คนทำงานบ้านเฮ!! กฎกระทรวงแรงงาน ได้สิทธิลาคลอด 98 วัน มีผลบังคับใช้แล้ว
"พิพัฒน์ ดันกฎกระทรวงแรงงานได้สำเร็จ สิทธิลาคลอด 98 วัน มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ตรงจุดที่สุด
หลายคนยังเข้าใจผิดว่า สิทธิลาเพื่อคลอดบุตรตามกฎหมายคือ 90 วัน แต่จริง ๆ แล้ว ปัจจุบัน"สิทธิลาคลอด"บุตรให้ลูกจ้างหญิงลาคลอดได้ 98 วัน โดย วันลาคลอดบุตร จะนับรวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดเข้าไปด้วย รวมเป็น 98 วันนั่นเอง ส่วนการจ่ายค่าจ้าง พนักงานก็จะได้รับค่าจ้างในช่วงที่ลา จำนวน 45 วัน เช่นเดิม แต่อีก 8 วันที่เพิ่มเข้ามา หากพนักงานใช้สิทธิลาครบ 98 วัน ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงินก็ได้ ฉะนั้นก่อนจะใช้วันลาให้ครบ 98 วัน ควรตรวจสอบกับบริษัทให้แน่ชัดเสียก่อน ว่าจะได้รับเงิน จำนวน 45 วันตามสิทธิแบบเดิมไหม
หลายคนอาจไม่ทราบว่า การไปตรวจครรภ์ก็ได้รับสิทธิประกันสังคมช่วยค่าตรวจครรภ์ และฝากครรภ์ โดยสิทธิที่คุณแม่จะได้รับ คือ ค่าตรวจครรภ์และค่าฝากครรภ์ เป็นเงิน 1,500 บาท รวมทั้งค่าอัลตราซาวด์ วัคซีน หรือค่ายาต่าง ๆ โดยจะยื่นขอเบิกก่อนหรือหลังคลอดก็ได้ ซึ่งจะแบ่งการจ่ายเงินออกเป็น
- ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 500 บาท
- ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 300 บาท
- ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 300 บาท
- ครั้งที่ 4 อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 200 บาท
- ครั้งที่ 5 อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 40 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 200 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แรงงาน 69.4% ไร้แผนมีลูก เหตุกลัวไม่มีเงิน ระบุสิทธิลาไม่ครบต้องรีบทำงาน
ขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างทำงานบ้าน ลาคลอดเพิ่ม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีหลักประกันสังคม มีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างซึ่งทำงานบ้าน
การคุ้มครองตามกฎหมายยังไม่ครอบคลุมและยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จึงเร่งผลักดันกฎหมายให้ขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างซึ่งทำงานบ้านได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา
ออกกฎกระทรวง เพิ่มการคุ้มครองให้กับลูกจ้างซึ่งทำงานบ้าน
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2567) ตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 เมษายน 2567 เพิ่มการคุ้มครองให้กับลูกจ้างซึ่งทำงานบ้าน 11 เรื่อง ได้แก่
1) มีเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
2) มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
3) มีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็น
4) ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานเวลา 22.00 – 06.00 น. ทำล่วงเวลา หรือวันหยุด
5) ลูกจ้างหญิงลาคลอดได้ 98 วัน
6) ห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์
7) ให้นายจ้างแจ้งการใช้แรงงานเด็ก
8) ลูกจ้างเด็กมีสิทธิฝึกอบรมโดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน
9) ลูกจ้างหญิงได้รับค่าจ้างลาคลอด 45 วัน
10) ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
11) ลูกจ้างได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้ มีผลบังคับใช้แล้ว
“เรามุ่งผลักดันกฎหมายให้ออกมาตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ตรงจุดที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมในการพัฒนาชีวิตคุณภาพแรงงานนอกระบบในมิติต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานให้ดีขึ้นต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว