คดีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย

คดีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542  คนต่างด้าวไม่ว่าบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จะประกอบธุรกิจตามที่กำหนดในบัญชีหนึ่งไม่ได้ และจะประกอบธุรกิจตามบัญชีสองได้เฉพาะคนต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคลโดยได้รับอนุญาตจาก รมว.พาณิชย์  โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ คนต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคลนั้นจะต้องมีคนไทยหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าว ถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของทุนของคนต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคลนั้น ส่วนการประกอบธุรกิจตามบัญชีสาม ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

                พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมีบทกำหนดโทษสำหรับการหลีกเลี่ยงกฎหมายในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไว้ในมาตรา36  คือ

               “มาตรรา36 ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว 

หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใดฯโดยคนต่างด้าวนั้นมิได้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว  เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ใช้คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับตั้งแต่ หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนนั้นเสียแล้วกรณี  หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับ วันละหนึ่งหมื่นบาทถึง ห้าหมื่นบาทตลอดเวลายังฝ่าฝืนอยู่”

                คดีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืน ตามมาตรา36

                ที่เป็นคดีล่าสุด     คือคดีตามรายงานข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษลงวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เป็นรายงานการตรวจสอบและดำเนินคดีกับสำนักงานทนายความที่ดำเนินการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตให้คนต่างด้าว และจัดหาให้มีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวโดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจค้าขายอสังหาริมทรัพย์ 

ทำให้บริษัทดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าว แล้วประกอบธุรกิจอันเป็นการหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มีคนไทยและคนต่างด้าว นิติบุคคลไทย นิติบุคคลต่างด้าวถูกดำเนินคดี และฟ้องต่อศาลอาญารวม 23 ราย ในความผิดฐานถือหุ้นแทน  ร่วมกันให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

รวมทั้งคนต่างด้าวที่ยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยให้กระทำการดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ศาลอาญาพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ อ.2812/2567 ลงวันที่ 11 กันยายน 2567 จำคุก(หลายกระทง) 10ปี สารภาพลดเหลือจำคุก 5 ปี รอการลงโทษจำคุกไว้2ปี ปรับรายละ 200,000บาท ให้คุมประพฤติจำเลย1ปี ให้จดทะเบียนเลิกบริษัท หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ขำระค่าปรับวันละ10,000บาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่ง

                  2 คดีในช่วงที่ผ่านมา

                   -  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2566    คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 8 (3), 37 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83

โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมีผลบังคับนับตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 จึงเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ครบถ้วน

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 วันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ก็เพื่อให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีผลบังคับแล้วมีเงื่อนไขในการบังคับโทษครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องชำระค่าปรับนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท

                  3  คนต่างด้าวผู้ฝ่าฝืนมาตรา36ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560   โจทก์ เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตาม  พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542  แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน

ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการตามบัญชีหนึ่ง

โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์

                  4 คดีพิพาทกันทางแพ่งแต่เกี่ยวเนื่องกับการฝ่าฝืนมาตรา36

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560  โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

เมื่อ ปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1  มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150.