DPU เปิดเคล็ดลับ 'บริหารธุรกิจอุปกรณ์เบเกอรี่ยุคใหม่'

CIBA DPU จัดบรรยายพิเศษ "เคล็ดลับบริหารธุรกิจอุปกรณ์เบเกอรี่ยุคใหม่: จากโรงงานสู่ตลาดดิจิทัล" เสริมศักยภาพนักศึกษาสู่ผู้ประกอบการยุคดิจิทัล
หลักสูตรการจัดการ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "เคล็ดลับบริหารธุรกิจเบเกอรี่ยุคใหม่: จากโรงงานสู่ตลาดดิจิทัล" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยมี “สุวรรณา วรกุลรุ่งเรือง” และ “ชัชชนะชัย วรกุลรุ่งเรือง” กรรมการผู้จัดการ บริษัทรุ่งเรืองโลหะกิจร่วมทุนจำกัด และกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัท รุ่งเรืองโลหะกิจร่วมทุน จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์เบเกอรี่รายใหญ่ ถาดอบขนม พิมพ์ขนม และอุปกรณ์ ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมทั้งนักศึกษาและคณาจารย์กว่า 174 คน
ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึง ความมุ่งมั่นของหลักสูตรการจัดการในการส่งเสริมองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับการเผชิญโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล พร้อมกันนี้ยังได้ชื่นชมวิทยากรทั้งสอง โดยเฉพาะ สุวรรณา วรกุลรุ่งเรือง ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
CIBA DPU จับมือ เต่าบิน เปิดประตูสู่การฝึกงานด้านนวัตกรรม
'Novice Accountant Camp' ปั้นนักบัญชีดิจิทัล พื้นฐานแน่นสู่ตลาดแรงงาน
เสริมประสบการณ์นักศึกษาก้าวสู่ธุรกิจเบเกอรี่
ดร.คุณากร ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทในการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะในธุรกิจเบเกอรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงและยังมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การได้รับประสบการณ์และความรู้จากวิทยากรในครั้งนี้จะช่วยให้นักศึกษาสามารถมองเห็นโอกาสและพัฒนาทักษะ ที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการบรรยายครั้งนี้ “สุวรรณา” ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาและจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจ ตั้งแต่เริ่มต้นจากร้านในจังหวัดนนทบุรี จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดในปี 2549 และจัดตั้งเป็นบริษัท รุ่งเรืองโลหะกิจร่วมทุน จำกัด ในปี 2557 โดยปัจจุบันโรงงานได้ขยายไปถึง 3 แห่ง และกำลังจะขยายไปยังนครปฐมเป็นแห่งที่ 4
สุวรรณา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการ ไม่หยุดเรียนรู้ การศึกษาหาความรู้และ Connection อยู่เสมอ เชื่อว่านักศึกษาที่เรียนบริหารในวันนี้คือผู้ประกอบการในอนาคต และในการทำธุรกิจนั้นต้องเจอหลากหลายด้าน ทั้ง การบริหารคน ลูกค้า และ Supply Chain ซึ่งทุกส่วนมีความสำคัญ
สุวรรณาในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวขอบคุณอาจารย์ผู้สอนที่ได้มอบความรู้และกลยุทธ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเติบโตของธุรกิจ และยังได้ยกตัวอย่างการนำความรู้ด้าน Marketing และกลยุทธ์มาปรับใช้ในการดำเนินงานจริง โดยเน้นว่า “การมีสินค้าคือการเข้าไปช่วยลูกค้าแก้ปัญหา” และ “การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า” คือสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้ สุวรรณายังให้ความสำคัญกับการ พัฒนาบุคลากรในองค์กร โดยมีการพูดคุยกับพนักงานทุกเช้าเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับได้กล่าวถึงการ Transform ธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ปัจจัยสำคัญในการสร้างแบรนด์
ด้าน ชัชชนะชัย ได้แบ่งปันแนวทางเกี่ยวกับ Digital Marketing และบทบาทสำคัญของกลยุทธ์นี้ต่อการเติบโตของธุรกิจรุ่งเรืองโลหะกิจ เขาเล่าว่าธุรกิจเริ่มต้นจากการดำเนินงานแบบ Direct Sale ผ่านตัวแทนขายและหน้าร้าน ก่อนที่คุณสุวรรณา (คุณแม่) จะมีแนวคิดสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า OEM ซึ่งในช่วงแรกเขายังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของ Branding แต่เมื่อธุรกิจได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับเดียวกับ 7-11 หรือ S&P ธุรกิจก็เริ่มวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เช่น ลูกค้าร้านขายส่งอุปกรณ์เบเกอรี่ เพื่อศึกษาและตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุดมากขึ้น จากนั้นเข้าสู่กระบวนการสร้างแบรนด์ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกขั้นตอน พร้อมกับสื่อสารคุณค่าของแบรนด์ไปยังลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยสำคัญในการสร้างแบรนด์ เช่น Point of Parity (POP) ที่ธุรกิจสามารถทำได้เหมือนคู่แข่ง และ Point of Difference (POD) ซึ่งคือจุดเด่นของรุ่งเรืองโลหกิจ ได้แก่ สินค้าคุณภาพสูง การส่งมอบตรงเวลา และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
ชัชชนะชัย เล่าถึงช่วง “วิกฤตการณ์” เช่น การเข้ามาของ E-commerce และสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาด ด้วยการรักษาคำมั่นสัญญาและส่งมอบสินค้าตรงเวลา อีกทั้งยังมุ่งเน้นการสร้าง Brand Awareness ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook และการร่วมมือกับ Influencer เพื่อแสดงถึงความแตกต่างและคุณค่าของแบรนด์ อันนำไปสู่ความเชื่อมั่นของลูกค้าและการกลับมาซื้อซ้ำ และพร้อมกันนั้นยังได้แนะนำให้นักศึกษาที่ต้องการเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวิสัยทัศน์ที่ดี
“การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจคือสิ่งสำคัญ นักศึกษาในปัจจุบันมีต้นทุนความรู้และความพร้อมที่สูงกว่ารุ่นก่อน และยังสามารถขอคำปรึกษาจากคณาจารย์ที่มีประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จ ผมเชื่อและมั่นใจว่าความรู้จากมหาวิทยาลัยจะช่วยให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการที่ดีและประสบความสำเร็จในอนาคต"ชัชชนะชัย กล่าว
หลังจากการบรรยายที่เข้มข้นทั้ง “สุวรรณาและชัชชนะชัย” เปิดโอกาสให้นักศึกษาสอบถามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการวางแผนทางการเงิน การจัดการองค์กร และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว รวมถึงการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมต่างได้เรียนรู้แนวทางจากวิทยากรทั้งสองที่มีประสบการณ์จริง และได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกธุรกิจยุคใหม่
สำหรับการบรรยาย "เคล็ดลับบริหารธุรกิจเบเกอรี่ยุคใหม่: จากโรงงานสู่ตลาดดิจิทัล" สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ CIBA DPU ในการพัฒนานักศึกษาให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพในยุคดิจิทัล ผ่านการบูรณาการความรู้ด้านการตลาด การบริหารธุรกิจ และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการ งานบรรยายนี้ยังช่วยสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนแก่นักศึกษา ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่ความสำเร็จในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความท้าทาย
ทั้งนี้ โครงการนี้มีการบูรณาการการเรียนการสอนร่วมระหว่างรายวิชาใน 2 โมดูลหลัก ได้แก่ โมดูล (MLO4) การบริหารการตลาดและความมั่งคั่งในการประกอบการ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยวิชา MS310 การบริหารเงินและความมั่งคั่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, MS316 การบริหารการตลาดอย่างสร้างสรรค์ และ MS401 หัวข้อพิเศษเกี่ยวกับการเริ่มต้นการประกอบการธุรกิจและนวัตกรรมและโมดูล (MLO2) นวัตกรรมในการบริหารโครงการ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยวิชา MS302 การจัดการนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในสังคมดิจิทัล, MS303 การจัดการโครงการและคุณภาพในศตวรรษที่ 21 และ MS307 การจัดการนวัตกรรมด้านธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
โดยกิจกรรมนี้ได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคทางธุรกิจ ตลอดจนการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความพร้อมในการเผชิญโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคทางธุรกิจ ตลอดจนการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความพร้อมในการเผชิญโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก อาจารย์สุรชัย สวนทับทิม รองคณบดี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ผ่านการบูรณาการความรู้เชิงวิชาการและประสบการณ์จากผู้ประกอบการจริง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักธุรกิจยุคดิจิทัลอย่างมืออาชีพ