เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ช่วยเพิ่ม GDP ประเทศได้
ระบบการศึกษาไทยต้องมีความยืดหยุ่น ช่วยเด็กที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษาได้มีโอกาสเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เพิ่มทางเลือกชีวิต นำไปสู่แรงงานในตลาดงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
รายงานขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่เกิดจากปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาไว้ถึง 1.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คำนวณว่า หากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 3% เพราะปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษาเท่านั้น แต่กระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และหากประเทศไทยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไทย จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมาจากการที่เด็กเหล่านั้นสามารถเข้าสู่ตลาดงาน สร้างธุรกิจ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีรายได้จ่ายภาษีให้ประเทศนั่นเอง
ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า มีเด็กที่อนุบาล 1 - ม.6 หลุดออกจากระบบการศึกษา 1.02 ล้านคนในจำนวนนี้มีระดับ ป.1 - ม.3 หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ 3.94 แสนคน ส่วนใหญ่จะเด็กย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ไปหางานทำในหัวเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานในระบบสัญญาจ้างระยะสั้น และเป็นสัญญาจ้างรายวัน หรือทำงานก่อสร้างต้องย้ายถิ่นไปตามสถานที่ทำงาน เด็กในช่วงอนุบาลเกือบครึ่งล้านคนไม่ได้เข้าโรงเรียน โดยกรุงเทพมหานครมีเด็กนอกระบบมากที่สุด
ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรายได้ลดลง บางรายถูกปรับลดค่าจ้างรายวันจากที่ได้ 200-300 บาท อาจจะเหลือเพียง 100-150 บาท ส่วนใหญ่จะไม่ได้ให้ลูกหลานเข้าเรียนหนังสือทันที เพราะต้องประเมินว่าจะทำงานอยู่ในจังหวัดนั้นๆ นานแค่ไหน ถึงจะให้ลูกหลานเข้าเรียนได้ จึงทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งตกหล่นจากระบบการศึกษา หรือบางคนเมื่อรายได้พ่อแม่ลดลง จึงจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวไปด้วย
นโยบาย “Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” จึงต้องทำให้ระบบการศึกษาไทยมีความยืดหยุ่น ให้เด็กที่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะหลุดไปจากระบบการศึกษาได้มีโอกาสเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เพิ่มทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตเป็นรายบุคคล
ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย รัฐบาลออกมาตรการแรงจูงใจทางภาษีให้ภาคเอกชนที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้รับการลดหย่อนภาษี เพื่อทำให้จำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาค่อยๆ ลดลงจากหลักล้านเหลือหลักแสนคนได้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต