"เครือข่ายเอเปคแรงงาน" เล็งสร้าง"Smart Labour" ก้าวข้าม4 ข้อท้าทายงานอนาคต
"เครือข่ายเอเปคแรงงาน" ยกระดับแรงงาน ตั้งเป้าสร้าง "Smart Labour" ก้าวข้าม 4 ข้อท้าทายที่ต้องเผชิญในโลกงานอนาคต ระบุแรงงานต้องปรับตัวก้าวทันเทรนด์ด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
“APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation)” เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีความสำคัญระดับโลก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาทุกด้าน ซึ่งในปี ค.ศ. 2022 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคตลอดทั้งปี รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้
ไทยดัน 4 เป้าหมาย Bangkok’s Goalsสู่เอเปค
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบเพื่อให้เศรษฐกิจของทั้ง 21 เขต และของทั้งโลกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบ สร้างสรรค์และยั่งยืน
โดยมีการเตรียมการผลักดันเป้าหมายกรุงเทพ หรือ Bangkok’s Goals อันประกอบไปด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่
1) ร่วมกันสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Trade and Investment)
2) ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยั่งยืน
3) ร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
4) ร่วมกันบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เอเปคการศึกษา มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน รองรับงานโลกผันผวน
เปิดข้อเสนอเวทีผู้นำ “เอเปค” หนุน “เอสเอ็มอี” มีส่วนร่วมเศรษฐกิจโลก
โหมโรงประชุมเอเปค งานใหญ่วัดฝีมือเจ้าภาพ
4 ข้อต้องรู้ปิดจราจรรับ ‘เอเปค’ ‘เลขาฯ ครม.’ ส่งหนังสือด่วนแจ้งหน่วยงาน
เครือข่ายแรงงานเอเปค สร้างแรงงานดิจิทัล
สำหรับมิติด้านสังคม ได้มีการประชุมเครือข่ายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 (Labour and Social Protection Network: LSPN) ระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2565 ภายใต้คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development Working Group: HRDWG) โดยมีกระทรวงแรงงาน เป็นเจ้าภาพ
คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคมุ่งยกระดับคุณภาพแรงงาน การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคม ผ่านการทำงานของ 3 เครือข่ายคือ เครือข่ายด้านการเสริมสร้างสมรรถนะ เครือข่ายด้านการศึกษา และเครือข่ายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม
โดยการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 47 ในปีนี้จะเน้นการหารือเพื่อหาแนวทางการรับมือกับความท้าทายที่เป็นผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่แม้จะสร้างโอกาสและการจ้างงานใหม่ ๆ
แต่ในขณะเดียวกันก็ปิดกั้นโอกาสของแรงงานที่ไม่มีทักษะด้านดิจิทัล นอกจากนี้ กระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทำให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดเปลี่ยนแปลงไปด้วย
3 แนวทางสร้างเสริมสมรรถนะ "Smart Labour"
การประชุมคณะทำงานฯ ในครั้งนี้มีประเด็นการหารือที่สำคัญ ประกอบด้วย
1.การปรับแนวทางเสริมสร้างสมรรถนะแรงงานในรูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในยุคหลังโควิด-19
2.การพัฒนาระบบแรงงานที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรมและการจ้างงานที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3.นโยบายการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน รวมไปถึงประเด็นความท้าทายอื่น ๆ อาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ ผลกระทบต่อการจ้างงานที่ถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ รวมทั้งการออกแบบนโยบายการคุ้มครองแรงานในบริบทการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป
“การประชุม LSPN เป็นเครือข่ายย่อยภายใต้ HRDWG มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างตลาดแรงงานที่เข้มแข็งและยืดหยุ่น รวมถึงส่งเสริมด้านการคุ้มครองทางสังคม ผ่านการสร้างความร่วมมือเชิงวิชาการ การจัดทำข้อมูลด้านตลาดแรงงาน และการจัดทำการวิเคราะห์เพื่อให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจเอเปค”
โดยการประชุมเครือข่าย LSPN ปี พ.ศ. 2565 กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้หัวข้อ “Shaping Smart Citizens with Digitalization and Eco-friendly Awareness” ซึ่งเน้นด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงานและความผันผวนของตลาดแรงงานจากข้อท้าทายต่าง ๆ อาทิ โรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการบูรณาการด้านเพศภาวะ เป็นต้น
ข้อท้าทายที่แรงงานสมาชิกเอเปคต้องเผชิญ
จากการประชุมร่วมกัน สมาชิกเอเปค แต่ละประเทศ ได้มีการเสนอความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ
Mr. Achim D. Schmillen จาก World Bank (ธนาคารโลก)กล่าวว่า ปัจจุบันโลกของงานมีข้อท้าทาย 4 ประการหลัก ได้แก่
1.การพัฒนาของเทคโนโลยี
2.การบูรณาการทางเศรษฐกิจ
3.การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
4.การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์
ซึ่งข้อท้าทายเหล่านี้ถูกทำให้รุนแรงมากขึ้นจากการมีโรคระบาดโควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องมีการคิดแนวนโยบายใหม่เพื่อรองรับข้อท้าทาย ที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลควรมีการลงทุนด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน เพิ่มความเข้มแข็งด้านหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงาน และส่งเสริมนโยบายตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น
ขณะที่ Makiko Matsumoto จาก ILO (International Labour Organization) หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า แนวโน้มด้านแรงงานสำหรับปี พ.ศ. 2565 เน้นความสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง (Human-centered recovery) โดยนโยบายด้านแรงงาน
ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับ 1. ตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่นและส่งเสริมให้แรงงานสามารถฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ และ 2. การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานซึ่งจะช่วยให้แรงงานสามารถมีโอกาสด้านการจ้างงานที่สูงขึ้น
ส่งเสริมแรงงานสตรีรู้เท่าทันเทคโนโลยี-สิ่งแวดล้อม
ด้าน Ms. Cai Cai จาก UNESCAP (UN's Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) หรือ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่าผู้หญิงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างมาก โดยเป็นกลุ่มแรงงานทำงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (Unpaid Care Work) ทำให้รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมแรงงานสตรี อาทิ นโยบายการลาคลอดที่ได้รับค่าจ้าง และนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตร
“แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ผู้หญิงยังประสบปัญหาช่องว่างด้านการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี อีกทั้งผู้หญิงยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นของแรงงานหญิง หากต้องการที่จะบรรลุการเสริมสร้าง Smart Labour ที่รู้เท่าทันเทคโนโลยีและมีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” Ms. Cai Cai กล่าว
Mr. Emmunuel A. San Andreas จาก APEC Policy Support Unit หรือหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค กล่าวว่า Big Data เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคาดการณ์ตลาดแรงงาน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และการวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน
สมาชิกเอเปค แบ่งปันประสบการณ์สร้างสร้าง Smart Labour
นอกจากนั้น เขตเศรษฐกิจได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้าง Smart Labour เพื่อรองรับข้อท้าทายโลกของงานในอนาคต ดังนี้
แคนาดา :ได้ดำเนินโครงการ Future Skills เพื่อส่งเสริมให้ผู้หางาน นายจ้าง และลูกจ้างสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการใหม่ๆ ของตลาดแรงงานอยู่เสมอ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ Future Skills, ศูนย์ Future Skills และสำนักงาน Future Skills
จีน :มีการปรับปรุงนโยบายในการพัฒนาทักษะอาชีพ ปฏิรูประบบการศึกษาและระบบการฝึกงาน และส่งเสริมแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับความต้องการด้านทักษะใหม่ ๆ
มาเลเซีย :ให้ความสำคัญกับการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ การยกระดับด้านทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนยกระดับการคุ้มครองแรงงานประกอบอาชีพอิสระ
จีนไต้หวัน :ดำเนินโครงการ The industry talent investment program ซึ่งเป็นการจูงใจให้นายจ้างสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของตน โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนค่าอบรมให้ร้อยละ 80 – 100 นอกจากนี้ ยังได้มีการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดหางานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ไทย :การใช้แพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งเป็นความร่วมมือบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ และเพื่ออำนวยความสะดวกในการหางานและการจ้างงาน โดยที่ผ่านมาได้มีแรงงานกว่า 220,000 คน ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
สหรัฐอเมริกา :ให้เงินสนับสนุนงานสีเขียว และการลงทุนใน Care Economy
ฟิลิปปินส์ :การบังคับใช้กฎหมายงานสีเขียว (Green Job Act, 2016)
ไทยให้ความสำคัญกับแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แรงงานที่มีทักษะดิจิทัล และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อเป้าหมายของไทยอย่างมาก
หลังจากนี้ ไทยจะมุ่งสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์ให้คนทุกกลุ่ม และมุ่งเร่งกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างครอบคลุมเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินการในเอกสาร Bangkok Goals on BCG Economy ที่ไทยเสนอเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้ด้วย