บทบาทของครู...เมื่อหนังสือเรียนมีปัญหา | ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

บทบาทของครู...เมื่อหนังสือเรียนมีปัญหา | ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

จากข่าวที่ปรากฏขึ้นในกรณีเรื่องของหนังสือเรียนภาษาไทย ภาษาพาที ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีช่วงหนึ่งของหนังสือที่พยายามจะสอนเรื่องคุณค่าชีวิต ผ่านเรื่องราวของ ด.ญ.ใยบัว กินข้าวคลุกน้ำปลากับไข่ต้มครึ่งซีก

หนังสือเรียนต้องการสอดแทรกแนวคิดเรื่องของหลักเศรษฐกิจพอเพียง   จนเกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างแตกต่างหลากหลาย ถึงความเหมาะสมว่า

หากหนังสือเรียนเขียนเช่นนั้น นักเรียนจะได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ไม่ครบตามหลักโภชนาการตามที่ควรจะเป็น หากกินเพียงแค่ข้าวกับไข่ต้มเหยาะน้ำปลา

ผู้เขียนจึงขอแสดงความคิดเห็น ดังนี้  หนังสือเรียนเป็นสื่อการเรียนการสอนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเนื้อเรื่องตามที่หลักสูตรกำหนด สามารถนำมาช่วยพัฒนาทักษะของนักเรียน เช่น การอ่าน การเขียน เป็นต้น

หนังสือเรียนจะมีคุณค่ามีความหมายมากขึ้น หากครูนำมาใช้ประกอบการจัดการเรียนการสอนของตนผ่านการคิดอย่างรอบคอบและมีการวางแผน เพื่อให้นักเรียนได้ไปถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ

  นอกจากนักเรียนจะได้เนื้อหาและคุณค่าจากเรื่องที่อ่านแล้ว นักเรียนยังสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ในทางอ้อมได้ด้วย โดยผ่านการอภิปรายกันในห้องระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียน-นักเรียนได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น จากกรณีหนังสือเรียนนี้ เมื่อครูสอนให้นักเรียนอ่านจับใจความจากเนื้อเรื่องแล้ว   เมื่อมาถึงตอนที่เด็กๆ กินข้าวกับไข่ต้มเหยาะน้ำปลา ครูต้องนำพาให้นักเรียนคิดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

โดยหัดให้นักเรียนได้วิเคราะห์ถึงความเป็นเหตุเป็นผล ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ เปิดอภิปรายให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ครูอย่าปล่อยผ่านหรือให้นักเรียนอ่านเองโดยไม่ได้ขยายความหรือให้นักเรียนได้เรียนรู้คุณค่าแฝงที่อยู่ในบทเรียน  

การขยายความผ่านการถามตอบ การเปิดอภิปราย การใส่เกร็ดความรู้ต่างๆ จะทำให้เรื่องที่นักเรียนเรียนอยู่นั้นเกิดคุณค่าและเกิดความหมายอย่างแท้จริง  จากเนื้อเรื่องตอนที่มีปัญหา

หากอ่านบริบททั้งหมดของในหนังสือเรียนจะระบุอยู่แล้วว่า ข้าวปุ้นเป็นเด็กหญิงกำพร้า เลยพาใยบัวไปเที่ยวบ้านเด็กกำพร้าของเธอ เพื่อเรียนรู้ความเป็นอยู่ที่พอเพียง

ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนประถมศึกษาอยู่ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน บริบทแตกต่างกัน บางครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็จะได้รับการดูแลอย่างดี อยู่ดีกินดี  

ในขณะที่นักเรียนอีกหลายคนอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น สถานภาพทางครอบครัวอาจไม่ได้มีอาหารดีๆ ที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการให้ลูกหลานได้กินด้วยซ้ำไป

นักเรียนบางคนการมีข้าวกับไข่ต้มเหยาะน้ำปลาอาจเป็นอาหารที่ประเสริฐสุดสำหรับเขาแล้วก็ได้  

ด้วยเหตุนี้ ความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ กลุ่มคน วัฒนธรรม บริบท สภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ครูควรคำนึงถึงให้รอบด้านและรอบคอบ ในการนำมาสอดแทรกและสอนเสริมในบทเรียนไม่ว่าจะเรื่องใดหรือวิชาใดก็ตาม

เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ในหนังสือเรียนคงไม่สามารถบรรจุความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วนแน่นอน  

ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้ที่ควรนำมาแก้ไข คือจะทำอย่างไรให้นักเรียนตาดำๆ ในประเทศไทย ที่ไม่ใช่แค่ตัวละครในบทเรียนมีอาหารกินครบทุกมื้อ

เป็นอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการตามที่กุมารแพทย์แนะนำ ไม่ใช่แค่การแก้ไขในบทเรียนแล้วจบไป  

ผู้เขียนจึงขอฝากประเด็นเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในวงใหญ่นี้ให้ผู้ที่กำลังจะเข้ามาพัฒนาบริหารประเทศต่อได้ตระหนักถึงในการนำไปเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาทางด้านการศึกษาต่อไป

ข้อคิดเห็นจาก

ผศ.ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

สาขาวิชาประถมศึกษา

คณะครุศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย