หาแรงบันดาลใจจากคนดัง ‘ตั้งคำถาม’ คือ จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เปิดแรงบันดาลใจในชีวิตจากการตั้งคำถามของคนดังผู้ได้รับรางวัล “เอ๊ะ? Awards by TK Park” เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายการเรียนรู้กว่า 30 องค์กร จัดงาน “Learning Fest Bangkok 2023” หรือ เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ 2023 ภายใต้ธีม "Wonderlearn - สงสัยให้สุด เป็นมนุษย์ไม่หยุดเอ๊ะ" เป็นครั้งแรกในเมืองไทย ระหว่างวันที่ 14-17 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ไฮไลต์พิเศษของงานคือการมอบรางวัล “เอ๊ะ? Awards by TK Park” ให้แก่บุคคลต้นแบบ เพื่อสร้างความเป็นไปได้และการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนสังคมได้ ทั้งสิ้น 10 รางวัล ซึ่งผู้ได้รับรางวัลแต่ละคนได้ฝากแรงบันดาลใจในการตั้งคำถาม ประกอบด้วย
- พริษฐ์ วัชรสินธุ - รางวัล “ไม่เอ๊ะ? ได้ไง เรื่องใกล้ตัว”
ในฐานะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมตระหนักรู้และสงสัยในสิ่งใกล้ตัว พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การตั้งคำถามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบประชาธิปไตยออกแบบมาให้มีฝ่ายค้านเป็นตัวแทนประชาชนตั้งคำถามกับนโยบายของรัฐบาล และเสนอแนะนโยบายที่อาจไม่ตอบโจทย์กับประชาชน ขณะที่รัฐบาลก็ได้ทบทวนนโยบายของตนเองผ่านการตั้งคำถามของประชาชน และมีโอกาสได้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจมากยิ่งขึ้น
พริษฐ์กล่าวต่อว่า “การตั้งคำถามต่อรัฐบาลไม่ควรเกิดขึ้นแต่ในสภาเท่านั้น แต่นอกสภาก็สำคัญเช่นกัน ประชาชนมีสิทธิ์ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะอำนาจที่รัฐบาลใช้ในการบริหารประเทศเป็นอำนาจที่ประชาชนมอบให้ชั่วคราว และงบประมาณที่รัฐบาลใช้อยู่ล้วนมาจากภาษีของประชาชนทุกคน” ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “อยากให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ทุกคนหมั่นตั้งคำถามสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และขอให้รัฐบาลมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะแก้โครงสร้างและกฎหมายกับคนที่ตั้งคำถามไม่ถูกใจ และส่งเสริมให้ประชาชนตั้งคำถามตลอดเวลา”
- วิธิต อุตสาหจิต - รางวัล “เอ๊ะ? ก่อนได้เปรียบ”
ขายหัวเราะเป็นหนังสือการ์ตูนแก๊กที่อยู่คู่ไทยมามากกว่า 40 ปี อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นการอ่านของเด็กไทยหลายคน ซึ่งมี “วิธิต อุตสาหจิต” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนักเขียนการ์ตูนทุกคน ในฐานะบรรณาธิการหนังสือในเครือบรรลือสาส์น โดยวิธิตกล่าวว่า สำหรับเขาแล้ว การ์ตูน คือการนำประสบการณ์มาดัดแปลงเป็นจินตนาการ ต่อยอดออกมาให้เป็นความคิดสร้างสรรค์ และถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะ ในการหยิบนำสิ่งใกล้ตัวมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน
“อย่าจำกัดจินตนาการของเรา ทุกความฝันเป็นไปได้หมด ถึงเราจะไปไม่ถึงจุดที่ฝันไว้ แต่อย่างน้อยเราก็ลองทำตามความฝัน”
- ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล - รางวัล “เพราะเอ๊ะ? จึงต้องเรียนรู้”
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการทำงานตลอด 30 ปี พบว่า การเรียนรู้ส่งผลให้ได้เห็นโลกกว้าง นำมาสู่ความสงสัยใคร่รู้ จนกลายเป็นการตั้งคำถาม และคำถามก็เหล่านั้นก็ทำให้ตนเองอยากเรียนรู้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ คำถามที่นำมาตั้งกับสังคมล้วนมาจากประสบการณ์ของตนและลูกศิษย์ที่เป็นครูในโรงเรียน คำถามของผู้เรียนต้องได้รับคุณค่ามากกว่านี้ เพราะคำถามที่ดีจะช่วยพัฒนาตนเอง และเปลี่ยนสังคมได้ คำถามที่ดีจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เด็กพูดได้ เพราะฉะนั้นอย่าละเลยคำถามของเด็ก ๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ตั้งคำถาม ประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กทำให้เกิดคำถามมากมาย ทำให้สังคมก้าวหน้าได้
- ภูวนาท คุนผลิน - รางวัล “เอ๊ะ? ให้รู้”
“อั๋น - ภูวนาท คุนผลิน” หนึ่งในพิธีกร ผู้ดำเนินรายการแห่งยุค เป็นผู้ที่ตั้งคำถามกับประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยความคิดว่า ทุกเรื่องต้องพูดได้ เพื่อให้เกิดสังคมสร้างสรรค์ เชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันตั้งคำถาม ไม่ว่าท้ายสุดแล้วจะได้คำตอบหรือไม่ แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้กาละเทศะ อย่างน้อยที่สุดการเอ๊ะขึ้นมาจะทำให้ทุกคนได้หยุดคิด
“เราอาจเคยได้ยินว่าเก่งไม่กลัว กลัวช้า แต่บางทีไม่จำเป็นต้องเร็วเสมอไป ช้ายังไม่น่ากลัวเท่าช้าแล้วผิด แต่ผิดก็ยังไม่น่ากลัวเท่าไม่รู้ว่าผิด รู้ตัวว่าผิดไม่น่ากลัวเท่าไม่ยอมรับผิด การยอมรับผิดในใจก็ไม่น่ากลัวเราไม่ยอมขอโทษ”
ภูวนาททิ้งท้ายว่า แม้วันหนึ่งเราจะตั้งคำถามแล้วผิด แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ช่วยกันหาคำตอบ และจำเป็นต้องเปิดใจกว้าง ให้อภัยกันบ้าง เข้าใจกันมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกันทั้งหมด หรือตัดสินกันทุกครั้ง
- กรุณา บัวคำศรี - รางวัล “เอ๊ะ? นี่หรือคือโลกกว้าง”
จุดเริ่มต้นของ “กรุณา บัวคำศรี” นักข่าว พิธีกร และนักสารคดี มาจากการตั้งคำถามทุกสิ่งรอบตัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ พยายามหาคำตอบในสิ่งที่ตนสงสัยมาเสมอ เมื่อเติบโตขึ้นการตั้งคำถาม ทำให้กลายเป็นนักข่าว ผู้เดินทางรอบโลกทำให้หาคำตอบมากยิ่งขึ้น พร้อมกับได้ส่งต่อคำตอบและสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ไปยังผู้ชมที่มีความสงสัยเหมือนกัน
- ฐปณีย์ เอียดศรีไชย - รางวัล “ถาม ให้หายเอ๊ะ?”
“ถ้าใครเป็นนักข่าว แล้วไม่เอ๊ะ อย่าเป็นนักข่าว” นี่คือสิ่งที่ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters บอกกับคนรุ่นใหม่ทุกคน เพราะการตั้งคำถามเป็นหน้าที่ของนักข่าว จนนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม เช่น เรื่องโรฮิงญา เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่สังคมไม่เข้าใจ การตั้งคำถามและการนำเสนอของเธอ แต่เธอย่อท้อ นำเสนอประเด็นนี้ต่อจนสาวไปถึงขบวนการค้ามนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วสังคมได้เรียนรู้ร่วมกันและเข้าใจ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของนักข่าวที่ต้องหาคำตอบให้สังคม นอกจากจะได้ช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาแล้วยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้สังคม
“สุดท้ายการเอ๊ะของเรา ทำให้คนเห็นค่าความเป็นคน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
- ชานน สันตินธรกุล - รางวัล “แรงบันดาลเอ๊ะ?”
