บอร์ดค่าจ้าง คาดได้ข้อมูลค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดทั้งหมดภายใน 31 ก.ค.นี้

บอร์ดค่าจ้าง คาดได้ข้อมูลค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดทั้งหมดภายใน 31 ก.ค.นี้

วันนี้ (28 มิ.ย.2567) เวลา 09.30 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 6/2567

KEY

POINTS

  • 31 ก.ค.นี้ ได้ข้อมูลทั้งหมดจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอแต่ละจังหวัดควรจะปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทหรือไม่ และกิจการไหนบ้างที่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้าง
  • แต่งตั้งผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง แทนตำแหน่งที่ว่างลง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.จันทบุรี สกลนคร และปทุมธานี
  • ฝ่ายนายจ้างค้าน มาตรา 87 ถูกตัดออก และปรับเปลี่ยนสูตร หวั่นส่งผลการปรับขึ้นอย่างไร้เพดาน 

วันนี้ (28 มิ.ย.2567) เวลา 09.30 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 6/2567  โดยมี คณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม  ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายไพโรจน์ กล่าวภายหลังการประชุมว่าการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่ก่อน เพื่อพิจารณาว่าในแต่ละจังหวัดควรจะปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทหรือไม่ และกิจการไหนบ้างที่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ขึ้นแน่นอนภายในตุลาคมนี้

ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เตรียมปรับทั่วประเทศ ชัดเจน ก.ค.นี้

31 ก.ค.นี้ ได้ข้อมูลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่อรายจังหวัด

"ตามกำหนดที่ให้ไว้ทางคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะต้องส่งข้อมูลทั้งหมด มาให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ภายในวันที่ 31 ก.ค.67 นี้ ดังนั้น หลังจากที่ทางคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ส่งข้อมูลมา จะประมวลภาพตามรายจังหวัดว่าจังหวัดไหนมีความต้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอย่างไร และมีจังหวัดไหนต้องปรับขึ้นบ้าง "นายไพโรจน์ กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่าหลังจากได้ข้อมูลแต่ละจังหวัดมาแล้วนั้น จะมีการสำรวจความเห็นด้วยว่าควรปรับขึ้นเมื่อใดอย่างไร ซึ่งไม่อยากให้มองว่าเป็นวันที่ 1 ต.ค.2567 นี้ แต่จะพยายามทำให้มีความเหมาะสมครบถ้วน ตรงกับความต้องการกับทั้งฝั่งลูกจ้าง และนายจ้าง

เห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการ 2 ชุดแทนตำแหน่งที่ลาออก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกัน บางธุรกิจ บางกิจการมีกำลังน้อย มีทุนน้อย อย่าง ธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) ค้าปลีกค้าส่ง และภาคเกษตร จึงต้องพิจารณาดูรายละเอียดถึงความต้องการ และความจำเป็นของการจ้างงานตามรายจังหวัดนั้นๆ เพื่อเสนอให้อนุกรรมการกลั่นกรองก่อน ต่อจากนั้นจะนำเสนอกับคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาเป็นในขั้นตอนสุดท้าย โดยกำหนดให้ต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. เพื่อให้การดำเนินการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้  

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุกรรมการวิชาการ และกลั่นกรองแทนตำแหน่งที่ว่างลง  และการแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดแทนตำแหน่งที่ว่างลงพร้อมทั้ง ได้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง แทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากอนุกรรมการลาออก ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเสนอ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.จันทบุรี สกลนคร และปทุมธานี

"นายจ้าง" ค้านมาตรา 87 ถูกตัดออก 

ด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีวาระการรับรองรายงานการประชุมของครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ซึ่งฝ่ายนายจ้างไม่รับรองรายงานดังกล่าวในข้อที่ 4.3 เนื่องจากมีการระบุว่าเสนอพิจารณากรอบแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในการประชุมครั้งต่อไป โดยให้เลือกแนวทางที่ระบุไว้ในรายงานการประชุม จำนวน 4 แนวทาง ซึ่งฝ่ายนายจ้างเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะควรจะต้องยึดตามสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่บอร์ดค่าจ้าง มีมติไปเมื่อเดือนก.พ.

ทั้งนี้ สำหรับสูตรค่าจ้างที่ระบุไว้ในรายงานการประชุมมีการยกเลิกบางส่วนออก ซึ่งส่งผลให้การพิจารณาขึ้นค่าจ้างสามารถทำได้ตามอำเภอใจ ฝ่ายนายจ้างคิดว่าไม่ถูกต้อง จึงไม่รับรองรายงานการประชุมวาระดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าการที่จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณที่มีมติไปแล้ว จะต้องมีการตั้งวาระใหม่ขึ้นมา แล้วค่อยส่งไปที่คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งทางเราก็ยินดี

นายอรรถยุทธ กล่าวว่าส่วนตัวสนับสนุนการพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดย 1.พิจารณาขึ้นในรอบวันที่ 1 ม.ค.2568 ตามทำเนียมปฏิบัติ ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นจากบอร์ดค่าจ้างก่อนว่าควรจะปรับหรือไม่ และ 2.หากมีความเห็นว่าควรจะปรับขึ้น ก็ต้องรู้ว่าควรปรับขึ้นเท่าไร ในแต่ละจังหวัด หรือจะเป็นการปรับขึ้นแบบโซนนิ่ง

สำหรับความสำคัญของมาตรา 87 ที่ถูกตัดออกนั้นสามารถพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำให้บวกหรือลบได้ 1.5% ถ้ามากไปก็ลบได้ 1.5% หรือสามารถเพิ่มได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยลบ มีแต่บวกเพิ่มจากสูตร ซึ่งนายจ้างก็ยินดี

ทั้งนี้ มาตรา 87 เดิมเคยมีการกำหนดไว้ที่บวกลบ 3% แต่ในการประชุมเมื่อเดือนก.พ.2567 มีการปรับแก้มาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น จึงเหลือบวกลบ 1.5% แต่ตอนนี้เป็นการตัดออกทั้งหมด

ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การจะปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาสูตรร่วมกันระหว่างฝ่ายข้าราชการ นายจ้าง และลูกจ้าง ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาสูตรมาแล้วมีการตัดมาตรา 87 ออก แบบนี้เราไม่เห็นชอบ เนื่องจากในวงเล็บท้ายมาตรา 87 ระบุว่า หากคณะอนุกรรมการฯ มีการกำหนดสูตรขึ้นมาแล้ว ทางบอร์ดค่าจ้างสามารถปรับขึ้นหรือลงได้ 1.5% จากสูตร  ดังนั้น เมื่อมีการตัดในส่วนนี้ออก ฝ่ายนายจ้างก็มีความกังวลว่าจะทำให้กลายเป็นการปรับขึ้นอย่างไร้เพดาน 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์