ต่างวัยไร้ปัญหา!! "วิธีการทำงานเป็นทีม" หลากเจน หลายสไตล์ ก็blendกันได้
การทำงานในยุคปัจจุบันคงไม่สามารถขับเคลื่อน หรือทำได้เพียงคนๆ เดียว เพราะต่อให้งานชิ้นหนึ่งๆ ผลิต หรือสร้างสรรค์จากคนๆ หนึ่ง แต่จะเป็นงานที่สมบูรณ์ ได้นั้น ย่อมมีการติดต่อ ประสานงานร่วมกับคนอื่นๆ ในองค์กรจึงปฎิเสธ “การทำงานเป็นทีม” ไม่ได้
KEY
POINTS
- “การทำงานเป็นทีม” เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการทำงานในฝันของใครหลายคน เพราะผลลัพธ์ของการทำงานมักจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้องค์กรเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
-
การทำงานเป็นทีมอย่างมืออาชีพจะเกิดขึ้นได้ ต้องมี ผู้นำทีม สมาชิกทีม และระบบการทำงานและกติกา ที่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน
-
คนในทีมจะต้องให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน เข้าใจการทำงานของตนเอง และผู้อื่น มีการวางเป้าหมายร่วมกัน เคารพความแตกต่าง สร้างความสัมพันธ์ ไว้วางใจกัน และที่สำคัญต้องสื่อสารกันอยู่เสมอ
ความสำเร็จของงานแต่ละโปรเจกต์ นอกจากประกอบมาจากความคิด การสร้างสรรค์ของแต่ละคนแล้ว “การลงมือทำของคนในทีม” ก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก งานส่วนใหญ่มักจะสำเร็จได้ด้วยการพึ่งพาการทำงานของกันและกัน
ในโลกของการทำงาน “การทำงานเป็นทีม” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันเป็นรากฐาน ที่ช่วยให้องค์กรประความสำเร็จได้ อีกทั้ง การทำงานเป็นทีม ยังถือเป็น ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน อีกด้วย
เพราะความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกคนในองค์กร ก่อให้เกิดพลังที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ดีกว่าการแยกกันทำแบบต่างคนต่างทำ ไร้ทิศทาง ไม่มีเป้าหมายเดียวกัน ปัจจุบันทำให้หลายองค์กรหันมาสนใจและพยายามสร้างระบบการทำงานเป็นทีมมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรในที่สุด
แล้วการทำงานเป็นทีมอย่างมืออาชีพ คืออะไร ใครบ้างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในทีม วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมเทคนิคการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ในคนหลากหลายเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้
องค์กรต้องเซ็กซี่ ดึงดูดคนทำงาน เลือกคนตรงสเปค ตอบโจทย์ใช้ชีวิต
การทำงานเป็นทีม คืออะไร?
การทำงานเป็นทีม (Teamwork) คือ การทำงานมากกว่า 1 คนขึ้นไป จำนวนคนในทีมขึ้นอยู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีในการทำงานแต่ละโปรเจกต์ ภายใต้เงื่อนไขกรอบการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน ผ่านการวางแผนการทำงานร่วมกันเพื่อไปยังปลายทางที่ตั้งไว้
โดยหัวใจสำคัญก็คือทุกคนนั้นจะต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และเต็มใจร่วมกันปฎิบัติภาระกิจต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจนไปสู่ความสำเร็จ แต่การที่ทุกคนจะรวมตัวกันเพื่อทำงานเป็นระบบทีมที่มีประสิทธิภาพนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว เพราะการทำงานระบบนี้มีปัจจัยสำคัญมากมายที่ต้องใส่ใจและจริงจัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปหากทุกคนมีใจที่จะทำความสำเร็จร่วมกัน
โดยวิธีการทำงานอาจจะแตกต่างกันไปได้ตามความถนัดของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้จะต้องออกมาตรงกัน ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการทำงานเป็นทีมที่ดี
การทำงานเป็นTeam VS Group ต่างกันอย่างไร?
