จะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล
คำว่า “กับดัก” รายได้ปานกลาง คือวลีที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักใช้ หมายถึง ประเทศรายได้ปานกลางที่ก่อนหน้านี้เติบโตมาได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง/ระดับหนึ่ง แต่ต่อมาไม่สามารถเติบโตต่ออยู่หลายปี ด้วยสาเหตุจากค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น และสาเหตุอื่นๆ
ขณะที่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สามารถพัฒนาไปเป็นประเทศระดับรายได้สูงได้ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกจัดว่าติดกับดักแบบนี้
หนังสือที่กล่าวถึงปัญหานี้ไว้อย่างน่าสนใจมาก คือ “ศาสตร์และศิลปะการหลุดพ้น 'ระดับ' รายได้ปานกลาง” เรียบเรียงโดย ปรีดี บุญซื่อ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ ประกอบไปด้วยบทความสั้น 40 บท ที่ผู้เรียบเรียงเก็บความจากหนังสือและบทความของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับจากต่างประเทศมาสรุป อธิบายให้ผู้อ่านที่เป็นคนทั่วไปเข้าใจได้ ชัดเจนเพิ่มขึ้น
ส่วนใหญ่คือการอธิบายและวิเคราะห์ว่า ทำไมบางประเทศ เช่น 4 เสือเศรษฐกิจ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน (รวมทั้งประเทศดาวรุ่งใหม่อย่างเวียดนาม) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น
พวกเขาทำได้อย่างไร มีปัจจัยอะไร มีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไรบ้าง และทำไมประเทศอย่างอาร์เจนตินา ซึ่งเศรษฐกิจเคยเจริญเติบโตสูงมาก่อน แต่ภายหลังกลับล้มเหลว
มีบทความที่วิเคราะห์อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ด้วย ที่กล่าวพาดพิงถึงไทยมีแค่นิดหน่อย แต่การศึกษาวิเคราะห์ประเทศต่างๆ แบบนี้เป็นประโยชน์ที่คนไทยควรจะได้เรียนรู้ วิเคราะห์ อธิบายกันอย่างยิ่ง
เท่าที่ผมติดตามข่าวคราวคนไทย โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ไทยยังเขียน/กล่าวถึงเรื่องนี้กันน้อยไปหน่อย ต้องขอบคุณคุณปรีดี บุญซื่อ ที่ช่วยปลุกความสนใจในเรื่องนี้ ข้อมูลการวิเคราะห์เรื่องที่ว่าทำสิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน อิตาลี ฯลฯ ประสบความสำเร็จ น่าจะนำมาเปรียบเทียบว่าไทยจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร
อ่านจากคำนำของผู้เรียบเรียง มีแนวโน้มเอียงที่คุณปรีดี บุญซื่อ เชื่อว่าไทยอาจใช้โมเดลของประเทศอิตาลีที่มีจุดแข็งคล้ายกันกับไทย คือ อุตสาหกรรม SME (ขนาดกลางและขนาดย่อม) อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งไทยยังมีจุดแข็งบางอย่างที่อิตาลีไม่มี คืออุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ
แต่การที่คนไทยหยิบยกโมเดลหรือประสบการณ์ของประเทศใดประเทศหนึ่งมาใช้นั้น คงต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าปัจจัยต่างๆ ในประเทศไทยนั้นเหมือนหรือแตกต่างกับประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง
มองในแง่ภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง สภาพเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมของผู้คน ไทยน่าจะใกล้เคียงกับประเทศเอเชียตะวันออกอย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มากกว่าอิตาลี ซึ่งอยู่ถึงยุโรป แต่ไทยก็มีปัจจัยที่แตกต่างจาก 4 เสือเศรษฐกิจเอเชียอยู่มาก ไทยถึงได้พัฒนาสู้ 4 ประเทศนี้ไม่ได้
นักวิเคราะห์มักจะมองคล้ายๆ กันว่าที่ 4 เสือเศรษฐกิจเอเชียรวมทั้งจีนพัฒนาได้ดี เพราะมีการปฏิรูปที่ดิน พัฒนาเกษตรกรรมก่อน (ยกเว้นสิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เป็นเมืองแบบนครรัฐ เน้นเรื่องอุตสาหกรรม การค้า) การปฏิรูป/พัฒนาการศึกษา การพัฒนาข้าราชการให้เข้มแข็ง ปราบปรามคอร์รัปชันได้ดี การส่งเสริมระบบการเงิน การธนาคาร อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
โดยภาครัฐเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง และเน้นการเติบโตเสรีทางการลงทุน การค้า เน้นการส่งเสริมนวัตกรรม ทำให้ผู้ผลิตในประเทศของตนแข่งขันได้เก่ง คำอธิบายเหล่านี้มีส่วนจริง แต่ไม่ได้แปลว่าถ้าไทยทำตามโมเดลหรือนโยบายเหล่านี้ได้แล้วไทยก็จะพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี คล้ายกับประเทศเหล่านี้ หรือไล่ตามพวกเขาได้ทัน
การวิเคราะห์แนวนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่มองการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและมองเห็นได้ชัด วัดเป็นตัวเลขเชิงปริมาณได้ แต่ในโลกความเป็นจริงนั้นมีปัจจัยทางด้านโครงสร้างเศรษฐศาสตร์ การเมืองและสังคมวัฒนธรรมที่เราควรต้องนำมาวิเคราะห์ด้วย
เช่น เรื่องการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรม ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างคนชั้นกลางหรือมีระดับรายได้ปานกลางที่มีอำนาจซื้อ รวมทั้งได้รับการศึกษามากขึ้นนั้น ทั้งญี่ปุ่น และ 4 เสือเศรษฐกิจเอเชียทำได้ดีกว่าไทยมาก เรื่องวัฒนธรรมในการอ่าน การอยากเรียนรู้ พวกเอเชียตะวันออก รวมทั้งญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ก็เหนือกว่าไทย ในด้านวัฒนธรรมในการรักการทำงาน เพื่อชาติ เพื่อส่วนรวม เป็นคนซื่อตรง ไทยก็ด้อยกว่าหลายประเทศเช่นกัน
ดังนั้น เราควรศึกษาในแง่ว่าไทยมีจุดด้อยอะไร ที่ทำให้พัฒนาได้ล้าหลังกว่าประเทศอื่นด้วย อย่างบทความที่ 5 เรื่อง อาร์เจนตินา ประเทศที่เคยเศรษฐกิจเติบโตสูงและต่อมาล้มเหลวนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่คล้ายไทยอยู่มาก
ทั้งเรื่องนักการเมืองหาเสียงแบบประชานิยม การมุ่งพัฒนาเกษตรกรรมขนานใหญ่เพื่อการส่งออก ปัญหาเป็นหนี้สินมาก ปัญหาคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวย คนจน
ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ เทคโนโลยีและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การค้าของโลกที่เปลี่ยนไป เช่น การที่จีนส่งออกได้มาก เทคโนโลยีการผลิตใช้เครื่องจักรมากขึ้น ใช้แรงงานลดลง การผลิตเป็นแบบห่วงโซ่อุปทาน ผลิตชิ้นส่วนได้หลายประเทศ ฯลฯ
ดังนั้น ที่ 4 เสือเศรษฐกิจเอเชียเคยพัฒนาได้ เพราะเคยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่างได้ดี เพราะค่าแรงถูกกว่าและผลิตสินค้าได้ต้นทุนต่ำกว่า คือยุคก่อนหน้านั้น ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยเลียนแบบไม่ได้แล้ว ต้องวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจโลกทั้งหมดกันใหม่
รวมทั้งการเติบโตและอิทธิพลของจีนก็น่าจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีปัญหาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน บทความเรื่องจีน สหรัฐ อินเดีย และอื่นๆ ก็ล้วนมีประเด็นที่น่าสนใจ น่าติดตาม วิเคราะห์ต่อ
หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลแง่คิดที่ครอบคลุม หลากหลาย ที่คนไทยควรอ่านและศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมกันให้มากกว่านี้ รัฐบาลทั้งนักการเมือง ข้าราชการไทย ชอบไปดูงานประเทศที่พัฒนาได้ดีกว่าไทย
รวมทั้งเรื่องการศึกษา แต่ถ้าคนไปดูงานไม่ศึกษาวิเคราะห์ให้กว้างขวาง ลึกซึ้ง ก็จะไปเห็นแค่รูปแบบภายนอกที่เขาทำอยู่พอให้เห็นเป็นตัวอย่างและคิดนำโมเดลบางอย่างมาใช้แบบทื่อๆ โดยไม่เข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริงของโครงสร้าง วัฒนธรรมของไทยว่าจะต้องปฏิรูปทั้งระบบอย่างไรบ้าง ก็มักจะล้มเหลวไม่ได้ผล