ต่างมุม!! "นายจ้าง ลูกจ้าง" หนุน-ค้าน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

ต่างมุม!! "นายจ้าง ลูกจ้าง" หนุน-ค้าน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

นายจ้าง -ลูกจ้าง เดินทางเข้าพบรมว.แรงงาน "หนุน -ค้าน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ทุกอาชีพ" รมว.แรงงาน ยืนยันถึงเวลาต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

KEY

POINTS

  • สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย เสนอ 3 เรื่องหนุนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400บาททั่วประเทศ ทุกอาชีพ ช่วยพี่น้องแรงงานไทย
  • ขณะที่ฝั่งนายจ้าง ยื่นค้านปรับขึ้นค่าแรง หวั่นกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุน ธุรกิจไหนพร้อมให้ปรับขึ้น ส่วนธุรกิจไหนไม่พร้อมต้องพิจารณา อย่าปรับพร้อมกันทั่วประเทศ เกิดค่าแรงกระชาก
  • ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจของไทยและทั้งอุตสาหกรรม ควรเคารพกติกา เคารพมติของไตรภาคี

หลังจากที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 วันแรงงานที่ผ่านมา ว่าจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ทุกอาชีพในวันที่ 1 ต.ค.2567 นั้น ก่อให้เกิดข้อเสนอแนะทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยถึงกรณีดังกล่าว

วันนี้ (13 พ.ค.2567) ช่วงเช้า สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เดินทางมาพร้อมสมาชิกทั้งแรงงานในภาคเอกชนรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างภาครัฐ  เข้ายื่นหนังสือต่อรมว.แรงงาน เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

ขณะที่ฝั่งนายจ้างนำโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็เดินทางเข้าพบ รมว.แรงงาน เพื่อคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ  และสะท้อนถึงปัญหาที่จะได้รับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" ขณะที่ยอด "หยุดกิจการ"ปี 67 มากกว่าปี 66

เพื่อไทย มั่นใจ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไร้ปัญหา หวังผลักดันสู่ 600 บาทปี 70

หนุนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)กล่าวว่า  จากการเก็บข้อมูลสมาชิกทำให้เห็นว่าแรงงานต้องเจอกับค่าครองชีพและราคาสินค้าแพง เหมือนกันทั่วทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาพันธ์ ได้มีความพยายามขับเคลื่อนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ โดยได้เสนอตัวเลขหลายตัวที่ได้มาจากการสำรวจทั่วประเทศ สูงสุดที่เคยเสนอคือ 712 บาท แต่ดูแล้วคงเป็นไปไม่ได้ จึงปรับมาที่ 492 บาท ซึ่งสิ่งที่เราต้องการที่สุดคือ ต้องการให้อัตราค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ

เพราะหากปรับค่าแรงต่างกันจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แรงงานในชนบทอพยพไปสู่เขตที่มีค่าจ้างสูงกว่า ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศจะส่งผลให้แรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ต้องอพยพเข้ามาทำงานเขต กทม. หรือปริมณฑล หรือโซนหัวเมืองใหญ่ ซึ่งจะเกิดการกระจายรายได้

ทั้งนี้ ทางสมาพันธ์ ได้มีการยื่นเอกสารข้อเสนอต่าง ๆ ต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมี 3 เรื่องหลักคือ

  • สนับสนุนให้รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ
  • เสนอให้รัฐบาลมีการควบคุมราคาสินค้า อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัทพ์ ค่าน้ำมันให้มีราคาที่เหมาะสมรวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีใหม่
  • เสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเป็นค่าจ้างแรกเข้าทำงาน

โดยการเสนอก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน

"ผมอยากขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่ออกมาคัดค้าน ซึ่งเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทจะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศ และยังสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างยั่งยืน เพราะคนงานส่วนใหญ่ได้เงินมาก็ซื้อหมด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ต่างต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งจะสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืนด้วย"

ค้านปรับขึ้นค่าแรง หวั่นกระทบต่อเศรษฐกิจ

ส่วนด้านนายจ้าง หลังจากที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดรับฟังความเห็นจากสมาคมธุรกิจ องค์กรภาคเอกชน เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท อัตราเดียวทั่วประเทศนั้น  87 สมาคมได้นำความเห็น ผลกระทบและข้อเสนอต่างๆ  ยื่นต่อ รมว.แรงงาน ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีในวันที่ 14 พ.ค. นี้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า  ตัวแทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เดินทางมายังกระทรวงแรงงานเพื่อยื่นเอกสารความคิดเห็นดังกล่าวต่อ รมว.แรงงาน

โดยหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น จากเดิมเข้าร่วม 54 สมาคม ขณะนี้มีสมาคมการค้าธุรกิจร่วมแสดงเจตจำนงเพิ่มเติมจาก 54 สมาคม เป็น 87 สมาคมเพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท เป็นอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ

ปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องเคารพมติไตรภาคี

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่าหอการค้าทุกจังหวัดได้มีการประชุมร่วมกันกับสมาคมการค้าทั่วประเทศมีความกังวลว่าถ้าเป็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมาเป็น 400 บาททั่วประเทศ ทุกจังหวัดพร้อมกัน ไม่แน่ใจว่าจะปรับตัวทันหรือไม่ เพราะแต่ละจังหวัดมีความพร้อมต่างกันโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่วันละ 330 บาท ซึ่งจะทำให้ค่าแรงกระชากขึ้นมามากว่า 20%

"อยากให้ไปดูตามภาคส่วนต่างๆด้วย และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ถ้าส่วนไหนมีความพร้อม เชื่อว่าคงยินดีที่จะปรับขึ้นค่าแรงให้  พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล  แต่เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจของไทยและทั้งอุตสาหกรรม จึงมองว่า สิ่งสำคัญคือต้องเคารพกติกา เคารพมติของไตรภาคี"

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท อาจจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้มีความเสี่ยงในหลายๆ เรื่อง อย่าง ราคาพลังงานพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้นทุนสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องแบกรัก ซึ่งภาคเอกชนย้ำจุดยืนและเสนอข้อเรียกร้องมาตลอด ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. พลังงาน เพื่อทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานร่วมกันเพื่อปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ

รมว.แรงงาน เตรียมหาจุดเหมาะสมปรับขึ้นค่าแรง

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าที่ผ่านมา มีหลายธุรกิจได้ก้าวข้ามปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  400 บาทไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องพิจารณา  โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ถึง 400 บาท ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้หารือร่วมกัน  และการหารือคงไม่ใช่ใช้เวลาเพียงวันเดียวแล้วจบ ต้องรับฟังจากทั้งภาคธุรกิจ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อหาจุดที่เหมาะสมร่วมกัน

ฉะนั้น ก่อนจะถึงวันที่ 1 ต.ค.2567 ซึ่งประกาศไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น อาจต้องมีการหารืออีกหลายรอบ

"การปรับขึ้นค่าแรง ไม่สามารถตัดสินใจได้เพียงคนเดียว แต่จะเดินหน้าไปพร้อมกันกับปลัดกระทรวงข้าราชการจะสู้เพื่อชาวแรงงานอย่างเต็มที่ และจะนำเรื่องนี้ไปาหรือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะการปรับค่าแรง 300 บาทตั้งแต่ปี 2554 ผ่านมากกว่า 10 ปี วันนี้ค่าแรงยังก้าวไปไม่ถึง 400 บาท ดังนั้น ถึงเวลาที่ต้องปรับ 400 บาท เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างในอัตรา 600 บาทในปี 2570" 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ส่วนกระทรวงแรงงานจะหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าไทย และกลุ่มธุรกิจ SMEs เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือด้านต่างๆ ต่อไป