"โรงเรียนนานาชาติ" โตสวนกระแส 1 แสนล้านบาท เปิด 10 แห่งมาแรง! คนเรียนมากสุด
แม้อัตราการเกิดของประเทศไทยลดน้อยลง แต่สวนทางกับการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มมากขึ้น สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) เปิดเผยว่ามูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทต่อปี
KEY
POINTS
- มาแรงต่อเนื่อง! ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมูลค่า 1 แสนล้านบาทต่อปี มีอัตราการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงเมืองท่องเที่ยวเติบโตมากกว่า 100% และที่ตั้งอยู่นอกเมืองเติบโตมากกว่า 10 - 50%
- ปัจจัยที่ทำให้ รร.นานาชาติเติบโต แม้อัตราการเกิดน้อย มาจากค่าเทอมที่ไม่สูงมาก หลักสูตรได้มาตรฐาน ชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในไทย ต้องการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ทำเลที่ตั้งเหมาะสม
- เช็ก 10 อันดับโรงเรียนนานาชาติในไทย ที่มีผู้เข้าเรียนมากสุด เพราะต่อให้ค่าเทอมสูง แต่ผู้ปกครองพร้อมจ่ายเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก
แม้อัตราการเกิดของประเทศไทยลดน้อยลง แต่สวนทางกับการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มมากขึ้น สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) เปิดเผยว่า มูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทต่อปี และโรงเรียนนานาชาติทุกแห่งมีอัตราการเติบโตเพียงมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงเมืองท่องเที่ยวเติบโตมากกว่า 100% แต่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเติบโตมากกว่า 10 - 50%
โดยมีโรงเรียนนานาชาติที่เป็นสมาชิก ISAT จำนวน 170 กว่าแห่ง และมีนักเรียนในเครือของสมาชิกประมาณ 80,000 คน มีครูประมาณ 8,000 คน ฉะนั้น ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยมีแนวโน้มในทิศทางบวก ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติขยายตัวจากการขยายตัวของจำนวนคนไทย ผู้มีความมั่งคั่งสูง รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในไทย เป็นกลุ่มศักยภาพทางการเงินสูง ต้องการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรที่ได้มาตรฐาน
รวมทั้งผู้ปกครองประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ประเทศจีน นิยมส่งลูกหลานมาเรียนในประเทศไทย เนื่องจาก ค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยของโรงเรียนนานาชาติอยู่ในระดับราคามีความหลากหลายเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 1.25 แสนบาทต่อปี ไปจนถึงประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี กลุ่มคนมั่งคั่งยินดีจ่ายเพื่อแลกกับคุณภาพการศึกษาที่ยอดเยี่ยมเป็นมาตรฐานสากลแก่ลูกหลาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โรงเรียนนานาชาติไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี
ขณะที่ทำเลที่ตั้งของโรงเรียนนานาชาติเน้นในเมืองใหญ่ ทำเลที่ตั้งของโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่เจาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองสำคัญที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และการค้า เช่น ชลบุรี ที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาเขต เศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมถึงภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว และการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค รวมทั้ง จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รองรับอุปสงค์ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง
10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 10% ต่อปี ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด จำนวนโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการขยายตัวเฉลี่ย 4% ต่อปี ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี ส่งผลให้สัดส่วนจำนวนโรงเรียนนานาชาติในต่างจังหวัดปรับตัวสูงขึ้นจาก 34% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติ
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเผยระหว่างปี 2563 – 2566 จำนวนโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 33 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 19 แห่ง, ชลบุรี 3 แห่ง, เชียงใหม่ 2 แห่ง และสมุทรปราการ นอกจากนี้ กระจายอยู่ใน 9 อาทิ นนทบุรี, ลพบุรี, อุดรธานี, ลำปาง, เชียงราย, กำแพงเพชร, สุราษฎร์ธานี และสงขลา พื้นที่ละ 1 แห่ง
โดยข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2566 จำนวนโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีทั้งหมด 234 โรงเรียน กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ อาทิ กรุงเทพมหานคร 122 แห่ง, เชียงใหม่ 20 แห่ง, ชลบุรี 13 แห่ง, ภูเก็ต 12 แห่ง, สมุทรปราการ 10 แห่ง, นนทบุรี 8 แห่ง และสุราษฎร์ธานี 7 แห่ง
แนวโน้มปีการศึกษา 2567 คาดว่าจะมีจำนวนโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่เพิ่มขึ้นอีก ทั้ง กรุงเทพฯ, ชลบุรี, เชียงใหม่, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
โรงเรียนนานาชาติทั่วโลก มากกว่า 14,000 แห่ง
นอกจากนั้น รายงานประจำปี 2024 โดย ISC Research ระบุว่า มี โรงเรียนนานาชาติทั่วโลก มากกว่า 14,000 แห่ง มีนักเรียน 6.9 ล้านคนทั่วโลก และมีครูมากกว่า 664,000 คน เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว รายได้รวมจากค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติทั่วโลกในปีนี้คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเติบโตว่าประเทศไหนมีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ตามลำดับดังนี้
- อันดับ 1 อินเดีย เพิ่มขึ้น 10% มี 923 แห่ง
- อันดับ 2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มขึ้น 9% มี 748 แห่ง
- อันดับ 3 จีน เพิ่มขึ้น 6% มี 1,106 แห่ง
- อันดับ 4 เวียดนาม และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 5% (รายงานไม่ได้ระบุจำนวนโรงเรียนที่แน่นอนในสองประเทศนี้)
ทั้งนี้ หากวัดตามจำนวนโรงเรียน ไม่ได้วัดอัตราการเติบโต พบว่า จีนและอินเดีย มีโรงเรียนนานาชาติมากที่สุด ที่ 1,106 แห่ง และ 923 แห่ง ตามลำดับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 784 แห่ง ปากีสถาน 598 แห่ง บราซิล 415 แห่ง
รายงานจาก ISC ระบุว่า ครอบครัวชาวจีนจำนวนมากกำลังย้ายไปประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ไทย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งพวกเขาก็จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ
ขณะเดียวกันสถิติในเอเชียมีโรงเรียนนานาชาติมากที่สุด คิดเป็น 57% ของโรงเรียนนานาชาติทั้งหมดทั่วโลก ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ 14-15%
ฝ่ายวิจัยของ ISC ตั้งข้อสังเกตว่าความต้องการโรงเรียนนานาชาติในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา รวมทั้งรายได้รวมของโรงเรียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยโรงเรียนหลายแห่งรายงานว่าค่าเล่าเรียนต่อปีอยู่ที่ 500-900 ล้านเวียดนามดอง (20,150-36,270 ดอลลาร์) เฉลี่ยตั้งแต่ 7 แสนถึงเกือบ 1.3 ล้านบาทต่อปี
อัตราการเกิดเด็กน้อยลง ส่งผลพ่อแม่มีกำลังซื้อมากขึ้น
นายปรมิตร ศรีกุเรชา อุปนายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) กล่าวว่า อัตราการเกิดเด็กที่น้อยลง ทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องแข่งขันมากขึ้นเรื่องคุณภาพ เพราะพ่อแม่มีกำลังซื้อสำหรับเด็กคนเดียวมากขึ้น จึงเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก จำนวนนักเรียนที่มากขึ้น ไม่เพียงนักเรียนต่างชาติ แต่ในแง่นักเรียนไทย ผู้ปกครองสนใจ และส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น
นอกจากนั้น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นภาษาที่จำเป็นต่ออนาคต และตอนนี้โรงเรียนนานาชาติทุกโรงเรียนมีหลักสูตรภาษาจีนเข้าไปส่งเสริม ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งเสริมให้ธุรกิจนานาชาติเติบโตมากขึ้น และในส่วนของสมาคมผลักดันการศึกษามีการอบรม พัฒนาครูให้มีคุณภาพเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพต่อเด็ก
การเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ ยังถือเป็นอีกช่องทางที่ภาครัฐสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะเมื่อรัฐบาลส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมเปิดให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาในไทย ควรจะสนับสนุนการเปิดโรงเรียนนานาชาติในไทย
ปัจจุบัน มีนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น เช่น กลุ่มคันทรี กรุ๊ป กลุ่มสหพัฒน์ และกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป กลุ่มธนาคารกรุงเทพ เพราะโรงเรียนนานาชาติยังเป็นที่ต้องการของตลาด และมีอัตราค่าเทอมหลายระดับ โดยเฉพาะตลาดล่างที่เริ่มขยายตัวชัด ทำให้จำนวนนักเรียนเข้าเรียนมากขึ้น
10 อันดับโรงเรียนนานาชาติเข้าเรียนมากที่สุด
ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่าจากการรวบรวมข้อมูลโรงเรียนนานาชาติที่มีนักเรียน เข้าเรียนมากที่สุด 10 อันดับ
อันดับ 1 โรงเรียนบางกอกพัฒนา กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 2,305 คน
แบ่งเป็น เตรียมอนุบาล 30 คน ก่อนประถมศึกษา 323 คน ประถมศึกษา 1,026 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 511 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 415 คน
อันดับ 2 โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 2,285 คน
แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 197 คน ประถมศึกษา 1,024 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 599 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 465 คน
อันดับ 3 โรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 2,235 คน
แบ่งเป็น ประถมศึกษา 1,820 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 415 คน
อันดับ 4 โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 1,957 คน
แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 280 คน ประถมศึกษา 819 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 443 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 415 คน
อันดับ 5 โรงเรียนนานาชาตินิสท์ กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 1,796 คน
แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 224 คน ประถมศึกษา 803 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 402 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 367 คน
อันดับ 6 โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 1,598 คน
แบ่งเป็น เตรียมอนุบาล 40 คน ก่อนประถมศึกษา 222 คน ประถมศึกษา 749 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 364 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 223 คน
อันดับ 7 โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 1,578 คน
แบ่งเป็น เตรียมอนุบาล 90 คน ก่อนประถมศึกษา 278 คน ประถมศึกษา 544 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 280 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 386 คน
อันดับ 8 โรงเรียนนานาชาติบางกอก พรีแพราธอรี แอนด์ เซ็ก1เคินเดอรี กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 1,574 คน แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 187 คน ประถมศึกษา 650 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 383 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 354 คน
อันดับ 9 โรงเรียนนานาชาติไทย-สิงคโปร์ จ.สมุทรปราการ มีนักเรียนทั้งหมด 1,565 คน แบ่งเป็น เตรียมอนุบาล 13 คน ก่อนประถมศึกษา 411 คน ประถมศึกษา 862 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 217 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 62 คน
อันดับ 10 โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ธนบุรี กรุงเทพฯ มีนักเรียนทั้งหมด 1,377 คน
แบ่งเป็น เตรียมอนุบาล 79 คน ก่อนประถมศึกษา 440 คน ประถมศึกษา 708 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 122 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 28 คน
อ้างอิง: สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) ,สมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ,สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์