เรียนรู้จากวอลเลย์บอลหญิง | วรากรณ์ สามโกเศศ
ทีมกีฬาไทยอะไรก็ไม่รู้ ดูแล้วสนุก ไม่ว่าเสียแต้มหรือได้แต้มก็สนุกสนานยิ้มหัวเราะจนคนดูอดสนุกไปด้วยไม่ได้ ไม่ว่าแพ้หรือชนะก็ตามคนดูติดกันงอมแงมทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังหน้าตาดีทั้งทีม มารยาทดี ยกมือไหว้ไปทั่ว ใครเห็นแล้วก็อดรักไม่ได้
ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึงทีมวอลเลย์บอลหญิงของไทยที่เพิ่งได้แชมป์เอเชียไปหมาด ๆ วันนี้ลองมาพิจารณากันว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีแง่คิดเพื่อเอามาใช้ประโยชน์กับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้
ทีมวอลเลย์บอลหญิงของไทยไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวาน หากพัฒนามายาวนานกว่า 20 ปี เป็นแชมป์หลายตำแหน่งหลายสมัย เมื่อสิบกว่าปีก่อนก็เคยเป็นแชมป์เอเชีย
ทั้งหมดมาจากการทำงานของสมาคมและโค้ชที่สร้างบรรยากาศสนุกสนานแห่งการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ ในทีมจนเป็นประเพณีและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ต้องขอบคุณนายกสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา ซึ่งได้แก่ คุณชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ คุณพงศ์โพยม วาศภูติ และคุณสมพรใช้บางยาง และโค้ชสองท่านคือ คุณเกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร (โค้ชอ๊อด) คุณดนัย ศรีวัชรเมธากุล (โค้ชด่วน) และสมาชิกในทีมทุกคนสำหรับผลงานอันยอดเยี่ยมที่ทำให้คนไทยมีความสุข
“การสร้างบรรยากาศของความสนุกสนานเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ” เป็นความจริงที่รู้กันมานาน
สำหรับเรื่องวอลเลย์บอล ผู้เล่นทุกคนอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ตลอดเวลานับตั้งแต่เป็นสมาชิกทีม ต้องเรียนรู้เรื่องวินัย วิธีคิด การเล่น ความประพฤติ ความเป็นทีม ความรักเพื่อนร่วมทีม การเสียสละฯลฯ
แม้แต่ในขณะแข่งขันผู้เล่นก็เรียนรู้อย่างไม่หยุดเช่นกัน ต้องเรียนรู้จุดแข็ง จุดอ่อนของทีมตรงกันข้าม เรียนรู้วิธีโต้กลับ วิธีรุกและรับเพื่อให้ได้แต้มและรักษาสปิริตของทีมให้ทั้งหมดเป็นไปในทิศทางที่โค้ชบอก
เมื่อบรรยากาศรอบล้อมเต็มไปด้วยความสนุกสนานก็เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จดังที่เห็น
บรรยากาศที่ผ่อนคลายในการเรียนรู้ ทำให้เกิดอารมณ์ที่เป็นบวก ผู้เรียนรู้สึกสนุก ไม่เครียด อยากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น อยากพัฒนาตนเองเช่นเดียวกับเพื่อน ๆ ที่รู้สึกอย่างเดียวกัน ประการสำคัญมีความรู้สึกที่ดีกับการเรียนรู้นั้น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง
ตัวอย่างเช่นพ่อแม่ที่เคี่ยวเข็ญให้ลูกเป็นนักว่ายน้ำ หรือเรียนไวโอลินเก่งเหมือนพ่อแม่ ถ้าไม่สร้างความรู้สึกที่ดีในการว่ายน้ำและเล่นไวโอลินแล้ว ลูกจะรู้สึกเบื่อหน่ายเป็นยาขม
ซึ่งความรู้สึกนี้อาจเกิดจากการที่พ่อแม่ผลักดันอย่างเข็มงวดกับลูกมากเกินไป แถมครูก็ดุ ทำผิดก็ถูกลงโทษ จนเครียด และในที่สุดก็เลิกเรียน
ในทางตรงกันข้ามถ้าพ่อแม่ไปว่ายน้ำหรือเล่นดนตรีโดยพาลูกไปด้วย พ่อแม่รู้สึกสนุกกับกิจกรรม ลูกก็จะรู้สึกสนุกและซึมซับความชอบไปด้วย เมื่อลูกตั้งใจเรียนรู้ก็มีคำชมให้กำลังใจ ต่อไปลูกก็จะตื่นเช้าไปว่ายน้ำ ฝึกเรียนไวโอลินเองเพราะสนุกกับการทำกิจกรรม
เรื่องทีมวอลเลย์หญิงของไทยนี้ ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนหนึ่งที่กล่าวถึงการศึกษาในปัจจุบันที่สร้างความเครียด จนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในทิศทางที่เหมาะสมไม่เกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย
อาจารย์ Deborah Stipek คณบดีคณะศึกษศาสตร์ มหาวิทยาลัย Stanford เขียนลงในนิตยสาร Science ในปี 2011 ให้ความคิดในเรื่องการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพที่น่าสนใจมาก
ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศมีแรงกดดันเยาวชนมหาศาลให้แข่งขันการเรียนในห้องเรียนให้เก่งชนะเพื่อน โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่ชีวิตที่สดใส ได้เรียนในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงของประเทศและของโลก สร้างความภาคภูมิใจให้ครอบครัวและความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
แต่การกระทำเช่นนี้กำลังทำลายหลายชีวิตที่ควรจะมีอนาคตที่สดใส ทำให้ไม่ได้เรียนรู้วิชาอย่างเป็นประโชน์ต่อชีวิต ไม่มีโอกาสได้รับความสุขตามวัย ไม่ได้พัฒนาร่างกายและบุคลิกภาพตลอดจนจิตใจ เพราะโรงเรียนมีระบบ “สอนเพื่อสอบ” และผู้เรียนก็ “เรียนเพื่อสอบ”
บรรยากาศของการศึกษาเช่นนี้ทำให้เกิดความเครียด รู้สึกว้าวุ่นวิตกกังวล และสร้างวัฒนธรรมการทุจริตคดโกงเพื่อให้ได้คะแนนมาก ๆ
การแก่งแย่งแข่งขันกันเช่นนี้ทำให้การเรียนในโรงเรียนหมดสนุก พ่อแม่และผู้เรียนมุ่งไปสู่เป้าหมายของการชนะในงานแข่งขันชิงรางวัลวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อสะสมแฟ้มประวัติสู่การได้รับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง โดยคิดว่าเป็นมาตรวัดอันสำคัญอย่างยิ่งยอดของความสำเร็จในอนาคตของลูก
งานวิจัยเรื่องแรงจูงใจของผู้เรียนพบว่า การมุ่งความสนใจไปที่ผลการเรียนอย่างเดียวทำลายคุณค่าที่อาจได้รับจากเนื้อหาวิชาที่เรียน อาจมีเด็กส่วนหนึ่งที่สนใจใฝ่เรียนรู้อย่างขยันขันแข็ง และทุ่มเทเล่าเรียนจนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนองได้ทั้งในวิชาการในหลักสูตร และในการพัฒนาตนเองในด้านอื่น ๆ อย่างน่าประทับใจ
แต่อาจมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพสูง หากแต่ว่าได้ทิ้งความสนใจในวิชาการไปเสียสิ้นเพราะโรงเรียนเอาแต่สอนแบบให้เตรียมตัวสอบ มากกว่าที่จะจัดการเรียนการสอนแบบให้ค้นหาคำตอบอย่างลึกซึ้ง ต่อคำถามที่มีความหมายสำคัญและเขาสนใจ
โรงเรียนสร้างความเครียดจนการเรียนรู้ไม่สนุกเพราะมุ่งแต่แข่งขัน มุ่งแต่ “สอนเพื่อสอบ” มิได้สอนเพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จนสังคมเสียโอกาสพัฒนาคนที่มีศักยภาพสูงจำนวนมากไปอย่างน่าเสียดาย
การเรียนเนื้อหาวิชาที่มากมาย อัดแน่นด้วยจำนวนชั่วโมง ให้การบ้านที่ต้องทำจน ดึกดื่น ต้องเรียนพิเศษในวันธรรมดาและและวันหยุด จนมิได้มีเวลาหย่อนใจ หรือสะท้อนคิดในสิ่งที่เรียนไป ไม่มีเวลาและโอกาสในการแสวงหาความรู้และทักษะที่ตนเองสนใจและอยากรู้
สิ่งเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนในยุคใหม่ที่ต้องการให้เด็กมีทักษะในการคิด ในการสื่อสาร ในการมีความคิดสร้างสรรค์ และในการทำงานร่วมกับผู้อื่น อีกทั้งมีทักษะชีวิต ทักษะสังคม มีความคิดความอ่านที่อยู่บนเหตุผลมิใช่อารมณ์ ตลอดจนมีบุคลิกภาพอันเหมาะสม
ปัจจุบันแนวคิดด้านการศึกษาที่ลดความเครียดในการเรียน ลดการแข่งขันและการ “สอนเพื่อสอบ” ลดการเรียนวิชาอย่างอัดแน่นในตารางเรียนของทุกวัน กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ
ไทยเราเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้ชนิด “อัดแน่น” เข้มข้นอย่างเครียดมายาวนาน ถึงเวลาแล้วที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางใหม่ของโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงยิ่ง
เรารู้ได้อย่างไรว่าวิชาที่เรียนกันอย่าง “อัดแน่น” มายาวนานอย่างเครียดนั้นจะใช้ได้ทั้งหมดกับโลกที่เปลี่ยนแปลงสุด ๆ ในอนาคต
เราควรเรียนเนื้อหาสำคัญ ๆ ที่พอให้มั่นใจได้ว่าไม่หลุดไปจากโลกสมัยหน้า และเอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นที่มีคุณค่าในการเรียนรู้เพื่อปรับตัว และทำให้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะไม่ดีกว่าหรือ