โรงเรียนเอกชนหลายแห่งวิกฤติ ส่อปิดกิจการ พยุงธุรกิจไม่ไหว

โรงเรียนเอกชนหลายแห่งวิกฤติ ส่อปิดกิจการ พยุงธุรกิจไม่ไหว

นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ยอมรับ "โรงเรียนเอกชน" หลายแห่งส่อวิกฤติปิดกิจการ กำลังเร่งช่วยเหลือ วอนรัฐปฏิบัติต่อครูและนักเรียนโรงเรียนรัฐกับเอกชนอย่างเท่าเทียม และยื่นมือแก้ไขปัญหาช่วยเหลืออย่างจริงใจ

(27 ก.พ.2566) ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนออกมายื่นหนังสือร้องเรียน หลังโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งแจ้งปิดกิจการกะทันหัน โดยให้เวลาผู้ปกครองล่วงหน้า 14 วัน ทำให้เตรียมตัวกันไม่ทันและได้รับผลกระทบอย่างหนักนั้น

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ ระบุว่า ตอนนี้ได้พูดคุยกับเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งทาง สช.ได้มอบหมายให้กองโรงเรียนสามัญประสานงานช่วยเหลือเรื่องการรับเด็กเข้าเรียน โดยมีโรงเรียนเอกชนอื่นๆเข้ามาช่วยด้วย แต่อาจจะมีผู้ปกครองบางรายที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายบ้าง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน ซึ่ง สช.กำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่ แต่ถ้าโรงเรียนดังกล่าวไม่ทำตามก็จะเป็นเรื่องยาว ทาง สช.ก็จะต้องเข้าไปควบคุมการดำเนินกิจการชั่วคราว ตามอำนาจที่ระบุในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะนี้ มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่กำลังประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน พยายามพยุงตัวเอง แต่หลายแห่งก็พยุงไม่ไหว แม้ว่า สช.จะพยายามเข้าไปช่วยในเรื่องงบประมาณและเงินทุนหมุนเวียนแล้วก็ตาม เพราะส่วนใหญ่เงินช่วยเหลือจาก สช.จะไปลงที่เด็กและผู้ปกครองเกือบทั้งหมด เช่น เงินเรียนฟรี ค่าหนังสือ ลดค่าเทอม เป็นต้น

แต่ยังมีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งในหลายจังหวัดที่ยังมีปัญหา ก็พยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเข้าไปช่วยเหลือดูแลอยู่ ซึ่งโรงเรียนเอกชนในต่างจังหวัดจะขึ้นอยู่กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ส่วนภาคใต้ 5 จังหวัดจะขึ้นอยู่กับสำนักงานการศึกษาเอกชน และในกรุงเทพฯ จะขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

และผลสำรวจที่ระบุว่า ผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม 3-4 พันล้านบาทนั้น เป็นผลพวงหลักมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้ปกครองขาดรายได้ ผลประกอบกิจการไม่ได้ ทำให้หลายรายค้างค่าเทอมจริง พอเข้าปี 2566 สถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น โรงเรียนสามารถเปิดได้ตามปกติ ทำให้สามารถเก็บค่าเทอมได้เต็มๆ แต่ในส่วนของผู้ปกครองที่ตกงาน ก็เพิ่งจะได้งานทำ ยังตั้งหลักไม่ได้ จึงยังจ่ายค่าเทอมได้ไม่เต็มจำนวน ในขณะเดียวกันโรงเรียนที่ไปต่อไม่ไหว จ่อจะปิดกิจการหลายแห่ง ซึ่งคาดว่าจะยื่นแจ้งก่อนจะปิดกิจการ 120 วัน ในกรณีมีเหตุจำเป็นจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ส.ปส.กช. พยายามผลักดันอย่างเต็มที่ ที่จะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กไทยไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนเอกชนหรืออโรงเรียนรัฐ ก็ควรได้รับสิทธิช่วยเหลือที่เท่าเทียมกัน เช่น เรื่องค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเป็นรายหัว เรื่องช่วยค่าเทอม เป็นต้น

เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ส่วนเรื่องเงินเดือนครู ความก้าวหน้าครู ก็ควรพิจารณาช่วยเหลือด้วย นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้ปกครองไม่มีเงินจ่าย แต่อยากจะนำลูกหลานมาเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน เพราะมองว่า โรงเรียนเอกชนมีครูที่ดูแลเด็กใกล้ชิดกว่า หรือจัดการเรียนการสอนดีกว่าโรงเรียนรัฐ จึงยืนยันที่จะนำลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน โดยขอผ่อนจ่ายค่าเทอมบุตรหลาน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชนด้วย

ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้ลงมาช่วยเหลือในเรื่องสิทธิเด็กและครูโรงเรียนเอกชน ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันกับโรงเรียนของรัฐ ขอให้มุ่งเป้าไปที่เด็กอนาคตของชาติเป็นสำคัญ ส่วนด้านอื่นๆ ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วนสุด ก็คือ สช.และสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน รวมถึงโรงเรียนเอกชนด้วยกัน พยายามเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนที่กำลังเกิดวิกฤติเพื่อประคับประคองให้เดินหน้าต่อไปได้

เพราะแม้ว่า สช.จะเป็นแหล่งเงินกู้ แต่ก็มีบางแห่งที่ไม่สามารถกู้ได้เพราะผิดหลักเกณฑ์ จึงไม่มีเงินมาหมุนเวียนกิจการ จึงต้องขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในกรณีนี้ด้วย เพราะการจะสร้างคนให้มีคุณภาพทางการศึกษา ภาครัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างจริงใจ ประเทศชาติจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้าน นายสมเกียรติ ชินโคตร รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีมารีย์บริหารธุรกิจ นครราชสีมา (MBAC) วิทยาลัยอาชีวะเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ของทางวิทยาลัยฯ ตอนนี้ปริมาณจำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน มีนักเรียนทั้ง ปวช.และ ปวส. รวม 823 คน ซึ่งต่างจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่มีนักเรียนอยู่ประมาณพันกว่าคน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเด็กส่วนใหญ่สนใจที่จะเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ อีกทั้งยังมีวิทยาลัยอาชีวะทั้งภาคเอกชนและภาครัฐภายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เปิดมากกว่า 20 แห่ง ยิ่งทำให้เด็กมีทางเลือกเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะเน้นไปเข้าเรียนวิทยาลัยอาชีวะของภาครัฐ

 

โรงเรียนเอกชนหลายแห่งวิกฤติ ส่อปิดกิจการ พยุงธุรกิจไม่ไหว

 

ทางวิทยาลัยเองก็พยายามที่จะพัฒนาในส่วนของการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับนักเรียน ทั้งทางเทคโนโลยี สื่อการเรียนการสอนต่างๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้ปกครองในการที่จะนำลูกหลานเข้ามาเรียน แต่อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า งบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่มาจากเงินค่าเทอม ซึ่งถ้าจำนวนนักเรียนในแต่ละปีมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้ผู้บริหารโรงเรียนจำเป็นต้องปิดสถานศึกษาลง

และถึงแม้ว่าโรงเรียนเอกชนต่างๆ จะได้เงินอุดหนุนจากทางรัฐบาล แต่อยากฝากไปยังรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐให้ช่วยสนับสนุนเรื่องของการพัฒนาบุคลากรครูผู้สอน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและทักษะในการสอนให้เพิ่มมากขึ้น

รวมไปถึงการสนับสนุนอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน รวมทั้ง เรื่องการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ยากจน เพราะนักเรียนส่วนหนึ่งที่มาเรียนที่นี่ ไม่ใช่ว่าจะมีเงินกันทุกคน และสุดท้ายคือ อยากให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของการบริหารวิทยาลัยอาชีวะในภาคเอกชน ทั้งในเรื่องของโปรแกรมการบริหาร การสนับสนุนบุคลากรในการให้ความรู้ รวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ในการพัฒนาวิทยาลัย เพื่อให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนและโรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาอยู่ให้มีทางรอดมากยิ่งขึ้น