เสียงเตือนวิกฤติ "ทักษะ" จากธนาคารโลก

เสียงเตือนวิกฤติ "ทักษะ" จากธนาคารโลก

ปลายเดือนที่แล้ว ธนาคารโลกออกรายงาน “ปลูกฝังทักษะพื้นฐานในประเทศไทย” (Fostering Foundational Skills in Thailand) งานวิจัยเป็นที่ฮือฮามาก 

เพราะเสนอข้อมูลว่า คนไทยในวัย 15-64 ปี ส่วนใหญ่มีทักษะพื้นฐานที่จําเป็นต่อชีวิตประจําวัน คือ ทักษะการอ่าน ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม ตํ่ากว่าระดับเริ่มต้นที่ควรมี

ทําให้คนไทยเสียรายได้เสียโอกาสในการทํามาหากินและประเทศเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ถึงช่องว่างในการทำหน้าที่ของภาครัฐที่สร้างผลเสียหายระยะยาวต่อประเทศ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ใครที่กําลังมองหาวิกฤติควรอ่านรายงานของธนาคารโลกล่าสุดเกี่ยวกับประเทศไทย เป็นรายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับทักษะคนไทย 

โดยธนาคารโลกจั่วหัวว่ารายงานฉบับนี้ต้องการสื่อสารถึงผู้ทํานโยบายและนักการศึกษาของไทย ถึงปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขที่คนไทยจํานวนมากมายขณะนี้ ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ขาดทักษะพื้นฐานที่จะเผชิญความท้าทายหรือช่วงชิงโอกาสในทศวรรษที่ 21

ทักษะพื้นฐานในที่นี้หมายถึงความสามารถพื้นฐาน เช่น การอ่าน การใช้อุปกรณ์ดิจิทัล และการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่จะทำให้ประชากรของประเทศสามารถดําเนินชีวิตและแก้ปัญหาที่เกิดในชีวิตประจำวันได้

เช่น ซื้อของออนไลน์ อ่านคําแนะนําในการใช้ยา หรือมีส่วนร่วมกับคนอื่นระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหา

ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่ทักษะเฉพาะเจาะจงสําหรับงานหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่เป็นทักษะพื้นๆ ที่ต้องใช้ และใช้ได้ (relevant) กับทุกสถานการณ์ตลอดช่วงชีวิต

คําถามคือ ทําไมธนาคารโลกมาทําวิจัยเรื่องนี้ในบ้านเรา ไม่กลัวรัฐบาลโกรธเอาหรือถ้าผลออกมาไม่ดี เรื่องนี้ธนาคารโลกระบุชัดว่า เป้าหมายของงานวิจัยคือ ต้องการให้ทราบถึงขนาดของปัญหาทักษะที่ประเทศเรามี 

ซึ่งธนาคารโลกสรุปว่าประเทศไทยมีวิกฤติเรื่องทักษะ ต้องการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่รัฐบาลกําลังทําอยู่เพื่อแก้ปัญหา และต้องการเสนอความเห็นและคําแนะนำในการแก้ปัญหา

ในประเด็นแรก ขนาดของปัญหา ธนาคารโลกนําเสนอข้อมูลว่า

1.เกือบสองในสาม คือร้อยละ 64.7 ของคนวัยทํางานอายุระหว่าง 15-64 ปี มีทักษะด้านการอ่านตํ่ากว่าระดับเริ่มต้น (Threshold Level) คือไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น อ่านฉลากและเข้าใจคําแนะนําการใช้ยา

2.ประมาณสองในสามหรือร้อยละ 74.1 ของคนวัยดังกล่าวคือ 15-64 ปี มีความสามารถหรือทักษะพื้นฐานต่ำในการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือดิจิทัล 

หมายถึงการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น คีย์บอร์ด แล็บท๊อป หรืออุปกรณ์ชี้ด้วยแสง คือ Pointer ที่ใช้ไม่เป็น ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สื่อสารทํางานอย่างง่ายๆ เช่น หาข้อมูลราคาสินค้า หรือเข้าเว็บสินค้าออนไลน์

3.ร้อยละ 30.3 ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม (Socioemotional skill) ตํ่ากว่าระดับเริ่มต้นที่ควรจะมี พิจารณาจากที่คนกลุ่มนี้ขาดหรือไม่มีแนวโน้มที่จะริเริ่มประเด็นที่เป็นของส่วนรวมหรือสังคม หรือสนใจ หรือกระตือรือร้น หรือมีจินตนาการ

