ตลาดแรงงาน ต้องการทักษะ AI 'แรงงานไทย' พร้อมหรือยัง

ตลาดแรงงาน ต้องการทักษะ AI 'แรงงานไทย' พร้อมหรือยัง

การมาของ AI ส่งผลให้ตลาดแรงงาน ต้องการคนที่มีทักษะด้านนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การพัฒนาคนที่มีทักษะ AI ยังพบข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็น บุคลากรที่มีความรู้เรื่อง AI และดิจิทัลมีจำนวนจำกัด ผู้เชี่ยวชาญมีไม่มาก และ การลงทุนในการพัฒนาด้าน AI ยังไม่เพียงพอ

KEY

POINTS

  • ดิจิทัล การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถือเป็นอันดับ 1 ใน 5 ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการระดับโลก เอเชีย รวมถึงประเทศไทย 
  • ปัจจุบัน ในหลายอุตสาหกรรมได้นำ AI และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้มากขึ้น ผลสำรวจ พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มนำร่องใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานนั้นสามารถทดแทนแรงงานได้เฉลี่ย 20-30% ของการจ้างงาน
  • อย่างไรก็ตาม AI อาจไม่สามารถทดแทนคนได้ 100% หากแรงงานมีการปรับตัว ภาคการศึกษาเตรียมความพร้อมกำลังคน โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน อัปสกิล รีสกิล จากผู้ที่จะถูกทดแทน มาเป็นผู้ใช้

 

เราได้ยินมานานว่า  AI จะเข้ามาดิสรัปการทำงาน แรงงานจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และเสี่ยงตกงานในอนาคต ปัจจุบัน เห็นแล้วว่าในหลายอุตสาหกรรมได้นำ AI และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม AI อาจไม่สามารถทดแทนคนได้ 100% หากแรงงานมีการปรับตัว ภาคการศึกษามีการเตรียมนักศึกษาที่จะมาเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมในอนาคต โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน อัปสกิล รีสกิล จากผู้ที่จะถูกทดแทน มาเป็นผู้ใช้ จะทำให้การทำงานร่วมกับเทคโนโลยีมีประสิทธิมากยิ่งขึ้น

 

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จากัด เผยผลสำรวจ จาก Global Talent Survey ซึ่งเป็นการสำรวจผ่านเว็บไซต์และการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ Boston Consulting Group (BCG) และ The Network ในปี 2565 ซึ่งมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 90,547 คน จาก 160 ประเทศ ในหลากหลาย อุตสาหกรรม

 

แบบสำรวจยังยังโฟกัสตลาดแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีตอบแบบสำรวจจำนวน 97,324 คน จาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ร่วมตอบแบบสำรวจชดุนี้ทั้งสิ้น 2,636 คน

 

ผลสำรวจพบว่า งานดิจิทัล วิเคราะห์ข้อมูล เอไอ ตลาดต้องการมากสุด สำหรับตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการระดับโลก เอเชีย รวมถึงประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ดิจิทัล การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คิดเป็น 37%

2.งานด้านสื่อ ศิลปะ และการออกแบบ 36%

3.งานการบริการและการต้อนรับ 34%

4.งานบริการทางการเงิน 30%

5.งานบริการด้านสุขภาพและสังคม 30%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

โดย 5 สายงานดังกล่าว มาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด สอดรับกับประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทำให้ทุกธุรกิจต้องการบุคลากรที่เข้าใจงาน และพร้อมเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ 5 สายงานยังมีจุดเชื่อมโยงด้านทักษะการวางแผน การสื่อสาร เกี่ยวเนื่องถึงการเงิน สุขภาพ ซึ่งปีหน้าอาจพบธุรกิจใหม่มากขึ้น

 

AI กับตลาดแรงงานไทย

ที่ผ่านมา รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึง แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัลปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ. 2024 จะก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดด้วยการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ด้วยการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดย AI ซึ่งการแข่งขันกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆของบริษัทไฮเทคจะพลิกผัน หรือ Disrupt ธุรกิจอุตสาหกรรมเดิมพลิกโฉมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

การพัฒนาของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สมองกลอัจฉริยะ AI จะส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต อย่าง หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ AI และจะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานพนักงานที่เป็นสายผลิตซ้ำๆ ที่มีมูลค่าต่ำ ฉะนั้น การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น

 

 

“ภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษา คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2576 เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าเดิม และจะต้องใช้งบสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการศึกษานโยบายการเปิดเสรีแรงงานและควรพิจารณาการรับผู้อพยพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีคุณภาพ”รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

 

ข้อจำกัดพัฒนาแรงงานเชี่ยวชาญ AI

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ AI ตามความต้องการของตลาด ยังมีข้อจำกัด ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) มองว่า ข้อจำกัดของการพัฒนาคนด้าน AI มี 2 ประเด็นหลักๆ คือ

 

1.บุคลากรที่มีความรู้เรื่อง AI และดิจิทัลมีจำนวนจำกัด เนื่องจาก AI มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีนักวิจัย หรือคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ ในประเทศไม่มาก การผลิตกำลังคนที่มีทักษะด้านนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ทั้งที่การผลิตกำลังคน ทุกคณะต้องมีการเติมเต็มทักษะด้าน AI และดิจิทัลให้แก่นักศึกษา ให้พวกเขามีความรู้ เข้าใจ ใช้งานได้ และรู้จักการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

 

2.การลงทุนด้าน AI ขณะนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษามีพยายามที่จะลงทุนด้านAI รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนภาคการศึกษาเอง การลงทุนปรับการเรียนการสอนให้เป็นดิจิทัล หรือมีการนำ AI มาใช้ทั้งหมด เป็นการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจจะมีงบประมาณไม่เพียงพอ ปัจจุบัน จะเป็นการเรียนการสอนในแต่ละคณะ หรือมีการจัดตั้งศูนย์วิจัย AI 

 

เทคโนโลยี ยกระดับการแข่งขัน

ดร.ชัชชัย มองว่า AI มาแทนคนไม่ได้ 100% แต่แรงงานต้องมีทักษะ AI เพราะรูปแบบการทำงานในปัจจุบันค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการทำงานร่วมระหว่างคนกับ AI ฉะนั้น แรงงานจะไม่ว่างงาน อยู่รอดในสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดต้องมีทักษะด้านนี้ คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่มีทักษะ AI พวกเขาจะเสียโอกาส ยิ่งในภาคธุรกิจ การแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีจะสูงนั้น นักการตลาด นักบริหารธุรกิจหากได้ทำงานร่วมกับ AI ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มมูลค่าของงาน จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม วิธีที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับการแข่งขัน และความยั่งยืน ประกอบด้วย

1.นำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาใช้

2.ลงทุนในเทคโนโลยี

3.ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

4.มุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

5.พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากร

6.ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญนำมาปรับใช้กับองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

AI ควบคู่แรงงานคน

ด้าน รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันมีหลายระดับ ซึ่งจะให้กล่าวว่า AI หุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานทุกระดับคนไม่ได้ และไม่สามารถมาแทนที่ได้ 100% เพราะนายทุน ภาคอุตสาหกรรมอาจจะไม่มีทุนพอในการซื้อเทคโนโลยีต่างๆ และบางอุตสาหกรรม อย่าง อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการใช้ AI และหุ่นยนต์อยู่แล้ว หรือโรงงานผลิตชิ้นส่วนบางอย่าง อาทิ โรงงานทำแผ่นอุปกรณ์ในต่างประเทศจะใช้คนเพียง 4 คน ส่วนกระบวนการอื่นๆ ล้วนใช้ AI ทั้งสิ้น

 

อุตสาหกรรมจะใช้ AI ควบคู่กับการใช้แรงงานคน แต่ถ้าอุตสาหกรรมไหนเป็นการทำงานซ้ำๆ รูปแบบเดิมๆ ก็จะใช้ AI มากกว่าคน หรือใช้ AI แทนคน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพ ทักษะแรงงานไทย ไม่ควรไปถามแรงงานไทยว่าจะพัฒนาทักษะอย่างไร เพราะในประเทศไทยแรงงานส่วนใหญ่จะทำงานวันละ 12 ชั่วโมงพวกเขาจะเอาเวลาไหนไปอบรมพัฒนาตนเอง แต่ควรไปถามนายจ้างว่าจะยอมให้แรงงานไปอบรมโดยที่ต้องสูญเสียกำลังผลิตหรือไม่ หรือภาครัฐจะสนับสนุนนายจ้างอย่างไรในการพัฒนาแรงงาน ดังนั้น เรื่องการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ อัพสกิล รีสกิล หรือใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ได้ คงอยู่ที่นายจ้างกับรัฐบาล

 

“การพัฒนากำลังคนที่มีทักษะด้าน AI หุ่นยนต์ มีความสามารถในการใช้งานได้นั้น ต้องเริ่มจากมีการเรียนการสอน ซึ่งระบบการศึกษาในขณะนี้มีหลักสูตร AI และการเรียนการสอนเกี่ยวกับ AI แต่จะเป็นการเตรียมกำลังคนที่เพียงพอหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าพัฒนาคนไม่เพียงพอ สถาบันอาชีวศึกษา อุดมศึกษา รัฐบาลต้องมีการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านนี้ ต้องหารือร่วมมือกับนายจ้าง สมาคมอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดการพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงาน ขณะที่สหภาพแรงงานต้องมีบทบาทในการฝึกอบรม หรือช่วยเหลือคนเมื่อว่างงาน แต่ในไทย สหภาพแรงงานก็ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย” ดร.แล กล่าว

 

แรงงาน ปรับตัวรับการมาของ AI

ที่ผ่านมา องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ออกแถลงการณ์เตือนแรงงานในกลุ่มอาเซียนว่า เป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิต และบริการทั้งยังคาดการณ์ว่าในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไป แรงงานกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ก็มีโอกาสจะถูกทดแทนด้วยเช่นกัน

 

สอดคล้องกับผลศึกษาของสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มนำร่องใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานนั้นสามารถทดแทนแรงงานได้เฉลี่ย 20-30% ของการจ้างงาน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ธนาคารพาณิชย์, ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่านายจ้างกลุ่มนี้มีการลดการรับพนักงานเพิ่มชัดเจน

 

ภาคภูมิ เอี่ยมจิตกุศล ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แรงงานกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กลุ่มที่ยังไม่ตระหนักและไม่ปรับตัวให้พร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะในความเป็นจริง AI ไม่ได้สร้างให้เกิดปัญหาการว่างงาน แต่ AI กลับเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่ว่าธุรกิจจะต้องลงทุนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับแรงงานเพื่อความสำเร็จในอนาคตของธุรกิจ

 

ดังนั้น แรงงานต้องตระหนักถึงความจำเป็นของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อฉกฉวยโอกาสจากงานรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ทุกคนต้องพัฒนาและเรียนรู้อยู่เสมอ และต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงทำให้ตนเองสามารถหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับงานที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต