จับตา หลังการเลือกตั้ง 'บอร์ดประกันสังคม' ครั้งแรก
จับตา หลังการเลือกตั้ง 'บอร์ดประกันสังคม' ครั้งแรกของไทย มีผู้ประกันตน นายจ้าง ลงทะเบียนเลือกตั้ง 8.57 แสนคน คาดไม่เกิน 2 ชั่วโมง ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ ขณะที่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการราวสัปดาห์หน้า
จบลงไปแล้วกับ การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทย กำหนดจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ธ.ค. 2566 เวลา 08.00-16.00 น. โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)
ทั้งนี้ ลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน เพื่อเข้าไปเป็นกรรมการในบอร์ดประกันสังคม โดยมีผู้สมัครผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนมีจำนวน 247 คน และผู้สมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จำนวน 69 คน
สำหรับ กำหนดหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตน ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มี.ค.- ส.ค. 2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม คึกคัก แต่ยังพบความสับสน
- บรรยากาศเลือกตั้ง 'บอร์ดประกันสังคม' วันนี้ (24 ธ.ค.66)
สำหรับนายจ้าง ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มี.ค.- ส.ค. 2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง) กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจหรือกรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิได้เพียงแห่งเดียว
เลือกตั้งครั้งแรกของไทย
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของไทย ที่จะคัดเลือกตัวแทนของผู้ประกันตนและนายจ้าง ในระบบ ประกันสังคม เข้าไปทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหารกองทุนประกันสังคม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด จากเดิมที่เป็นการเลือกตั้งจากผู้แทนเป็นการภายใน
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งไม่มากเท่าที่ควร แม้ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม ได้มีการประกาศขยายระยะเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 31 ต.ค. มาเป็นวันที่ 10 พ.ย. ก็ตาม โดยมีผู้ประกันตนและนายจ้างที่ลงทะเบียนและมีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 857,234 คน แบ่งเป็น ผู้ประกันตน 854,065 คน และนายจ้าง 3,169 คน
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผย ระหว่างลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยที่หน่วยเลือกตั้ง สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 2 โดยคาดหวังว่าตลอดทั้งวันจะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ต่ำกว่า 80% ของผู้ใช้สิทธิที่ลงทะเบียนไว้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิน้อย อาจมาจากการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะนำไปแก้ไขในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งนี้ หลังจบการเลือกตั้ง 16.00 น. คาดว่าไม่เกิน 2 ชั่วโมง น่าจะประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการได้ ส่วนการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นภายหลังที่คณะกรรมการเลือกตั้งประกันสังคมรับรองราวสัปดาห์หน้า
ทำไมต้องเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
อนึ่ง คณะกรรมการประกันสังคม จะเข้ามาจัดการและดูแล 'กองทุนประกันสังคม' ซึ่งมีผลต่อสิทธิประโยชน์ที่ทุกคนพึงได้รับ โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ในการมีอำนาจเสนอและพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการประกันสังคม วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน รวมทั้งจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน และหน้าที่อื่นๆ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