“นนกุล - ชานน สันตินธรกุล” นักแสดง ศิลปินที่มีแฟนคลับทั่วเอเชีย เปิดเผยว่าวันแรกที่เข้าสู่วงการ เขาไม่มั่นใจในตนเองเลย และไม่ได้มีทั้งหน้าตา รูปร่าง การแสดงที่ดีเหมือนคนอื่น แต่นนกุลมีเพียงความรักในการทำงาน จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่า “เราต้องทำอย่างไรถึงจะเก่งขึ้น” เขาจึงเริ่มเรียนรู้ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ศึกษาและรับแรงบันดาลใจจากคนรอบข้างจนสามารถมายืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
“เราต้องมีเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีหลักการชีวิตในแบบฉบับของตัวเองให้แน่วแน่ รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการอะไร โดยผ่านการตั้งคำถามกับตนเองเรื่อย ๆ แล้วระหว่างการเดินทางของคุณ เรื่องราว ประสบการณ์การใช้ชีวิต มันจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างได้อัตโนมัติเองไม่มากก็น้อย”
- นันทภัค กิตติรัตนวิวัฒน์ - รางวัล “เอ๊ะ? ไร้ขีดจำกัด”
แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษามือของ นันทภัค กิตติรัตนวิวัฒน์ หรือ “เฟม BNK48” มาจากกลุ่มแฟนคลับที่เป็นผู้พิการทางการได้ยินที่ทำให้เธออยากจะสื่อสารกับพวกเขา และเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนพวกเขา ให้ทุกคนได้หันกลับมามองว่า ในประเทศของเรายังมีคนกลุ่มนี้อยู่ คนที่อาจจะไม่เหมือนเรา แค่แตกต่างที่เขาไม่ได้ยิน มองไม่เห็น อยากให้ทุกคนเปิดใจ เข้าใจในส่วนของเขา เรียนรู้ไปด้วยกัน
“ภาษามือแม้ว่าจะไม่ได้ยิน แต่พวกเราได้ยินคุณเสมอ”
- เวอาห์ แสงเงิน - รางวัล “เอ๊ะ? อย่างไรให้แข็งแรง”
หากพูดถึงหนึ่งนักแสดงรุ่นใหม่ที่มีรูปร่างดีและเป็นต้นแบบของการดูแลตนเองจะต้องมีชื่อของ “จอส - เวอาห์ แสงเงิน” อย่างแน่นอน จอสเริ่มเล่นกีฬามาตั้งแต่มัธยม ซึ่งวินัยและการทุ่มเทจากออกกำลังกายมาใช้ในการพัฒนาการแสดง นอกจากเขายังนำการรู้แพ้รู้ชนะมาปรับตัวใช้ในชีวิตด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “You don’t lose, You learn”
- กรภัทร์ เกิดพันธุ์ - รางวัล “แต่เอ๊ะ? จนโต”
“นนน - กรภัทร์ เกิดพันธุ์” นักแสดงรุ่นใหม่ขวัญใจคนทั้งประเทศเติบโตมาในครอบครัวที่มีความแตกต่างกัน ทั้งวัย สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู แนวคิด แต่ในความแตกต่างก็ทำให้ทุกคนค่อย ๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน เข้าใจกันมากขึ้น และทำให้นนนรู้ว่าต้องตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เพื่อทำให้เราเข้าใจมากขึ้น หรือบางอย่างคิดว่ารู้อยู่แล้ว แต่เราต้องเราด้วยตนเองถึงจะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) กล่าวว่า การเรียนรู้ว่าเริ่มต้นจากการ “เอ๊ะ” ที่นำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ และการ “เอ๊ะ” ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโลกได้อีกด้วย