"GenZ" ไม่อดทนในการทำงานจริงหรือ มีทางเลือกมากมายในชีวิต
เมื่อโลกการทำงานแตกต่างไปจากเดิม และคนทำงานก็มีความหลากหลาย ความต่างระหว่าง Gen หรือช่วงวัย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทุกองค์กรต้องเจอ เพราะต่อให้บริษัทจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ คนมากน้อยอย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
KEY
POINTS
- GenZ มองเรื่องตัวงานและบริษัทว่าต้องมีความมั่นคงสูง เลือกองค์กรที่ให้ความสมดุล Work Life Balance ขออิสระในการทำงาน และพวกเขามีเป้าหมาย มีความเชื่อของตนเอง
- การลาออกบ่อยๆ ของคนรุ่นใหม่ GenZ ไม่น่าจะเกี่ยวกับความอดทน หรือไม่อดทน แต่พวกเขามีทางเลือกมากมาย และมีมากกว่าคนในGen อื่นๆ
- แต่ละGen มีความต่างกัน ชุดความคิดต่างกันตามความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ฯลฯ ที่พวกเขาได้รับมาก ต้องหาจุดเชื่อมโยงตรงกลางของแต่ละเจนเข้าด้วยกัน
เมื่อโลกการทำงานแตกต่างไปจากเดิม และคนทำงานก็มีความหลากหลาย ความต่างระหว่าง Gen หรือช่วงวัย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทุกองค์กรต้องเจอ เพราะต่อให้บริษัทจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ คนมากน้อยอย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง การรวมตัวของคนหลายร้อยคนที่ต่างพ่อต่างแม่ หรือต่อให้พ่อแม่เดียวกัน ก็ใช่ว่าจะมีความคิด ความชอบ ทัศนคติเหมือนกัน
ยิ่งขณะนี้ มีงานวิจัยและการสำรวจออกมาหลากหลายชิ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า คนรุ่นใหม่ GenZ ที่เข้าสู่ตลาดงานเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ต้องการความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน หรือ Work Work-life Balance ไม่ทำงานที่ไม่ให้อิสระ และพวกเขาสามารถลาออกจากงานได้ทันทีหากไม่ตรงกับเป้าหมาย หรือความเชื่อของพวกเขา
จากหนังสือ “พฤติกรรมองค์การ ของนิติพล ภูตะโชติ” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าจากผลวิจัย การสำรวจความคิดเห็น นิสิต นักศึกษา ปี 3-4 ของไทย พบว่า สิ่งที่เด็ก GenZ มองหาในองค์กรคือ
- เขาอยากทำงานในองค์กรที่มั่นคง
- เขาอยากได้ Work Life Balance ที่ดี
- เขาอยากมีอิสระในการทำงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'Gen Z-Millennial' เครียดน้อยลง แต่กังวลเรื่องค่าครองชีพ-สิ่งแวดล้อม
Gen Z ทั่วโลกเกือบ 70% เลือกทำงานอิสระ บางคนไม่คิดจะสมัครงานประจำเลย
โลกการทำงานของคนGenZ
GenZ จะมองเรื่องตัวงานและบริษัทว่าต้องมีความมั่นคงสูงเป็นอันดับ 1 และองค์กรนั้นต้องให้ Work Life Balance คือการทำงานตามใจฉัน ชีวิตต้องมีทั้งครอบครัว มีทั้งการทำงานมีทั้งเล่น งานต้องไม่หนักเกินไป ต้องมีความชิลในการทำงาน
ในขณะที่ขออิสระในการทำงาน อย่ามาสั่ง อย่ามาบอก หากมองในมุมมองของผู้ใหญ่สามสิ่งนี้ดูเป็นความเอาแต่ใจ แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เด็กๆ รุ่นใหม่ต้องการ และองค์กรที่มีคนรุ่นก่อน ทั้ง GenX , GenY และ GenB ต้องรู้และเข้าใจ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมองค์การให้เหมาะสม
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่อง Gen เกี่ยวกับความอดทนในการทำงานจริงๆ หรือเป็นเพราะสภาพแวดล้อมภายในองค์กร หัวหน้างาน คนทำงานร่วม หรือลักษณะของงานที่ทำให้คนแต่ละ Gen จะเลือกทำงานต่อ หรือลาออกจากงาน
ทำความเข้าใจธรรมชาติของคนแต่ละ Gen
ความเข้าใจและหัวใจที่เปิดรับ คือรากฐานของการแก้ปัญหาเรื่องความต่างระหว่าง Gen เมื่อเราตั้งต้นด้วยชุดความคิดแบบนี้แล้ว ที่เหลือก็แค่เข้าใจธรรมชาติของแต่ละช่วงวัย ว่าความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ฯลฯ ของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร แล้วลองปรับวิธี หาจุดเชื่อมโยงตรงกลางของแต่ละเจนเข้าด้วยกัน
- GenX อึดถึกพร้อมชนทุกสถานการณ์
กลุ่มคน Generation X เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2508-2522 อายุอยู่ระหว่าง 35-44 ปี โดยมากคนกลุ่มนี้มักอยู่ในตำแหน่งระดับสูง กลุ่มผู้บริหาร ฝ่าย Management กลุ่ม Senoir ที่มีความเก๋าอยู่พอตัว เป็นกลุ่มทรัพยากรล้ำค่าของบริษัทที่ต้องรักษาไว้ แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็น Gen ระดับท็อปสูงสุดของแก้ปความต่าง ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี
ธรรมชาติของคน GenX ส่วนใหญ่มุ่งมั่นเพื่อความก้าวหน้าของตัวเอง ทีมงานและองค์กร มีความคิดที่ค่อนข้างเปิดกว้างและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา พูดจาตรงไปตรงมา โฟกัสเรื่องงานเป็นหลัก จนอาจทำให้รู้สึกว่าเป็นคนเจ้าระเบียบหรือ Perfectionist ดังนั้น การทำงานกับคน GenX จึงควรทำงานด้วยความละเอียด และเกิดความผิดพลาดได้น้อยที่สุด
- GenY กล้าได้กล้าเสีย ไม่มีเจาะแจ๊ะ
Range ช่วงวัยถัดมา คือกลุ่มคนอายุระหว่าง 24-34 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่อันถือเป็นกำลังสำคัญในทุก ๆ องค์กร ส่วนธรรมชาติของ GenY ที่เด่นชัดนั้น เห็นจะเป็นเรื่องของการเป็นตัวของตัวเองสูง การกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่สนใจคำวิจารณ์และสิ่งรอบข้าง รวมถึงเอฟเฟคต์ต่าง ๆ ที่จะตามมาภายหลัง หากคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็พร้อมพุ่งเข้าชนทันที โดยไม่เอาเรื่องอายุมากน้อยมาเป็นข้อจำกัด
อีกทั้ง GenY ยังมาพร้อมจุดแข็งสำคัญ อย่างความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสูง ทันทุกเทรนด์และอัปเดตทุกข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสกิล Multi-tasking สามารถทำงานได้หลากหลายในเวลาเดียวกัน โดยทั้งหมดเน้นการทำงานที่คล่องตัว รวดเร็วและฉับไว เน้นผลลัพธ์ของความสำเร็จ ไม่เน้นวิธีการหรือพิถีพิถันกับอะไรระหว่างทางมากนัก
- GenZ สร้างสรรค์อย่างสมดุล
กลุ่ม GenZ ซึ่งเกิดระหว่างปี 2540-2555 เจนน้องเล็กสุดขององค์กร ทว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่พร้อมพัฒนาทุกเรื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมลองผิดลองถูกอย่างไม่กลัวผลลัพธ์ เรียกได้ว่าเป็นวัยที่พร้อมเผชิญกับความผิดพลาดและความล้มเหลวแบบตาใส ว่ากันว่า GenZ คือวัยแห่งการเริ่มต้น หากผิดอะไรมาก็ถือว่าเป็นครั้งแรก คนพร้อมให้อภัยง่ายกว่าคนที่ทำงานมานานแล้ว
ผลสำรวจของ Laws of Attraction จากจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) พบว่า Gen-Z ให้ความสำคัญกับสมดุลในการทำงานเป็นอันดับแรก รองลงมาคือโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ขณะที่ความมั่นคงในการทำงาน และเงินเดือนค่าตอบแทน เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญรองลงมา
จากผลสำรวจดังกล่าวก็พอจะเข้าใจได้ว่า คน Gen นี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะทำอะไรนอกกรอบหรือแตกต่างได้อย่างไม่หวั่นเกรง หากสิ่งนั้นจะพัฒนาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็สร้างสมดุลให้กับชีวิตตัวเองและครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน บาลานซ์ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ดี ออกแนวสุขนิยมพร้อมใช้ชีวิตไปด้วย ไม่ได้ทุ่มทุกอย่างให้กับงานทั้งหมดเหมือนคนเจนก่อน ๆ อีกต่อไป
ทุก Gen เบลนกันได้หากเข้าใจความต่าง
ตามที่อธิบายไปด้านบน ธรรมชาติของคนทั้งสามเจนสามกลุ่มช่วงวัย ค่อนข้างมีโฟกัสที่แตกต่างกัน ให้น้ำหนักความสำคัญในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่พอต้องมาทำงานด้วยกันจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา
อย่างที่บอกไปว่า “ความเข้าใจ” ถึงความต่างคือรากเหง้าของการแก้ปัญหา ถึงแต่ละ Gen จะมีสิ่งสำคัญของชีวิตที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือผลลัพธ์ปลายทาง ที่มุ่งหวังเรื่องความสำเร็จเหมือนกัน ทว่าวิธี จังหวะก้าวขา หรือจุดพักระหว่างทาง อาจจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันไปบ้าง คุณเองอาจจะต้องมองข้าม หรือถ้ามองแล้วมันยังขัดหูขัดตาไปบ้าง ก็ลองเลือกหลับหูหลับตาข้างหนึ่งดูบ้าง เพื่อการเดินร่วมทางกันอย่างสันติสุข
บางครั้งชีวิตก็ต้องยอมลดความสำคัญกับสิ่งระหว่างทาง แล้วมองที่ปลายทางดูบ้าง แต่ละคนอาจจะมีจุดเหนื่อย หยุดนั่งพักไม่เหมือนคุณ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ ในเมื่อความมุ่งมั่นและเจตนายังตรงกันอยู่
GenZ ลาออกบ่อย ไม่ใช่ไม่อดทน แต่มีทางเลือก
รายงานจาก Lever’s Great Resignation ระบุว่า ในปี 2022 คน GenZ 65% บอกว่า จะลาออกจากงานในช่วงสิ้นปี สอดคล้องกับผลงานวิจัยข้างต้นที่ระบุว่า คน Gen Z ไม่ได้รู้สึกผิดกับการย้ายงานบ่อยอีกต่อไป
ด้วยความเป็นคนGen Z ทั้งนี้ นิตยสาร Forbes เคยระบุเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ (Gen Z และ Millennials) ชอบย้ายงานบ่อยๆ ไว้ว่า เพราะคนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายกับงาน รู้สึกเฉื่อยชากับตำแหน่งของตัวเอง เชื่อว่าการย้ายงานจะทำให้ได้เติบโตและเรียนรู้โลกกว้าง ประกอบกับค่านิยมต่อต้านการย้ายงานบ่อยก็ไม่ค่อยหลงเหลืออีกต่อไปแล้ว
"อภิชาติ ขันธวิธิ"เจ้าของเพจ ‘HR The NextGen’ ได้ให้มุมมองในการทำงานของ GenZ ว่าถ้าให้เหตุผลที่คนกลุ่ม GenZ ลาออกจากงานนั้นมีมากมายแตกต่างกันไป เพราะแต่ละคนค่อนข้างมีความคิดเป็นของตัวเอง และถ้าถามว่าพวกเขาลาออกจากงานบ่อยหรือไม่ แล้วอยากได้อะไร ทำไมถึงลาออก ตอบแบบกว้างๆเลยคือ เขาต้องไม่พอใจอะไรสักอย่าง ที่ทำให้ชีวิตไม่สบาย
แล้วมองว่าน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่า และเขาเคยเห็นว่า มีบริษัทอื่นที่เคยให้แบบนี้กับเขาได้แต่บริษัทนี้ไม่มี เขาเลยรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ที่เขาทำงานแล้วสบายอย่างที่คิด เลยลาออกเพื่อไปเจอสิ่งที่สบายในแบบที่เขาคิด
ถ้าลองเปรียบเทียบ GenZ กับ Gen อื่นๆ จะเห็นว่า GenZ โอกาสหางานมีมากกว่าGen อื่นๆอย่างตอน GenX หรือ GenY ตอนต้นในยุคนั้นเวลาจะสมัครงานที เรายังต้องใช้วิธีการเปิดหนังสือสมัครงาน หนังสือพิมพ์ แล้วเราต้องมาเปิดดูว่าบริษัทไหนมีงานเข้ามา แต่ตอนนี้ GenZ สามารถคลิ๊กเข้าไปในเว็บไซต์หางาน มีตำแหน่งงานให้เลือกมากมาย
ขณะเดียวกันพื้นฐานทางครอบครัวของ GenZ ดีขึ้น ทำให้มีโอกาสมากขึ้น อย่าง คน GenX ยุคที่พวกเขาเติบโต ทั้งเศรษฐกิจไทยและการศึกษาของเด็กไทยไม่ได้ดีเท่าทุกวันนี้
GenX คนที่เลี้ยงพวกเขา ดูแลพวกเขาคือ Baby Boomer ซึ่งครึ่งนึงที่มีการศึกษาดีนี่รอดแน่ๆ แต่อีกครึ่งนึงที่ต้องทำมาหาเลี้ยงตัวเองและพ่อแม่พี่น้องเนี่ยต้องมีภาระความรับผิดชอบที่มากขึ้นทำให้คนส่วนนั้นอาจจะไม่ได้มีการศึกษาที่ดี
ถ้าเด็กที่เป็น GenY ตอนปลาย จนถึง GenZ เขาจะอยู่ในครอบครัวที่มีพื้นฐานที่ดี ไม่ได้มีความลำบากเรื่องของเงินเท่าไหร่และถูกเลี้ยงดูโดย Gen X ที่มีการศึกษาแล้วในระดับนึง เพราะฉะนั้นทุกคนคนก็จะพยายามให้ลูกตัวเองมีการศึกษาที่ดี พอมีการศึกษาที่ดีก็จะมีโอกาสที่เยอะขึ้น
"ในสมัย GenX การจะลาออกจากที่นึงโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีงานรองรับรึเปล่าเลยค่อนข้างน้อย จะออกก็ต่อเมื่อมีงานใหม่รองรับเท่านั้น แต่ Gen Z สามารถตัดสินใจลาออกจากที่ๆพวกเขามองว่าทำงานแล้วเขาไม่มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องมีงานใหม่รองรับ เพราะ มีงานอื่นๆอีกมากมายที่เขาสามารถทำได้"
ดังนั้น บางครั้งการลาออกจากงานของคน GenZ ไม่ได้เกี่ยวกับพวกเขาอดทน หรือไม่อดทน แต่พวกเขามีทางเลือกมากมาย และพฤติกรรมของพวกเขาแตกต่างกับคนGen อื่นๆ เนื่องจากเติบโตมาแตกต่างกัน อย่าไปประเมินหรือตีตราว่าพวกเขาไม่อดทน เพราะเหตุผลในการลาออกของแต่ละคน หรือเลือกที่จะไม่อยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีสาเหตุมากมาย
อ้างอิง: jobsdb ,thematter ,krungsri plearn plearn ,hrnote.asia