เจาะลึกหลักสูตรแรกของไทย!! 'สร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า'

เจาะลึกหลักสูตรแรกของไทย!! 'สร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า'

คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ร่วมกับ สยามพิวรรธน์ เปิดหลักสูตรแรกของไทย 'หลักสูตรสร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า' รองรับเศรษฐกิจไทยที่กำลังเติบโต การขยายเมือง บริหารจัดการธุรกิจย่านการค้าอยู่อย่างไร ? ให้เติบโตยั่งยืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจศูนย์การค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนย่านการค้า ย่านถนนคนเดิน เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของคน  รวมถึงยังทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งในปัจจุบันมีการเจริญเติบโตอย่างมาก

ในปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งรายเล็กรายใหญ่ ต่างก็พากันเปิดเกมรุกเข้ามาโลดแล่นในสมรภูมินี้ มีการเปิดโครงการใหม่ ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองหลัก เมืองรอง ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 และไม่ได้มีเพียงแค่ธุรกิจการค้าเท่านั้น แม้แต่อสังหาริมทรัพย์อย่าง คอนโด ออฟฟิศ โรงแรม ฯลฯ ต่างก็ทยอยผุดขึ้นตาม ๆ มา 

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เห็นความสำคัญในด้านการบริหารจัดการธุรกิจศูนย์การค้าและย่านการค้า จึงร่วมกับ “สยามพิวรรธน์ อคาเดมี” (Siam Piwat Academy) โดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโกลบอลเดสติเนชั่น  อย่าง สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอ้าท์เล็ต กรุงเทพ พัฒนาหลักสูตรระยะสั้นสำหรับบุคคลในแวดวงต่าง ๆ โดยเฉพาะนักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร คนที่ทำงานในธุรกิจศูนย์การค้า คนที่สนใจด้านการพัฒนาเมือง และวงการต่าง ๆ เข้ามาอบรม

ในหลักสูตรที่ชื่อว่า ‘WORLD CLASS SHOPPING MALL ECOSYSTEM DEVELOPMENT: Managing Urban and Facility for Sustainable Society of the Future’  หรือ 'หลักสูตรสร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า' ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกของไทย ที่พัฒนาองค์ความรู้และสร้างผู้นำการบริหารจัดการศูนย์การค้าระดับโลกสู่ความยั่งยืน (Facility Management for Sustainability) เพื่อให้ศูนย์การค้าไทยสามารถร่วมสร้างรากฐานเศรษฐกิจและเติบโตไปพร้อมกับเมืองอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รับมือ "สังคมสูงวัย" เตรียมความพร้อม ครอบคลุม 4 มิติ

จุฬาฯ นำวิชาการจากมหาวิทยาลัยออกสู่สังคม 

ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นที่จะขยายงานวิชาการ และสร้างองค์ความรู้ออกไปให้เกิดประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุด โดยที่หลักสูตรจะเป็นการเพิ่มทักษะอัพสกิล รีสกิลให้กับผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าทำงานในภาคธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งมีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมาก เพราะหลายคนคงทราบดีว่า ศูนย์การค้าไทยเราไม่เป็นสองรองใคร และค่อนข้างมีชื่อเสียงระดับโลก 

“ในปัจจุบันไทยมีการเติบโตและการขยายเมืองรวดเร็วมาก ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกต่าง ๆ รวมถึงย่านการค้า ย่านถนนคนเดิน ก็ผุดขึ้นมากมาย และแต่ละแห่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้ค้าในแต่ละจุดก็ต่างกัน ยกตัวอย่างเยาวราช มีเอกลักษณ์เป็นย่านค้าขายคนจีน หรือถนนคนเดินสยามก็เป็นย่านที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกระดับเข้ามาทำธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่แสดงออกของคนรุ่นใหม่ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ก็มีถนนคนเดินที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง" 

หากเราเข้าใจมิตินี้ อาจทำให้การพัฒนาพื้นที่แต่ละย่านประสบความสำเร็จมากขึ้น นักธุรกิจ สถาปนิก หรือคนที่เกี่ยวข้อง จะออกแบบพื้นที่ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก หรือแม้แต่ออกแบบการค้าขาย เพื่อก้าวไปสู่มิติความยั่งยืนในอนาคต ต้องมีความรู้ความเข้าใจ พร้อมสร้างสัมพันธ์ระหว่างชุมชน สังคม โดยรอบด้วย เพราะเป็นเรื่องจำเป็น จะละเลยจากตรงนี้ไม่ได้

เจาะลึกหลักสูตรแรกของไทย!! \'สร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า\'

ฉายภาพเบื้องหลังบริหารธุรกิจศูนย์การค้า 

ผศ.สรายุทธ กล่าวต่อว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีฐานความรู้เรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง การดูแลอาคาร เรื่องของผังเมือง ทั้งยังมีองค์ความรู้ในเรื่องอาคารที่ความรู้มันสลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาในแวดวงสถาปัตยกรรม แต่อย่างไรก็ตามนั่นเป็นความรู้วิชาการ แต่ในทางปฏิบัติ เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเท่ากับสยามพิวรรธน์ ที่มีความชำนาญ และประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ ที่สามารถเชื่อมโยงกับเมือง และตอบสนองความต้องการของคนได้ ซึ่งถ้านำมาผสมผสานกัน น่าจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริง หลักสูตรจึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในภาพรวมระบบนิเวศของศูนย์การค้า ย่านการค้าขาย ที่เราต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของผังเมือง อาคาร สถานที่ พฤติกรรมของคนในเมือง และคนในแต่ละย่าน การจราจร เพื่อออกแบบและสร้างระบบนิเวศของเมืองให้ดีขึ้น

รายละเอียดหลักสูตรจะพูดเรื่อง Urban Management, Facility Management และ Shopping mall Management ช่วงแรกการเรียนจะพูดถึง Core Business ก่อน เพราะ Facility เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างผลกำไร การประกอบธุรกิจ ดังนั้น ผู้เรียนต้องเข้าใจวิสัยทัศน์ พันธกิจ อุดมการณ์ ดีเอ็นเอ ว่าเราจะนำส่ง Facility ตรงนี้ให้เกิดผลกำไรอย่างไร รวมถึงเข้าใจ Shopping mall Business เข้าใจหลักในการวางแผนธุรกิจ และเข้าใจ Operation ว่าศูนย์การค้ามีการจัดการอย่างไร เช่นเมื่อเราเดินเข้ามาในห้าง แอร์เย็น น้ำพร้อมใช้ แสงสบายตา กลิ่นหอม เราจะฉายภาพเบื้องหลังการทำงานเหล่านี้ของห้างสรรพสินค้าให้ดูด้วย ซึ่งจะมี Open House สยามพิวรรธน์ 

นอกจากนั้น จะมีการเรียนรู้เรื่องผังเมือง เรื่องสาธารณูปโภคใหม่ ๆ รถไฟฟ้า ระบบสัญจรทางน้ำ เป็นอย่างไร ยกตัวอย่างการทรานส์ฟอร์มกรุงเทพฯ จากเมืองที่ใช้รถไปสู่เมืองที่ใช้ระบบราง สุดท้ายเป็นการบริหารจัดการ Facility  ซึ่งจะได้เรียนรู้เบื้องหลังการทำงานของโครงการของสยามพิวรรธน์ และพื้นที่การค้าภายใต้การบริหารของจุฬาฯ ซึ่งทั้งหมดจะไม่ได้โชว์ว่าความสำเร็จคืออะไร แต่จะมีบางกรณีที่จะฉายให้เห็นความรู้เท่าไม่ถึงการ และยังมีวิทยากรจากต่างประเทศ มาร่วมให้ความรู้ 

“เราตั้งเป้าหมายจะมีคนเข้ามาอบรมในหลักสูตรประมาณ 40-50 คน เป็นคนที่อยู่ในแวดวงไหนก็ได้ที่มีความสนใจเรื่องการบริหารจัดการอาคาร การบริหารศูนย์การค้า ย่านการค้า รวมถึงนิสิตนักศึกษา แต่คนที่เข้ามาอยากให้มีองค์ความรู้ทางกายภาพพอสมควร แล้วมาต่อยอดทักษะความรู้จากหลักสูตรนี้ อีกทั้งผมมองว่า ภาคแรงงานของศูนย์การค้าตอนนี้มีความจำเป็นต้องการคนที่เข้ามาทำงานภาคส่วนนี้เยอะพอสมควร หลักสูตรนี้จะเริ่มจากศูนย์การค้าก่อน แต่เมื่อมองยาว ๆ อาคารต่างๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ ๆ ในไทยมีจำนวนมากขึ้น เพราะตอนนี้มีการก่อสร้างโครงการอาคารต่าง ๆ ขยับจากพื้นที่นับหมื่นตารางเมตร เป็นแสนแล้ว "

เจาะลึกหลักสูตรแรกของไทย!! \'สร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า\'

ล่าสุดมีโครงการที่ใช้พื้นที่ล้านตารางเมตร ฉะนั้นอาคารที่มีพื้นที่ล้านตารางเมตร ต้องการคนจำนวนมากเข้าไปบริหารจัดการ แปลว่าตลาดแรงงานในด้านบริหารจัดการอาคารมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้การบริหารอาคาร ไม่ใช่เรื่องเฉพาะเจาะจงของวิศวกร สถาปนิก แต่ทุกคนสามารถเข้ามาทำงานในภาคส่วนนี้ได้ บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งเราอาจไม่ใช่คนในองค์กรศูนย์การค้า แต่อาจจะเป็นคู่ค้า ที่อยู่ในศูนย์การค้า จริงๆ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ พฤติกรรมผู้คนเข้ามาในศูนย์การค้า การเปลี่ยนรูปแบบสินค้า อาจทำให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมมากขึ้น 

