เทคโนโลยี AI ..เด็กใช้ ผู้ใหญ่ห้าม | บวร ปภัสราทร
ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างของอำนาจ เชื่อเรื่องผู้ใหญ่ เชื่อเรื่องผู้น้อย ที่ฝรั่งเรียกว่า มี Power Distance สูง ความเชื่อนี้เห็นประจักษ์ได้ในหลากหลายรูปแบบ
คนใหญ่คนโตได้รับการยกเว้นกฎกติกาโดยถือเป็นการให้เกียรติ จะทำงานอะไรสักอย่างจะต้องผ่านหลายขั้นตอน เพื่อให้ทุกคนในขั้นตอนเหล่านั้นมีความสำคัญ
ถ้าต้องเลือกระหว่าง “หลักการ” กับ “หลักผู้ใหญ่” ในการตัดสินใจการงานต่างๆ หลักผู้ใหญ่จะมาก่อนเสมอ วาทะของพระเถระจะสำคัญกว่าข้อความในพระคัมภีร์
สังคมทำนองนี้จะพบเจอปัญหาความแตกต่างในการยอมรับใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ คนหนุ่มสาวมักยอมรับเทคโนโลยีมาใช้อย่างรวดเร็ว ผู้ใหญ่มักจะรีรออยู่พอสมควรก่อนที่จะยอมใช้
เด็กที่มาจากครอบครัวที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพได้ ซึ่งมีมากอยู่ในวันนี้ มีโอกาสใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากกว่าคุณครูอาวุโสในโรงเรียน
ถ้าเป็นคุณครูที่อายุเป็นเพียงตัวเลข เรื่องนี้โรงเรียนจะยิ่งส่งเสริม ถ้าอาวุโสอายุแต่ความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงแทบไม่มี ท่านจะกีดกันสรรพสิ่งที่ท่านยังไม่เข้าใจ แม้ว่าเด็กๆ เข้าใจไปแล้ว
ถ้าบอกไม่ได้เต็มปากว่าเรื่องนี้ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ท่านก็จะห่วงอยู่สองเรื่องสำคัญ ห่วงความสำคัญของตนเอง ท่านรู้สึกของท่านไปเองว่าความสำคัญของท่านจะถูกท้าทาย
เรื่องที่สองคือห่วงการใช้งานเทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสมของเด็กๆ ซึ่งอาจมโนไปได้สารพัดจากความเข้าใจที่ไม่ท่องแท้ของผู้ใหญ่ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี และเรื่องตรรกะความคิดของเด็กๆ
ในโรงเรียนที่วาทะผู้ใหญ่สำคัญกว่า Google กฎกติกาที่กีดกันการใช้เทคโนโลยีที่ครูอาวุโสไม่เข้าใจจะเกิดขึ้นในแทบทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น
เมื่อผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ Generative AI บวกกับการที่มีนักวิชาการ AI บางคนไปเที่ยวบอกว่าต่อไปไม่ต้องมีครูแล้ว AI มาสอนแทนได้หมด มาช่วยทำการบ้านได้หมด
ผู้ใหญ่กลัวว่าเด็กจะไม่ลงมือทำการบ้านทั้งหมดด้วยตัวเอง กลัวว่าเด็กจะใช้ AI ทำแทน ทั้งๆ ที่ไม่รู้จริงว่าขอบเขตงานที่ AI ช่วยได้นั้นมีแค่ไหน AI จะช่วยเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กๆ ได้อย่างไร
เลยขู่ไปเรื่อยว่า ใครใช้ AI ช่วยทำการบ้าน ถ้าฉันจับได้ จะถูกลงโทษสารพัด AI จึงห่างไกลเด็กในโรงเรียนนั้นไปเรื่อยๆ บ้านเมืองไหนมีโรงเรียนทำนองนี้เยอะ ๆ นานวันลูกหลานบ้านเมืองนั้นก็จะด้อยความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมลงไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับบ้านอื่นเมืองอื่น
ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างของอำนาจมากๆ เทคโนโลยีใหม่จะมาพร้อมกับกฎกติกาที่กีดกันสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการใช้งานเทคโนโลยีใหม่นั้น นำไปสู่หนทางการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม หรืออาจไปไกลถึงขนาดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความเชื่อที่มีกันมาแต่ดั่งเดิม
กฎกติกาที่ดูเหมือนหวังดีมักส่งผลให้การใช้งานเทคโนโลยีใหม่กระทำได้อย่างจำกัด ห้ามนั่นห้ามนี่ ต้องนั่นต้องนี่ เต็มไปหมด แทนที่ผู้เชี่ยวชาญที่มาชี้แนะการใช้งานที่เป็นนวัตกรรมจะเป็นคนสำคัญ
กลับกลายเป็นว่าคนสำคัญคือคนที่มาบอกว่านั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ คนชวนใช้ให้เกิดนวัตกรรม คนฟังนิดเดียว คนพูดเรื่องห้ามใช้ คนฟังเป็นร้อย ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงของการเป็นสังคมที่ดูทันสมัย แต่ไร้การพัฒนา
ค้นพบจากความช่วยเหลือของ Generative AI ว่าการส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ในการสร้างนวัตกรรมนั้น จะกระทำได้สำเร็จเมื่อสามารถเอาชนะความกลัวของผู้ใหญ่เรื่องการสูญเสียฐานะทางปัญญา Intellectual Status ให้ได้เสียก่อน
ตราบเท่าที่ผู้ใหญ่ยังกลัวว่า ตนเองจะไม่มีสถานะเป็นผู้นำ กลับมีภาพลักษณ์เป็นคนล้าหลัง การกีดกันเทคโนโลยีใหม่มักจะเกิดขึ้น ซึ่งที่จริงเรื่องง่ายๆ
ในการป้องกันไม่ให้เกิดความล้าหลังทางปัญญา คือผู้ใหญ่ก็ไปเรียนรู้ให้รู้จริงเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ครูอาวุโสต้องได้รับความรู้ที่เพียงพอสำหรับการใช้ AI ในการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูน้อยใช้เป็นยังไม่พอ ครูใหญ่ต้องใช้เป็นด้วย
แต่ไม่ใช่แค่ครูใหญ่คุยเรื่อง AI ได้ แต่พอมาเจอ “สอนหนังสือให้สังฆราช” ค้ำอยู่อีก เลยทำให้การหาความรู้เรื่องนี้ยากเย็นยิ่งขึ้นสำหรับคนใหญ่คนโต
ปากบอกว่าอยากให้มีคนเก่ง มีคนสร้างนวัตกรรม แต่ทันทีที่มีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา คนใหญ่คนโตและบริกรวิชาการกลับช่วยกันสร้างกฎกติกามากำกับ แถมมีบทลงโทษที่ล้ำหน้าประเทศพัฒนา ตามด้วยมาตรการส่งเสริมที่ด้อยกว่าประเทศด้อยพัฒนา.