การทำงานเป็นทีม และการทำงานแบบกลุ่ม ดูแล้วมีลักษณะที่ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นการปฎิบัติจริง การทำงานใน 2 ลักษณะดังกล่าวต่างกัน โดยเฉพาะการนิยามความหมายกับการทำงานในระบบองค์กรที่หลายคนอาจไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งและเกิดการตีความไปสู่การปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องนัก นั่นอาจทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการทำงานก็เป็นได้
- การทำงานแบบกลุ่ม (Group)
คือการทำงานที่มีสมาชิกมากกว่า 1 คน มารวมตัวทำงานร่วมกัน อาจมีการวางระบบการทำงานหรือไม่มีก็ได้ แต่มักมีวัตถุประสงค์เดียวกัน และมักไม่มีทิศทางชัดเจน โดยทุกคนสามารถขับเคลื่อนงานของตนได้อย่างอิสระ
- การทำงานระบบทีม (Team)
คือการทำงานที่มีสมาชิกมากกว่า 1 คน มารวมตัวทำงานร่วมกัน แต่จะมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน มีการวางแผนงาน ตลอดจนวางระบบการทำงานที่ดี ทุกคนรู้ภาระหน้าที่ของตนเอง มีแรงผลักดันร่วมกัน มุ่งมั่นที่จะทำภาระกิจให้สำเร็จเพื่อบรรลุเป้าหมาย
อย่างไรก็ดีการทำงานของสองระบบนี้ เป็นสิ่งดีทั้งคู่ เพียงแต่ว่ามีประสิทธิภาพต่างกัน ที่สำคัญการทำงานแบบกลุ่มนั้นเป็นพื้นฐานเริ่มต้นที่ดีของการทำงานระบบทีมด้วย หากองค์กรเข้าใจการทำงานในระบบทีมได้ดียิ่งขึ้น ก็อาจพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เช่นกัน
องค์ประกอบของแบบทีมงาน
การทำงานเป็นทีมอย่างมืออาชีพนั้น ควรประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้
- ผู้นำทีม
- สมาชิกทีม
- ระบบการทำงานและกติกา
1.ผู้นำทีม
ผู้นำทีมเปรียบเสมือนกัปตันเรือที่จะคอยควบคุมดูแลให้เรือขับเคลื่อนอย่างถูกทิศทางและพุ่งตรงไปสู่เป้าหมายให้ได้ ผู้นำทีมที่ดีนั้นต้องไม่ใช่เพียงผู้สั่งการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักการบริหารงานและบริหารบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกในทีมให้ดีด้วย โดยผู้นำที่ดีมีคุณสมบัติสำคัญมากมายดังนี้
- เป็นคนมีวิสัยทัศน์
ผู้นำที่ดีควรมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ สามารถมองไปข้างหน้า เข้าใจทิศทาง และรู้จักวิธีขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้เป็นอย่างดีที่สุด
- เป็นคนที่มีความคิดริเริ่มที่ดี
ผู้นำที่ดีควรเป็นคนที่หมั่นคิดริเริ่มอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ หาวิธีการตลอดจนกระบวนการใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และต้องรู้จักจุดประกายอะไรใหม่ๆ ให้กับทีมด้วย
- เป็นผู้ที่วางแผนได้ดี อุดรูรั่วได้เก่ง
เมื่อผู้นำมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนแล้วย่อมต้องวางแผนการทำงานได้ดี รวมถึงแบ่งงาน จัดการหน้าที่ บริหารการทำงานสมาชิกในทีมให้ดีได้ด้วย เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยามที่เกิดรูรั่ว ผู้นำต้องเห็นก่อน และสามารถหาวิธีตลอดจนแนะนำการแก้ไขได้รวดเร็วและทันท่วงทีได้ด้วย
- เป็นคนที่มีวินัยและความรับผิดชอบ
ผู้นำที่ดีต้องทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ มีวินัย และควบคุมการปฎิบัติงานให้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ให้ดีที่สุด
- มีทักษะในการสร้างแรงจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นที่ดี
ยามเกิดปัญหา หรือองค์กรเคลื่อนที่ช้าจากอุปสรรค์ใดๆ ก็ตาม ผู้นำที่ดีควรควบคุมสถานการณ์ได้ ขณะเดียวกันควรสร้างแรงจูงใจส่งเสริมการทำงานระบบทีมให้มีพลังในการก้าวต่อไปได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนในทีมได้
- เป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม และเป็นผู้ฟังที่ดี
การสื่อสารที่ดีจะทำให้การทำงานระบบทีมราบรื่น และทำให้องค์กรก้าวหน้าได้ไว การสื่อสารกับคนในทีมที่ดีย่อมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ดีด้วย
ขณะเดียวกันผู้นำก็ต้องรู้จักการเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในทีมทุกคนอย่างเท่าเทียม และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด
- เป็นนักคิดวิเคราะห์ที่ดี และมีทักษะในการตัดสินใจที่เฉียบแหลม
ต้องเป็นคนที่ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม กล้าตัดสินใจ ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และรอบคอบ ซึ่งการที่จะทำอย่างนั้นได้ย่อมต้องเป็นผู้ที่วิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้ดีด้วย
2.สมาชิกทีม
เมื่อมีผู้นำที่ดีแล้ว หากขาดผู้ตามที่ดีการทำงานในระบบทีมนั้นก็ไร้ค่า การที่ผู้นำได้ผู้ตามที่ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างดีนั้นก็ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในที่สุด สมาชิกในทีมทุกคนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในระบบการทำงานเป็นทีม ซึ่งคุณลักษณะสำคัญมีดังนี้
- เป็นคนที่รับผิดชอบในการทำงาน
สมาชิกที่เป็นผู้ตามที่ดีหากมีความรับผิดชอบในการทำงานตามหน้าที่และภาระกิจที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี
- เคารพกฎและกติการ่วมกัน
กฎและกติกาต่างๆ จำเป็นต่อการทำงานในระบบทีมมาก เพราะทุกคนไม่ได้ทำงานคนเดียว และทุกคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ก็คือการเคารพและยอมรับปฎิบัติตามในกฎระเบียบเดียวกัน
- ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่
ระบบการเป็นทีม คือการทำงานร่วมกัน หากไม่เกิดความร่วมมือย่อมทำให้การทำงานเกิดปัญหาได้ เมื่อไม่มีความร่วมมือกันระบบการทำงานเป็นทีมก็จะพัง
- ยอมรับความแตกต่าง เปิดใจรับความคิดเห็นใหม่ๆ
บนโลกนี้ไม่มีใครที่เหมือนกัน และมีความคิดเห็นตรงกันไปเสียทุกเรื่อง การเห็นต่างกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สิ่งที่ควรทำก็คือการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
- คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
การทำงานระบบทีม จะต้องยึดถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก องค์กรควรมาก่อนส่วนตน และยินดีกับความสำเร็จร่วมกัน
3.ระบบการทำงานและกติกา
สิ่งที่จะยึดโยงให้สมาชิกแต่ละคนในแต่ละบทบาททำงานร่วมกันในระบบทีมได้ก็คือเรื่องของระบบการทำงานแบบทีมและกติกาที่ทุกคนต้องเคารพร่วมกันนั่นเอง เพราะนี่คือกรอบสำคัญที่จะทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
- ระบบการทำงานต้องแบ่งหน้าที่ชัดเจนไม่ทับซ้อน
- กติกาต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย และเห็นพ้องต้องกัน
- ระบบการทำงานต้องปฎิบัติได้ง่าย ไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงาน
- สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
คุณสมบัติทีมงานและการทำงานระบบทีมอย่างมืออาชีพ
1.การปฎิสัมพันธ์กันของคนในทีม
การทำงานระบบทีมที่ดีต้องมีการปฎิสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน พูดคุย ปรึกษา ช่วยเหลือ สื่อสารการทำงานระหว่างกัน หากการทำงานระบบทีมเป็นแบบทำใครทำมัน ไม่มีการปฎิสัมพันธ์ระหว่างกัน นั่นไม่เรียกว่าการทำงานเป็นทีม และก่อให้เกิดผลเสียหายได้ง่าย
2.มีเป้าหมายที่จะบรรลุร่วมกัน
นั่นถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการทำงานเป็นทีมเลยก็ว่าได้ หากการทำงานในระบบทีมถึงแม้จะดีเพียงไรก็ตาม หากไม่มีเป้าหมายชัดเจน ก็จะไม่มีทิศทางของการทำงานที่แน่ชัด และจะไม่มีการร่วมแรงร่วมใจกันที่มีพลัง ไม่มีแรงผลักดันให้ปฎิบัติภาระกิจหน้าที่การงานให้สำเร็จ ซึ่งสิ่งนี้ที่ทำให้การทำงานแบบทีมต่างจากการทำงานแบบกลุ่ม
3.มีโครงสร้างและระบบการทำงานที่ชัดเจน
เมื่อเกิดการทำงานแบบทีมแล้วสิ่งที่จะช่วยทำให้การทำงานระบบนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็คือการวางโครงสร้างของการทำงานตลอดจนหน้าที่การทำงานของแต่ละคนให้ชัดเจน มีภาระกิจที่เข้าใจได้ง่าย และปฎิบัติได้ตามความสามารถ การวางโครงสร้างนั้นอาจหมายถึงการวางตำแหน่งการทำงานด้วย นั่นรวมถึงการวางโครงสร้างอำนาจ มีระบบหัวหน้าทีมและลูกน้อง เพื่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพด้วย รวมถึงการเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างดี และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของคนอื่นให้ทีมให้ถี่ถ้วน
4.มีความรู้สึกร่วมกันและมีทัศนคติในทิศทางเดียวกัน
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างของการทำงานเป็นทีมก็คือทุกคนในทีมต้องมีความรู้สึกร่วม มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกัน ตลอดจนมีทัศนคติในการทำงานไปในทางเดียวกัน หากทีมที่มีทัศนคติสวนทางกัน หรือไม่มีความรู้สึกร่วมกัน ก็ย่อมเหมือนเรือที่ฝีพายพายอย่างสะเปะสะปะ ไม่พร้อมเพรียง ที่สำคัญความรู้สึกร่วมและทัศนติในทิศทางเดียวกันนั้นก่อให้เกิดความสามัคคีได้ง่ายอีกด้วย
5.เปิดเผย ตรงไปตรงมา จริงใจต่อกัน และไว้เนื้อเชื่อใจ
การเปิดใจกันเป็นส่วนสำคัญของการทำงานระบบทีมเช่นกัน เพราะการทำงานระบบทีมนั้นวัดความสำเร็จที่องค์รวม ฉะนั้นทุกคนจึงควรเปิดใจกัน ยอมรับกัน พูดกันอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ทำงานแบบช่วยเหลือกันแทนที่จะแข่งขันกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่ปิดบังข้อมูลกัน หากแต่ละคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ร่วมมือร่วมแรง ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อกัน กันให้อีกฝ่ายไม่ได้ประโยชน์ที่เหนือกว่าตน ความไม่จริงใจต่อกันนี้ย่อมทำให้ระบบทีมล่มสลายได้เช่นกัน
หลักการทํางานเป็นทีมอย่างมีความสุข
การทำงานเป็นทีมอย่างราบรื่นและสร้างสรรค์นั้น มีหลักการทำงานร่วมกันง่าย ๆ ที่ทำแล้วได้ประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้
- จริงใจและเชื่อใจกัน
ทั้งสองสิ่งนี้เป็นพื้นฐานของทุกความสัมพันธ์ที่ดี การทำงานเป็นทีมเองก็เช่นกัน หากคนในทีมมีความจริงใจให้แก่กัน เชื่อใจกัน และเชื่อในความสามารถของกันและกัน
- มีระบบการทำงานและเป้าหมายเดียวกัน
หากกำหนดทิศทางและปลายทางที่ชัดเจนแล้ว อย่าลืมวางกรอบและระบบการทำงานให้ชัดเจนควบคู่ไปด้วย เมื่อเส้นชัยและโครงสร้างแข็งแรงแล้ว การทำงานเป็นทีมก็จะสำเร็จได้ง่ายขึ้น เพราะทั้งหมดนั้นเดินไปในแนวเดียวกัน
- การสื่อสารคือสิ่งสำคัญ
เมื่อทำงานร่วมกับคนมากกว่าหนึ่งคน ความเข้าใจคือสิ่งสำคัญ ซึ่งการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้การทำงานเป็นทีมบรรลุไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดยการพูดคุยกันอยู่เสมอ รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา
10 วิธีทำงานเป็นทีม ใช้งานได้จริง
"การทำงานเป็นทีม" ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญสำหรับคนทำงานในยุคนี้ โดยบางตำแหน่งงานมีการระบุไว้ชัดเจนว่าต้องการผู้ที่มีความสามารถในการทำงานเป็นทีมอีกด้วย โดยวิธีการทำงานเป็นทีมที่ใช้งานได้จริงมีดังต่อไปนี้
1. ให้ความสำคัญกับทุกความเห็นของคนในทีม
สิ่งหนึ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าต่อการทำงานเป็นทีม คือการที่สมาชิกในทีมหรือหัวหน้ารับฟังและทำความเข้าใจกับไอเดียที่นำเสนอไป แสดงให้เห็นถึงการเคารพความคิดของทุกคนอย่าเท่าเทียมกัน
2. เข้าใจถึงบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละคน
การทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้นั้น ทุกคนในทีมต้องรู้ในหน้าที่ของตัวเองเสมอ รวมถึงเคารพในบทบาทของเพื่อนร่วมทีมคนอื่นเช่นกัน ไม่ก้าวก่ายกันแต่สามารถแนะนำด้วยความหวังดีและจริงใจต่อกัน เพื่อให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปด้วยความราบรื่น
3. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
การมีเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดินไปตามกรอบไม่ออกนอกทาง รู้ว่าต้องไปแนวไหนให้ไม่หลงทางจนเสียแผน ทั้งหมดนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการของการทำงาน
4. มีสื่อสารกันอยู่เสมอ
การสื่อสารนั้นหมายถึง การสื่อสารความคิด บอกเล่าปัญหา หรือแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น รวมไปถึงรับฟังกันให้มากที่สุด เคารพกันและกัน ผู้ฟังก็ควรที่จะรับคำแนะนำที่ได้รับมาพิจารณาอย่างเปิดใจ
5. ตัดสินใจร่วมกัน
เริ่มด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมได้แสดงความเห็น และตัดสินใจหาทางออกร่วมกัน หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เน้นความฉับไวในการตัดสินใจที่ทำไปแล้ว คนที่ตัดสินใจก็ควรอธิบายถึงสาเหตุที่เลือกตัดสินใจไปแบบนั้นกับทีม รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของคนในทีมด้วย เพื่อแสดงความเคารพการทำงานเป็นทีม
6. สร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจที่ดีต่อกัน
สนับสนุนและให้กำลังใจเพื่อนร่วมทีมอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีบรรยากาศการทำงานที่ดี คนทำงานมีความสุข ทั้งนี้ความไว้ใจกันสามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการเชื่อในทักษะความสามารถของทุกคนในทีม
7. ทำกิจกรรมนอกเหนือจากงานร่วมกัน
เรียนรู้ตัวตนของเพื่อนร่วมทีมในมุมผ่อนคลายดูบ้าง ก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการทำงานเป็นทีม โดยจัดกิจกรรมเช่น กินข้าวเที่ยงร่วมกัน ไปร้องคาราโอเกะตอนเย็นหลังเลิกงาน ฯลฯ แลกเปลี่ยนความชอบในเรื่องส่วนตัว สิ่งนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนในทีมดีขึ้น
8. เคารพความแตกต่างของคนในทีม
เคารพที่ว่าคือเคารพทั้งตัวตนและความคิด เพราะในสังคมปัจจุบัน เรื่องเพศ อายุ กายภาพภายนอกสำหรับเนื้องานส่วนใหญ่แล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ปัจจัยในการทำงาน ดังนั้นคนในทีมจึงต้องเคารพความต่างของกันและกัน รวมถึงเข้าใจถึงความคิดที่ต่างกัน ซึ่งข้อหลังนี้คือจุดแข็งของการทำงานเป็นทีม การมีชุดความคิดที่หลากหลายจากคนในทีม จะช่วยให้งานออกมารอบด้านและรอบคอบมากขึ้น
9. เปิดกว้างรับฟังฟีดแบกอยู่เสมอ
วิธีการทำงานเป็นทีมที่ดีอย่างยั่งยืน คือการรับฟังความคิดเห็นของคนในทีมทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการรับฟังคำแนะนำเกี่ยวกับงานที่ตัวเราเป็นคนรับผิดชอบ เพื่อนำไปวิเคราะห์ แก้ไข และประยุกต์ใช้กับการทำงาน
10. พร้อมแก้ไขและปรับปรุง
เมื่อได้ฟีดแบกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือนำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์ พูดคุยกันในทีม หาทางออกของปัญหาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จับมือแก้ไขไปพร้อมกันโดยความสมัครใจของคนในทีม วิธีแบบนี้อาจจะใช้เวลามากขึ้น แต่ยั่งยืนกว่าในระยะยาว
การทำงานเป็น Teamwork อย่างมีประสิทธิภาพ
1. เข้าใจการทำงานของตนเอง และคนอื่น
จุดเริ่มต้นแรกของการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพนั่นก็คือ “ผู้ปฏิบัติงาน” แม้จะเป็นหน่วยเล็กที่สุดของทีม แต่ก็สำคัญที่สุดเช่นกัน เพราะการที่ทีมมีบุคลากรที่ดีมารวมตัวกัน รวมทั้งมีความเข้าใจถึงการทำงานของผู้อื่นในทีม โดยอาศัยข้อดีเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากมีจุดไหนที่แตกต่างกันมาก ก็พร้อมจะเข้าใจ
