PISA 2022 ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ของ เด็กไทย
นอกจากการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้ว PISA 2022 ยังได้มีการประเมินเพิ่มเติมอีกหนึ่งด้านคือ "ความคิดสร้างสรรค์" (Creative Thinking)
รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ดำเนินงานโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment)
วัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ
โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า "ความฉลาดรู้" (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
นอกจากการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้ว PISA 2022 ยังได้มีการประเมินเพิ่มเติมอีกหนึ่งด้านคือ "ความคิดสร้างสรรค์" (Creative Thinking)
ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการมีส่วนร่วมในการสร้าง ประเมิน และปรับปรุงแนวคิด ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาที่แปลกใหม่และหลากหลาย มีการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นการแสดงออกถึงจินตนาการที่เกิดประโยชน์
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการประเมินดังกล่าวจะทำให้ทราบว่า ระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินได้เตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีการคิดนอกกรอบในการทำงานตามบริบทต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด
โดยมี 64 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมทดสอบความคิดสร้างสรรค์ และ 74 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมทดสอบและตอบแบบสอบถามดังกล่าวด้วย
การประเมินความคิดสร้างสรรค์ครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กระบวนการ ได้แก่ "กระบวนการสร้างแนวคิดที่หลากหลาย" "กระบวนการสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์" และ "กระบวนการประเมินและปรับปรุงแนวคิด"
นักเรียนจะได้แสดงออกใน 2 ด้านของการทำงานตามบริบทต่าง ๆ คือ 1) ด้านการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย และ การแสดงแนวคิดด้วยภาพ และ 2) ด้านการสร้างสรรค์องค์ความรู้และ
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทางวิทยาศาตร์ และ การแก้ปัญหาทางสังคม
ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ของ PISA 2022
ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ41 คะแนน สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนเฉลี่ยรองลงมา ได้แก่ เกาหลี แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย และฟินแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 36 คะแนนขึ้นไป
โดยประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 33 คะแนน สำหรับประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ย 21 คะแนน ผลการประเมินของประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดสิบอันดับแรก และผลการประเมินของประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมการประเมินความคิดสร้างสรรค์เป็นดังนี้
นอกจากนี้ ยังพบว่า ในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนหญิงมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนชาย โดยประเทศสมาชิก OECD นักเรียนหญิงมีคะแนนเฉลี่ย 34 คะแนน ส่วนนักเรียนชายมีคะแนนเฉลี่ย 31 คะแนน สำหรับประเทศไทย พบว่า นักเรียนหญิงมีคะแนนเฉลี่ย 23 คะแนน ในขณะที่นักเรียนชายมีคะแนนเฉลี่ย 19 คะแนน
PISA 2022 ยังรายงานผลการประเมินความคิดสร้างสรรค์ตามระดับความสามารถซึ่งมี 6 ระดับ (ระดับ 1 – ระดับ 6) โดยที่ระดับ 3 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนมีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์
นั่นคือ นักเรียนสามารถเสนอแนวคิดสำหรับงานต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และเริ่มเสนอแนวคิดที่แปลกใหม่สำหรับปัญหาที่คุ้นเคยได้
จากผลการประเมินพบว่า นักเรียนมากกว่า 80% ของสิงคโปร์ ลัตเวีย เกาหลี เดนมาร์ก เอสโตเนีย แคนาดา และออสเตรเลีย มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปอยู่ 78%
ในขณะที่อีก 20 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปไม่ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงประเทศไทยที่มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปอยู่ 37%
หากพิจารณากระบวนการของการประเมินความคิดสร้างสรรค์ พบว่า นักเรียนสิงคโปร์ทำข้อสอบด้านกระบวนการสร้างแนวคิดที่หลากหลายและกระบวนการสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์ได้มากที่สุด (61% และ 58% ตามลำดับ)
ส่วนนักเรียนเกาหลีทำข้อสอบด้านกระบวนการประเมินและปรับปรุงแนวคิดได้มากที่สุด (46%) สำหรับนักเรียนไทยทำข้อสอบด้านกระบวนการสร้างแนวคิดที่หลากหลาย (30%) ได้มากกว่ากระบวนการอื่น ๆ
สำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในบริบทต่าง ๆ พบว่า นักเรียนสิงคโปร์ทำข้อสอบที่ต้องแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาทางสังคมได้มากที่สุด (66% และ 58% ตามลำดับ)
ในขณะที่นักเรียนโปรตุเกสทำข้อสอบที่ต้องแสดงแนวคิดด้วยภาพได้มากที่สุด และนักเรียนเกาหลีใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ได้มากที่สุด (41% และ 47% ตามลำดับ)
สำหรับนักเรียนไทยทำข้อสอบที่ต้องแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการการแก้ปัญหาทางสังคมได้มากกว่าบริบทอื่น ๆ (28% และ 28% ตามลำดับ)
เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อและทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผลต่อคะแนนด้านความคิดสร้างสรรค์ พบว่า นักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) จะมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset)
นั่นคือ นักเรียนที่เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้จะมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่ไม่คิดเช่นนั้น สำหรับประเทศสมาชิก OECD การมีกรอบความคิดแบบเติบโตส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น 1 คะแนน
ส่วนประเทศไทยส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 3 คะแนน โดยประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตด้านความคิดสร้างสรรค์อยู่ที่ 46% ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับประเทศไทย
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สภาพแวดล้อมและบทบาทของครูก็ส่งผลต่อคะแนนความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน ซึ่งนักเรียนที่รายงานว่าครูให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ครูกระตุ้นให้นักเรียนหาคำตอบที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และเมื่ออยู่ที่โรงเรียน นักเรียนได้รับโอกาสในการแสดงแนวคิด
นักเรียนกลุ่มนี้จะมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้รายงานเช่นนี้โดยในประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 60% – 70% ส่วนประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 70% – 80%
จากผลการประเมินมีข้อค้นพบเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการคิดอย่างสร้างสรรค์ด้านการศึกษาที่อาจเป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนได้
เช่น การสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์และการคิดอย่างสร้างสรรค์ไว้ในหลักสูตรการศึกษา การส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาตระหนัก พัฒนา และประเมินความคิดสร้างสรรค์โดยมีการกำหนดความก้าวหน้าหรือเกณฑ์ในการเรียนรู้
การสร้างโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ในหลากหลายสาขาวิชาที่มีอยู่ในหลักสูตร และการส่งเสริมให้มีการติดตามและประเมินผลความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ
ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนไทยยังต้องได้รับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้นเพื่อให้นักเรียนสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เนื่องจากในปัจจุบันนักเรียนต้องสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์และปรับตัวเข้าให้เข้ากับแนวคิดและการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องมีการพึ่งพานวัตกรรมและการสร้างองค์ความรู้มากขึ้น.
ตัวอย่างข้อสอบความคิดสร้างสรรค์ของ PISA 2022
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PISA