ขยายสู่โครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

ผศ.สรายุทธ กล่าวอีกว่า การร่วมกันพัฒนาหลักสูตรนอกห้องเรียนด้านศูนย์การค้าเป็นเพียงเริ่มต้น ต่อไปอาจจะขยับไปในฐานย่านการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เพราะในต่างจังหวัดก็มีความสำคัญเหมือนกัน ตอนนี้ย่านการค้ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละภาคส่วนของประเทศ ผมหวังว่าการสร้างหลักสูตรน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ต่อไปอาจจะขยับไปสู่การพัฒนาย่านอาคารอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ออฟฟิศ คอนโด โรงแรม เป็นต้น 

“ในประเทศไทยมีความท้าทายมาก ๆ ถ้าเราไม่ได้อยู่ไทยสักพัก จะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงมาก การขับเคลื่อนบนความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ต้องสร้างฐานองค์ความรู้ที่ต้องตามให้ทัน ไม่เช่นนั้นถ้าเรามัวแต่มุ่ง ตัวไปข้างหน้า แต่เราไม่มีฐานความรู้ในการบริหารจัดการที่ดีรองรับ ก็อาจจะเกิดปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้นองค์ความรู้ไม่ใช้สร้างขึ้นมาเพื่อตามสิ่งที่เกิดขึ้น แบบสร้างไปก่อนค่อยหาวิธีบริหาร ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เพราะเป็นการบริหารเมืองที่ไม่ยั่งยืน ถ้าเราดูตั้งแต่แรก ว่าจะบริหารอย่างไร เราก็จะออกแบบสิ่งนั้น ๆ ให้ตรงกับการบริหารที่เราวางไว้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นภาพองค์รวมตั้งแต่แรก เราจะสามารถออกแบบการบริหารจัดการในอนาคตได้อย่างดีมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างจุดขายใหม่ ๆ” 

เจาะลึกหลักสูตรแรกของไทย!! \'สร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า\'

สยามพิวรรธน์อคาเดมี พร้อมพลิกโฉมการศึกษาตอบโจทย์โลกยุคใหม่ 

ณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีกชั้นนำ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการระดับโลกด้วยความยั่งยืนเสมอมา และเราไม่ได้พูดแค่ความเจริญรุ่งเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) แต่ยังใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อม (Environment) โลก (Planet) และคน (People) อีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาผู้คน เรายังจะเป็น Well Growing Platform เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาผู้คน ด้วยความเชื่อของเราที่ว่า ทุกคนมีศักยภาพไม่มีสิ้นสุด ไม่ใช่แค่พนักงาน แต่ยังรวมถึงผู้เช่า คู่ค้า พันธมิตร นักศึกษา และคนทั่วไปด้วย 

จึงได้ก่อตั้งสยามพิวรรธน์อคาเดมีขึ้นมา เป็นเวลากว่า 10 ปีทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงหน่วยงาน องค์กรทุกส่วน โดยเฉพาะภาคการศึกษาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ทั้งในเรื่องวิชาการ และประสบการณ์ของบริษัทที่เราสะสมความสำเร็จมา และมีส่วนร่วมกับการพัฒนาย่าน ชุมชน เศรษฐกิจไทยมามากกว่า 65 ปี  

“ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนวิสัยทัศน์ของสยามพิวรรธน์ ที่ทุกโครงการของเราจะต้องเป็น World Class Experience Destination ดังนั้นเรามองว่าการทำงานของเราเป็นมากกว่าศูนย์การค้าแต่เป็นการสร้างประสบการณ์ของทุกคนที่มารวมกัน ช่วยสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรี่องการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาธุรกิจค้าปลีก การบริหารศูนย์การค้า การพัฒนาย่าน การพัฒนาชุมชน และเข้าสู่ระดับโลกไปพร้อม ๆ กัน”

เจาะลึกหลักสูตรแรกของไทย!! \'สร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า\'

สำหรับผู้สนใจสามารถสมัครหลักสูตรดังกล่าว ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ส.ค. 67 เริ่มอบรมทุกวันเสาร์ ระหว่างวันที่ 14 ก.ย. – 2 พ.ย. 67 เมื่อผ่านการอบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ 

เจาะลึกหลักสูตรแรกของไทย!! \'สร้างผู้นำบริหารจัดการศูนย์การค้า\'