2. สร้างและโฟกัสเป้าหมายร่วมกัน
เมื่อทำงานเป็นทีมก็ควรเริ่มวางแผนโดยสร้างวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อโฟกัสเป้าหมายในการเดินไปข้างหน้าร่วมกัน และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้บรรลุความสำเร็จตามภารกิจ ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ดี ควรมีการกำหนดขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนให้ชัดเจน แต่โฟกัสในสิ่งเดียวกัน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือร่วมมือร่วมใจและวัดความสำเร็จของทีม โดยอาจเขียนวัตถุประสงค์และหน้าที่ของแต่ละคนเป็นลายลักษณ์อักษรให้เข้าใจง่ายและทำได้จริง สนองนโยบายองค์กร
3. สร้างทีมด้วยความสามารถหรือจุดเด่นของแต่ละคน
เมื่อกำหนดหน้าที่และภาระงานของแต่ละคนตามความสามารถ ตำแหน่ง และประสบการณ์แล้ว หัวหน้าทีมก็ควรมองหาจุดเด่นของแต่ละคน ทั้งในเรื่องการทำงานและทัศนคติต่าง ๆ เพื่อต่อชิ้นส่วนจิ๊กซอว์แต่ละอันให้เข้ากันประสานเป็นหนึ่งเดียว อาจสร้างระบบบัดดี้เพื่อให้รองรับการทำงานซึ่งกันและกัน ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและลดความผิดพลาดของงาน
4. ตรงไปตรงมา จริงใจต่อกัน ให้การสนับสนุนกัน
เมื่อทำงานร่วมกันเพื่อจุดประสงค์เดียวกันแล้ว ก็ควรเปิดใจต่อกัน ตรงไปตรงมาทั้งในเรื่องของงาน และความจริงใจระหว่างกันในทีม มีข้อเสนอแนะ เห็นพ้องเห็นต่างในจุดไหนอย่างไรก็กล้าที่จะพูดออกไปตามตรงโดยไม่ใช้อารมณ์หรือเรื่องส่วนตัว เมื่อเห็นต่างแล้วก็ควรมีเหตุผลที่ดีสนับสนุนให้เกียรติกัน พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมได้แก้ไขจุดบกพร่อง สิ่งนี้ไม่นับเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่คือความจริงใจและให้การสนับสนุนกันอย่างแท้จริง
5. เพิ่มความสนิทสนม สานสัมพันธ์
ฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างานในหลาย ๆ องค์กร มีนโยบายละลายพฤติกรรมของทีม เช่น การไปเที่ยว Outing กิจกรรมสนุกสนานร่วมกันต่าง ๆ เพื่อหนุนให้เกิดความสนุกสนานสานสัมพันธ์กันในองค์กร เมื่อมีความสนิทสนมกันระดับหนึ่งแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ทีมทำงานไปด้วยกันอย่างราบรื่นมากขึ้นไปอีก กิจกรรมแบบนี้จึงควรจัดขึ้นปีละหลายครั้งหน่อย เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องการทำงานเป็นทีมแล้ว ยังช่วยลดภาวะความตึงเครียดจากการทำงานได้อีกด้วย
6. เป็นผู้นำที่ดี และเป็นผู้ตามที่มีวินัย
บุคคลในทีมที่มี Teamwork ดี มักจะประกอบด้วยคนที่มีลักษณะภาวะความเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามในขณะเดียวกัน คำว่าผู้นำในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการเป็นหัวหน้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงความคิดเห็น รู้หน้าที่ของตนเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาบังคับ มีข้อเสนอแนะที่ดีให้เพื่อนร่วมทีมอยู่เสมอ และในขณะเดียวกัน เมื่อผู้อื่นในทีมแสดงภาวะความเป็นผู้นำบ้าง ก็สามารถเป็นผู้ตามที่มีวินัย เปิดกว้าง ยอมรับข้อเสนอแนะแล้วนำมาปรับปรุงตนเองได้ ให้สมาชิกในทีมได้พัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการทำงานเป็นทีมที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น ทักษะการประสานงาน ทักษะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทักษะทางการเงิน ฯลฯ เพราะไม่มีใครที่เพอร์เฟคมีความสามารถครบทุกด้าน
การทำงานเป็นทีมจึงเป็นการช่วยกันอุดช่องโหว่ของแต่ละคน โดยที่ไม่ลืมการมีผู้นำที่มาช่วยเติมเพิ่มพลังในการโฟกัสจุดประสงค์ของงานร่วมกัน มีการพัฒนาสัมพันธภาพในทีมให้ดีอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง: jobsdb , plearn เพลิน by krungsri ,hrnote.asia