นี่คือผลวิจัยของธนาคารโลกซึ่งผมเห็นข้อมูลเหล่านี้แล้วก็ไม่อยากเชื่อ และตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะคนอายุ 15-64 ปี เกือบทั้งหมดคือคนในวัยทำงาน ซึ่งร้อยละ 67 คือกําลังแรงงานของประเทศขณะนี้ประมาณ 35 ล้านคน

แต่พอเจาะข้อมูลในรายละเอียดก็ชัดเจนว่าอาจเป็นวิกฤติจริง เป็นวิกฤติที่รุนแรงเฉพาะวัยและเฉพาะพื้นที่ 

คือวิกฤติทักษะประเทศเราเป็นปัญหาของประชากรอายุมากกว่า 40 ปี เป็นปัญหาของคนหนุ่มสาวที่ระดับการศึกษาตํ่ากว่าปริญญาตรี และเป็นปัญหาของประชากรในชนบท โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้ กล่าวคือ

การขาดทักษะดิจิทัลพื้นฐานจะรุนแรงสุดในประชากรอายุมากกว่า 40 ปีในอัตราถึงร้อยละ 80 และพบมากสุดคือร้อยละ 83.7 ในภาคใต้

ทักษะการอ่านที่ตํ่าพบมากสุดในคนวัยหนุ่มสาวที่การศึกษาไม่ถึงระดับปริญญาตรี พบมากถึงร้อยละ 60 และกระจุกตัวมากสุดในภาคเหนือคือร้อยละ 89

ขณะที่ร้อยละ 33 ของคนกลุ่มอายุ 15-64 ปีในชนบทมีแนวโน้มที่จะไม่พร้อมลองไอเดีย หรือทดลองสิ่งใหม่ๆ เทียบกับร้อยละ 27.1 ของประชากรในเขตเมือง

ธนาคารโลกรายงานว่ารัฐบาลไทยก็ตระหนักถึงปัญหานี้และได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหา เช่น วางมาตรฐานทักษะที่คนในประเทศควรมีในระดับการศึกษาต่างๆ รวมถึงระดมเครื่องมือต่างๆ ที่จะปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ภาครัฐกําลังทําอยู่

สำหรับการแก้ปัญหา ธนาคารโลกแนะนำให้เริ่มโดยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เช่น นักการศึกษา ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่ประเทศมี และแก้ปัญหาโดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและขยายการเข้าถึงการเรียนการสอนอย่างทั่วถึง

ปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน โดยเน้นคุณภาพรวมถึงความสามารถของครูผู้สอน และยกระดับการสื่อสารเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ในความเห็นของผม นี่คือปัญหาโครงสร้างสำคัญอีกปัญหาหนึ่งของประเทศเราที่ฉุดรั้งความสามารถในการหารายได้และการเติบโตของประเทศ เป็นปัญหาที่สะท้อนความเหลื่อมลํ้าที่ประเทศมีในมิติต่างๆ และต้องขอบคุณธนาคารโลกที่นําเสนอประเด็นปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา

ในแง่เศรษฐกิจ ถ้าคุณภาพหรือทักษะของคนส่วนใหญ่ของประเทศตํ่า ความสามารถในการหารายได้ของคนในประเทศก็จะต่ำ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของอํานาจซื้อ การลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทําให้วิชันหรือการวาดฝันของรัฐบาลในนโยบายต่างๆ ที่จะผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้น เพราะประเทศไม่มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพพอที่จะรองรับและขับเคลื่อนการเติบโต

เราทราบกันดีว่า ระบบเศรษฐกิจจะไปได้ดีหรือไม่ ปัจจัยสำคัญก็คือคุณภาพประชากร ทั้งความรู้ ทักษะ และการใช้เหตุใช้ผลในการตัดสินใจ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตผลของระบบการศึกษาของประเทศ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างทรัพยากรบุคคลหรือพลเมืองที่มีคุณภาพ 

งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ชัดเจนว่าเราคงล้มเหลวในเรื่องนี้ที่ระบบการศึกษา โดยระบบราชการไม่สามารถทําให้ประชากรส่วนใหญ่มีความรู้ ความสามารถและทักษะอย่างที่ควรจะมี เป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข และถ้าช้าจะบั่นทอนอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างว่าทำไมการปฏิรูปจึงสำคัญต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและผลักดันให้ประเทศเจริญเติบโต

เสียงเตือนวิกฤติ \"ทักษะ\" จากธนาคารโลก

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]