นนิสิตเก่าของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้มีการร่วมกิจกรรมและสนับสนุนทางการศึกษาต่างๆ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เราได้มีโครงการให้ความร่วมมือในร่วมกันเปิดร้านค้าระหว่าง The Premium @KU และร้านกาแฟพันธุ์ไทย เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรของทางมหาวิทยาลัยร่วมกัน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อย่างไรก็ตาม PTG ในฐานะผู้ให้บริการในธุรกิจพลังงานครบวงจรในประเทศไทย ยินดีและพร้อมสนับสนุน บุคลากร และนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพันธกิจส่งเสริมพัฒนาด้านวิชาการ การวิจัย และกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะนิสิต จะได้มีโอกาสเรียนรู้งาน เรียนรู้ธุรกิจ และฝึกปฏิบัติจริง จากร้านค้าในกลุ่ม PTG ควบคู่ไปกับการเรียน เพื่อนำไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจในอนาคต นับเป็นการพัฒนาคุณภาพนิสิตที่ตอบสนองตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมไปถึงการสนับสนุนช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า หรือเป็นมาเก็ตเพลส ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยด้านนวัตกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ”
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีงานวิจัยประมาณ 4,000 กว่าเรื่อง มีบุคลากรที่ผลิตในแต่ละปีกว่าสองหมื่นคน มหาวิทยาลัยมีความยินดีที่จะร่วมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ศาสตร์แห่งแผ่นดินกับ บริษัท บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ในการผลิตบุคลากรด้านการเกษตรและเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าทางการเกษตร อย่างครบวงจรร่วมกัน ตลอดจนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่นิสิต บุคลากร และประชาชน นับเป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ที่สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างต้นแบบ สังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน สอดคล้องตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“เราอยากให้นิสิตมีประสบการณ์ในการเป็นผู้ประกอบการ สร้างนวัตกรรม มีบุคลากรในสถาบันการศึกษา ประการแรกคือสร้าง คน ผู้ประกอบการ เกษตรกร เป็นความร่วมมือระหว่างกัน มีการเรียนรู้ สอง เราส่งเสริมงานวิจัยร่วมกัน ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ด้านเกษตรต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยหลากหลายด้านนี้ การร่วมมือจะเป็นทั้งการลงทุนเอกชนบ้างและร่วมกันผลิต สาม เรามีความร่วมมือที่เอาผลงานนวัตกรรมที่มีความพร้อม ที่เกษตรศาสตร์มีอยู่มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ พัฒนาร่วมกัน ส่งเสริมการผลิตจำหน่ายผ่านเครือข่ายสถานีบริการทั่วประเทศของพีทีจีที่มีมากมาย”
ในความร่วมมือครั้งนี้ PTG จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจคนไทยมาผนวกรวมกับองค์ความรู้ทางวิชาการและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการศึกษาชั้นนำของประเทศ ทั้งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการขยายขอบเขตการสนับสนุนทางการศึกษา การพัฒนาทางด้านวิชาการ และงานวิจัยต่างๆ โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของนิสิตให้มีโอกาสได้เรียนรู้งาน เรียนรู้ธุรกิจ และฝึกปฏิบัติจริงจากร้านค้าในกลุ่ม PTG ควบคู่ไปกับการเรียน เพื่อนำไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจในอนาคต ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยด้านนวัตกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ เพื่อสร้างให้สังคมและคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งยังมุ่งมั่นเป็นแหล่งพลังงานที่สร้างความ “อยู่ดี มีสุข” ให้กับคนไทยตลอดไป โดยการบันทึกความเข้าใจร่วมกันครั้งนี้มีผลบังคับใช้ระยะเวลา 3 ปี