ผลสอบ ‘PISA’ สะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ‘สภาพัฒน์’ แนะ 4 ข้อแก้ปัญหาศึกษารอบด้าน
'สภาพัฒน์' เผยคะแนนสอบ PISA เด็กไทยตกต่ำสะท้อนภาพเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ - สังคม ปัญหาหลายด้านกระทบการศึกษาเด็กไทย แนะ 4 ข้อภาครัฐยกเครื่องระบบการศึกษา จัดสรรทรัพยากรให้เท่าเทียม มีคุณภาพ เพิ่มบทบาทครู-ผู้ปกครอง ให้ช่วยเหลือการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้ร
สถานการณ์การศึกษาของไทยเป็นปัญหาสะสมมานานและเริ่มส่งสัญญาณเข้าขั้นวิกฤต สะท้อนจากตัวชี้วัดทางการศึกษาในระดับชาติ และนานาชาติทั้งจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาหรือจบในสาขาที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ไปจนถึงการมีคุณภาพการศึกษาที่ลดลง โดยเฉพาะผลคะแนนที่ใช้วัดระดับ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่ไทยได้คะแนนลดลงอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งไม่เพียงสะท้อนคุณภาพการศึกษาภายในประเทศที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดย PISA เป็นการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ใน 81 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจทั่วโลก จึงถือว่าเป็นตัวชี้วัดในการประเมินนักเรียนที่ใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งการประเมินล่าสุดในปี 2565 มีนักเรียนเข้าร่วมการทดสอบกว่า 690,000 คน จากจำนวนนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี รวม 29 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 8,495 คน จาก 279 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา
นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าภาพรวมผลคะแนน PISA ปี 2565 พบว่า ทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของ COVID-19 และเมื่อพิจารณาคะแนนคณิตศาสตร์ ซึ่งในปี 2565 ถูกนำมาวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า ประเทศที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุด 5 อันดับแรกอยู่ในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ขณะที่ประเทศสมาชิก OECD กลับมีค่าเฉลี่ยของคะแนนต่ำกว่าทั้ง 3 ด้าน
สำหรับประเทศไทย คะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD และเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการเข้าร่วมการประเมิน นอกจากนี้ โรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยยังเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD อีกทั้ง เด็กจน มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กในครัวเรือนฐานะดี แต่ไม่ใช่เด็กจนทุกคนจะได้คะแนนต่ำ โดยเด็กกลุ่มนี้ร้อยละ 15 เป็นนักเรียนกลุ่มช้างเผือก หรือมีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (Percentile ที่ 75 ขึ้นไป)
ทั้งนี้ นอกเหนือจากผลการประเมินของ PISA ข้างต้น ยังพบปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของเด็ก ดังนี้
1.ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีสัดส่วนเด็กไทยที่มีไม่ได้ทานอาหารครบทุกมื้อเนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ สูงเป็นอันดับ 6 จาก 80 กว่าประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ ขณะเดียวกันครอบครัวที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการเรียนของเด็กได้อย่างจำกัด และน้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี สะท้อนจากอัตราการเรียนสุทธิระดับปริญญาตรี ปี 2565 ของเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด (Decile ที่ 1) ที่อยู่ในระดับต่ำ
2.การกระจายทรัพยากรทางการศึกษามีความแตกต่างกันตามขนาดโรงเรียนและสังกัด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านต่ำกว่ากลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐตามขนาดโรงเรียน รวมถึงการจัดสรรบุคลากรครูที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการจริง
3.บทบาทของครอบครัวที่น้อยลง โดยผู้ปกครองไทยรับรู้ผลการเรียนของบุตรหลานน้อยเป็นอันดับ 3 จากประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมทดสอบ รวมทั้งสัดส่วนเด็กไทยที่ครอบครัวมีการสอบถามถึงกิจกรรมที่ทำในโรงเรียนในแต่ละวัน อย่างน้อย 1 - 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ซึ่งความใส่ใจของผู้ปกครองถือเป็นรากฐานสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้และทัศนคติของเด็ก
4.ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กลดลงเมื่อเทียบกับผลสำรวจปี 2555 ส่วนหนึ่งเกิดจากภาระงานของครูไทยที่มีจำนวนมากนอก อาทิ การจัดทำรายงานเพื่อใช้เลื่อนตำแหน่ง โดยการศึกษาของ OECD พบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน และความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียน จะส่งให้ผลสัมฤทธิ์
การเรียน ความเป็นอยู่ และทักษะทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนดีขึ้น
5.ความปลอดภัยของนักเรียน โดยเด็กไทยมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียนสูงเป็นอันดับ 4 จาก 75 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่า เด็กกำลังเผชิญกับความเสี่ยงและการไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร โดยเฉพาะจากบุคลากรในสถานศึกษา ขณะเดียวกันเด็กยังมีโอกาสเผชิญกับอันตรายอื่น ๆ อาทิ การก่ออาชญากรรมในโรงเรียน โดยปัจจุบันไทยยังไม่มีมาตรการรับมือที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร นอกจากนี้ เด็กไทยมากกว่า 1 ใน 3 ยังถูกกลั่นแกล้งหรือบูลลี่ในสถานศึกษาอีกด้วย
และ 6.สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเด็กไทยเกือบ 3 ใน 4 ระบุว่าบรรยากาศในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น มีเสียงรบกวนและความวุ่นวาย หรือถูกรบกวนจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล โดยสาเหตุที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาด้านบุคลากร โดยผลการสำรวจเยาวชนปี 2565 ของ คิด for คิดส์ พบว่า นักเรียนบางส่วนเคยเผชิญปัญหาในสถานศึกษา ทั้งปัญหาด้านบุคลากรและด้านทรัพยากร อาทิ ครูไม่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือสื่อการสอนล้าสมัย
แนะ 4 ข้อแก้ปัญหาการศึกษารอบด้าน
ทั้งนี้ สศช.เสนอแนะข้อว่าเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา 4 ข้อดังนี้
1.สถานศึกษาต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่เสมอภาค โดยควรพิจารณาเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณและบุคลากรครูตามความต้องการและบริบทของสถานศึกษาร่วมด้วย
2. ภาครัฐต้องส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับผู้เรียน และมีกลไกรองรับเมื่อเด็กหลุดออกนอกระบบ โดยควรสนับสนุนให้สถานศึกษามีการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความยืดหยุ่นในการจัดทำหลักสูตร รวมถึงใช้กลไกการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น อาทิ ขยายบทบาทของ กสศ. นอกจากนี้ ต้องมีกลไกในการค้นหาและนำเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ ควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลเด็กนอกระบบ โดยอาจอาศัยกลไกระดับพื้นที่ใน การติดตามดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบ
3.การปรับสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการมีพื้นที่การรับฟังความคิดเห็น ส่งเสริมบทบาท การมีส่วนร่วม และสร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกไว้วางใจและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการและการอบรมแก่บุคลากร และต้องมีการหารือระหว่างครูและนักเรียนเพื่อกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน รวมถึงต้องมีเครื่องมือประเมิน/ปรับปรุงกระบวนการทำงานร่วมกัน
และ 4.การสนับสนุนให้ครอบครัวมีบทบาทในการดูแลเด็กร่วมกับสถานศึกษาโดยมีพื้นที่การสื่อสารระหว่างผู้ปกครอง เด็ก ครู ในการพูดคุยเรื่องเรียน ความต้องการ พฤติกรรม ศักยภาพ และโรงเรียนควรมีข้อมูลของนักเรียนเพียงพอในการติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายคน ตามสภาพปัญหา อีกทั้ง ต้องสังเกตความผิดปกติ และไม่ปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง