“ผ้าบ้านชะอาน” แบรนด์ไทย ซอฟต์พาวเวอร์ จ.เพชรบุรี
“ผ้าบ้านชะอาน” แบรนด์ไทย ฝีมือ "เอิร์ธ - จิรภัทร โตภาณุรักษ์กุล” ผู้ออกแบบลายผ้า และสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้ทุกเพศทุกวัย โดยดึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ชูซอฟต์พาวเวอร์ ผลงานศิลปะของ จังหวัดเพชรบุรี
KEY
POINTS
- คุยกับ ฝีมือ "เอิร์ธ - จิรภัทร โตภาณุรักษ์กุล” เจ้าของแบรนด์ "ผ้าบ้านชะอาน” แบรนด์ไทยมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เป็นผลงานศิลปะของ จ.เพชรบุรี
- เอิร์ธ เริ่มจากลองทำลายผ้าเอง เป็นเสื้อเชิ๊ตผู้ชาย และศึกษาเรื่องผ้าเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกเพศทุกวัยใส่ได้ เกิดลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของเพชรบุรี และต่อยอดไปยังชุมชนและกลุ่มเด็กและเยาวชน
- ในวัย 30 ปีที่เริ่มต้นทำธุรกิจ เอิร์ธ มองว่า สิ่งที่คนเริ่มธุรกิจควรจะทำเป็นอันดับแรก คือ การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญ
"ไม่มีแบบที่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จบ้างเหรอ" แค่เพียงคำถามสั้นๆขณะที่ไปออกงานกับ "อ.ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล” เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขร- มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง “ผ้าอัตลักษ์ของเพชรบุรี” กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้ "เอิร์ธ - จิรภัทร โตภาณุรักษ์กุล” ขณะนั้นทำงานที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อยากลองออกแบบ “เสื้อ” ให้คนสามารถใส่ได้แบบทุกเพศทุกวัยใส่ทำงานได้เที่ยวได้
เริ่มจากลองทำลายผ้าเอง คิดว่าถ้าทำเสื้อใส่เองมันต้องเท่ห์แล้วก็ไม่เหมือนใคร เลยเริ่มทำเสื้อเชิ๊ตผู้ชายก่อนใส่ไปไหนได้ ปรากฏว่าทำออกมาแล้วมีคนชอบ ก็เลยทำออกมาเรื่อยๆ ศึกษาเรื่องผ้าเพิ่มเติม จริงๆอยากทำเสื้อผ้าให้ได้เท่ากับแบรนด์ มูจิ หรือยูนิโคล่ที่คนทุกเพศทุกวัยใส่ได้ แต่เป็นแบรนด์ไทยมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นซอฟเพาเวอร์ เป็นผลงานศิลปะของ จังหวัดเพชรบุรี
งานวิจัยผ้าในเส้นทางการค้าโบราณ ศูนย์วิจัยสิงขร- มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่ค้นหาอัตลักษณ์ร่วมใน 3 ประเทศคือจังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย จังหวัดมะริด ประเทศเมียนมา เมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย ได้ลายผ้าอัตลักษณ์ร่วมคือผ้าลายทุ่งนาป่าตาล
โดยการทำผ้าที่เมืองบรากรู ประเทศอินเดีย ด้วยวิธีการโบราณคือการย้อมสีธรรมชาติจากการพิมพ์ลายด้วย บล็อคปริ้น วิธีเดียวกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้เกิดลายผ้าลายแรก คือ ทุ่งนาป่าตาล และทำวิจัยต่อยอดมาเรื่อยๆจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ 'ที่ทำงาน' อาจไม่ดีต่อใจ คนทำงาน 'เหนื่อย ล้า' มองหาพื้นที่ปลอดภัย
- เปิดลิสต์ 5 ประเทศ Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก สุดว้าว ลาคลอดได้ครึ่งปี
- เปิด 10 ศัพท์แสงโลกการทำงาน แต่ละคำสื่อถึงเทรนด์หรือวิถีการทำงานแบบใด?
ลายที่ 2 คือลายครอบครัวป่าวาฬ ลายที่ 3 ลายทวารวดี ลายที่ 4 ลายปลาทู ลายที่ 5 ลายเพชรราชภัฏ ลายที่ 6 ลายสุวรรณวัชร์ จังหวัดคัดเลือกให้เป็นลายประจำจังหวัดเพชรบุรี ลายที่ 7 ลายในน้ำมีปลาในนามีข้าว ลายที่ 8 ลายพลายแรมสิงขร ลายที่ 9 ลายเพ็ชรราชวัตร ถอดแบบจากผ้าห่อคัมภีร์จากวัดลาด เป็นผ้าลายอย่างของอินเดีย
ลายที่ 10 ลายเหรียญดอกไม้พระร่วง ถอดแบบเหรียญที่พบในแม่น้ำเพชรบุรี ลายที่ 11 แผนที่ลายทวารวดีแห่งเมืองพริบพรี การทำงานเรื่องผ้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของเพชรบุรี และต่อยอดไปยังชุมชนและกลุ่มเด็กและเยาวชน เกิดการต่อยอดของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทำให้งานวิจัยสามารถจับต้องได้และเกิด ประโยชน์ต่อสังคม
บริหารความเสี่ยงหัวใจทำธุรกิจ
เอิร์ธ เลือกต่อยอด ลายปลาทู เพราะเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลของจังหวัดเพชรบุรี จึงสื่อออกมาที่ลายผ้า เวลาคนใส่จะได้รู้ที่มาว่า ผ้ามาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนผ้าลายเพชรราชภัฎ คือ ลายที่ถอดแบบมาจากเชิงกรวยเสาวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี มีประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าเช่นกันทุกอย่างมีที่มาเช่นกัน
จึงเน้นผ้าพิมพ์ลายเส้นทางการค้าโบราณ โดยลายผ้าที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ เขายังแกะลายภาพวาดบนฝาผนังวัดใหญ่ เรื่องราววิถีวัว ผลงานศิลปะ ผศ.บุญมา แฉ่งฉายา มาเป็นแพทเทิ้ลลงผ้า และออกแบบลายผ้าเองด้วย ผ่านไปได้ 2 ปี จนถึงตอนนี้ เอิร์ธ เป็นเจ้าของแบรนด์ “ผ้าบ้านชะอาน”
ถึงวันนี้ได้ทำงานที่รักงานที่ชอบกับชีวิตที่มีความสุขแล้วใช่หรือไม่ เอิร์ธ บอกว่า ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะความสุขของเขาคือ จริงๆ แค่มีคนเดินเข้ามาคุยแล้วก็ชื่นชอบผลงานก็ถือว่ามีความสุขแล้ว แต่ว่าจะคอมพลีสไปอีกขั้น ก็คือลูกค้าพร้อมจ่ายเงินโดยที่ไม่ต่อรองราคา คือซื้อด้วยความพึงพอใจแล้ว เพราะลูกค้าชื่นชอบผลงานหรือ ลายผ้า ที่เราทำมา
สำหรับ เอิร์ธ มองความสุขว่าอยู่กับเราไม่นาน แต่สิ่งสำคัญคือการจัดการกับความทุกข์ยังไงมากกว่า คนจะได้ยินว่าความสุขมันผ่านไปไวแต่เราจะทำยังไงให้ความทุกข์มันผ่านไปไวเหมือนความสุขบ้าง มันเป็นเรื่องของความบาลานซ์ในการจัดการความคิดของตัวเองมากกว่า ถามว่าตอนนี้มีความสุขไหมก็มีความสุขแต่พยายามทำให้ความทุกข์มันอยู่กับเราไม่นานแล้วก็น้อยลงกว่าเดิมมากกว่า
วัย 30 ปีที่เริ่มต้นทำธุรกิจโดยได้รับการสนับสนุนแนวคิดการทำธุรกิจจาก “วันดี สถาพร” เอิร์ธ ให้ข้อคิดว่า สิ่งที่คนเริ่มธุรกิจควรจะทำเป็นอันดับแรก คือ การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญ เวลาล้มมีอะไรมารองรับรึเปล่า ทุนที่เรามีว่าเป็นเงินร้อนหรือเงินเย็น ต่อให้มีแนวคิดที่ดีหรือว่าเหตุผลมารองรับขนาดไหนแต่ไม่เคยทำผู้ใหญ่ก็จะไม่เชื่อว่าสามารถทำได้จริงๆ แต่จะมีน้ำหนักเมื่อได้ทำให้เขาเห็นว่าทำได้จริง ทุกคนสามารถคิดได้ พูดได้ ถ้าทำได้ด้วยจะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
เทรนด์ทำงาน4วันต่อสัปดาห์
ปัจจุบันหลายคน หลายองค์กร เริ่มตระหนักถึง Work-life Balance หรือการใช้ชีวิตที่ไม่ได้โฟกัสเรื่องงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น จึงไม่แปลกที่คนยุคใหม่จะมองว่า การทำงานมีวันหยุดเพียง 2 วัน/สัปดาห์ไม่ตอบโจทย์และไม่เพียงพอสำหรับการพักผ่อนหรือลองทำกิจกรรมใหม่ๆ
“การปรับลดวันทำงาน” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาหลายปี โดยมีการทำวิจัยศึกษาอย่างจริงจัง งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชี้ว่า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างมากหากทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ส่วนการศึกษาของ Harvard ระบุเอาไว้ว่าทำงาน 6 ชั่วโมง/วัน ดีที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ไม่ใช่เรื่องดี และส่งผลโดยตรงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
องค์กรหลายแห่งคงเคยนึกถึงการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์กันอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าเมื่อวันทำงานลดน้อยลงแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานจะยังมีเท่าเดิม หรือหากจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ลดลงจะมีผลต่อรายได้
ชั่วโมงการทำงานปกติของออฟฟิศทั่ว ๆ ไป คือ ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 5-6 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่จะมีชั่วโมงการทำงานปกติอยู่ที่ประมาณ 40-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ คือ การลดชั่วโมงการทำงานปกติลงอีก 1-2 วัน ทำให้เหลือชั่วโมงการทำงานเพียง 32 ชั่วโมง
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มวันหยุดเป็นวันศุกร์หรือวันจันทร์ 1 วัน แต่ก็มีไอเดียของการหยุดวันพุธด้วยเช่นกัน ซึ่งแบบหลังนี้เองที่พนักงานออฟฟิศหลายคนคิดว่าดีกว่า เพราะได้มีช่วงให้หยุดพักจากงานระหว่างสัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยล้ามากเกินไป
ข้อดีของวันทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะต้องโฟกัสมากขึ้น สุขภาพดี มีความสุข คือคีย์ของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงาน และช่วยลดโลกร้อน ส่วนข้อจำกัดของวันทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มีดังนี้ กฎหมายวันหยุดและวันทำงานในไทย
จากการสำรวจของ Milieu พบว่า พนักงานในสิงคโปร์, เวียดนาม, ไทย, ฟิลิปปินส์ สนใจการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างผลสำรวจพบว่า มากถึง 76 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 1,000 คนในสิงคโปร์ สนใจการทำงาน 4 วันและหยุดพักผ่อน 3 วันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากใช้ชีวิตเพื่อการทำงานแค่อย่างเดียว แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยากมีวันว่างเพื่อพักผ่อน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะยังมีอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการลดชั่วโมงงาน เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เอื้อต่อการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ขนาดนั้น เพราะมีหลายอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เช่นเดียวกันกับชาวสิงคโปร์หลายคนที่ยังมองว่า ค่าครองชีพในประเทศนั้นค่อนข้างสูง จึงไม่เห็นด้วยกับการลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะการลดวันทำงานเหลือเพียงแค่ 4 วันนั้นหมายความว่าชั่วโมงงานและค่าแรงก็จะหายตามไปด้วย
สำหรับประเทศไทย เมื่อลองค้นหาในโซเชียลมีเดียเรื่องการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ก็พบว่ามีหลายคนพูดถึงแนวคิดนี้บ้างแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ว่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะกับลักษณะการทำงานหรือไม่ เพราะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกจ้างรายวัน ยังไม่สามารถลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลงได้
หากถามว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์จะเกิดขึ้นจริง และกลายเป็นมาตรฐานการทำงานของทั่วโลกได้ไหม เมื่อมองภาพรวมจากการทดลองในหลายๆ ประเทศแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะทำได้จริง และจะไม่กระทบต่อการทำงานอย่างที่หลายๆ คนกังวลใจ เพียงแต่ว่าต้องปรับให้เข้ากับรูปแบบการทำงาน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทั้งองค์กรและคนทำงาน และอาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้ทุกคนปรับตัวเข้ากับการทำงานในรูปแบบใหม่นี้กันได้อย่างทั่วถึง
ทักษะใหม่!คนวัยทำงานต้องมี
โลกทำงานในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย ทักษะทางวิชาการ (Hard Skills) เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องมีทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Soft Skills) ร่วมด้วย เพราะจำเป็นต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จการเตรียมพร้อมสำหรับงานและหน้าที่ใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งทุกอย่างก้าวไปข้างหน้าทุกวินาที นั่นก็เพราะทักษะแห่งอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนควรเรียนรู้
รายงาน Future of Jobs ของ World Economic Forum ระบุว่า ภายในปี 2025 จะมีพนักงานกว่า 50% ที่จำเป็นต้องได้รับฝึกฝนทักษะใหม่ ทว่าแบบสำรวจของ PwC ที่สอบถามผู้นำธุรกิจและหัวหน้าฝ่ายบุคลากรกลับเผยให้เห็นว่า มีเพียง 26% เท่านั้นที่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าพวกเขาสามารถระบุทักษะที่จำเป็นต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างชัดเจน
ทักษะใหม่สุดปัง ที่คนวัยทำงานต้องมี
ข้อมูลจาก Jobs DB เปิดเผยว่าทักษะใหม่ที่คนวัยทำงานต้องมีหากไม่อยากพลาดงานในอนาคต มีดังนี้
1.ทักษะชำนาญการเฉพาะตัวที่ยังขาดไม่ได้ ซึ่งก่อนที่เราจะพัฒนาตัวเองไปสู่ทักษะ Meta Skill สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำงาน ยังคงเป็น ทักษะพื้นฐานสำหรับการทำงานที่ทุกคนต้องมี หรือที่เรียกว่า Hard Skill เป็นทักษะทางด้านความรู้และด้านเทคนิค ตลอดจนความชำนาญเฉพาะทาง หรือความสามารถด้านวิชาชีพที่เราร่ำเรียนมานั่นเอง เช่น ความถนัดทางด้านภาษา สามารถสื่อสารได้หลายภาษา ความถนัดด้านการเขียนโค้ด เป็นโปรแกรมเมอร์เป็นต้น
แม้จะเป็นทักษะความชำนาญเฉพาะทางแต่ในฐานะพนักงานควรปรับตัวและพัฒนาตัวเองตลาดเวลาเพื่อให้เข้ากับความต้องการและเทรนด์ของตลาด ด้วยการหมั่นศึกษาและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ยึดติดแต่กับงานหรือความรู้เดิม ๆ ที่เรียนมา และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
2.มนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศคือสิ่งที่พึงมี ความสามารถด้านสังคมก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการสื่อสาร การโน้มน้าวใจคน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม การรู้จักแก้ปัญหา ที่มีอยู่ในทักษะ Soft Skill ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานและการช่วยให้องค์กรมีความก้าวหน้าและยังสามารถช่วยให้ตัวเองมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อีกด้วย
3.ทัศนคติดี พร้อมเรียนรู้สำคัญที่สุด ภายใต้แนวคิดที่ว่า เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning คือที่มาของทักษะ Meta Skill ความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา มีความกระหายใคร่รู้ เพื่อพัฒนาตัวเองและพัฒนาองค์กร และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ พร้อมต่อยอดไอเดียเก่า ถือว่า Meta Skill คือทักษะที่คนทำงานควรมีในอนาคต เลยก็ว่าได้ หากแบ่งเป็นข้อ ๆ
รู้จัก Meta Skill ทักษะอนาคต
ทั้งนี้ Meta Skill ที่พนักงานควรมีนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.Self-Awareness เป็นความตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง รู้จักและเข้าใจตัวเอง และเข้าใจความเป็นจริงของโลก จะทำให้เรายอมรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี
2.Creativity มีความคิดสร้างสรรค์ ฉลาด รู้จักแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ด้วยตัวเอง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ งานปัจจุบันแทบทุกสาขาวิชาต้องการความคิดสร้างสรรค์ เข้ามาช่วย เพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่งทั้งสิ้น
3.Resilience มีความยืดหยุ่นทางความคิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก แต่หากทำได้แล้วนั้นจะสามารถพัฒนาตัวเอง และช่วยพัฒนาองค์กรได้ดีมาก ถือเป็นทักษะขั้นสูงสุดเลยก็ว่าได้ คล้าย ๆ กับการปล่อยวางกับปัญหา ไม่มองว่ามันคือปัญหา แต่เป็นโจทย์หนึ่ง ที่รอให้เราแก้ไขให้ได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม การจะเป็นพนักงานที่องค์กรต้องการนั้น ต้องหมั่นพัฒนาทักษะ และพร้อมเปิดรับความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าคุณต้องเป็นพนักงานที่มีความสามารถรอบได้ ทั้งความสามารถด้านวิชาชีพ ความสามารถทางสังคม และความสามารถทางความคิด