การทำงานและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

การทำงานและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

กฎหมายไทยที่ควบคุม กำกับดูแลการทำงานและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่เป็นกฎหมายหลักคือ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ 2542

พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีสาระที่สำคัญคือ

  คำนิยามที่สำคัญ

“คนต่างด้าว” หมายความว่า “บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยและให้คำนิยามของคำว่า “ทำงาน” คือการประกอบอาชีพใดๆ ไม่ว่าจะมีนายจ้างหรือไม่ แต่ไม่รวมถึงการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

  ข้อห้ามที่สำคัญ

- ห้ามคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะกระทำได้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดนี้ และ

- ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดนี้

บทกำหนดโทษที่สำคัญ

- คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องถูกปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท และเมื่อเสียค่าปรับแล้ว จะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

- ผู้รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานเข้าทำงาน ต้องถูกปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มีสาระสำคัญ

  คำนิยามที่สำคัญ

“คนต่างด้าว" หมายความว่า (1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือ (2) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ (3) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือ หรือลงทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่ง

โดยบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือ (4) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือหรือลงทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งโดยบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) หรือ (5)ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลตาม(1)

“ธุรกิจ” หมายความว่า การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรมหรือกิจการอย่างอื่นอันเป็นการค้า

  ประเภทธุรกิจ  ได้แบ่งประเภทธุรกิจเป็นสามบัญชี คือ บัญชีหนึ่ง เป็นธุรกิจที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจด้วยเหตผลพิเศษ มีธุรกิจรวม 9 รายการ

  บัญชีสอง   เป็นธุรกิจเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศหรือมีผลกระทบต่อวัฒนธรรม จารีตประเพณี หัตถกรรมพื้นบ้านหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจได้เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี แบ่งเป็นสามหมวด คือ

หมวด1 ธุรกิจเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศ (1) การผลิตและจำหน่าย การซ่อมบำรุง 4 รายการ (2) การขนส่งทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศในประเทศ รวมถึงกิจการบินในประเทศ

  หมวด2 ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน มีธุรกิจ 6 รายการ 

หมวด3 ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม มี 5 รายการ

บัญชีสาม  เป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจได้เมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการปราะกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มีธุรกิจรวม 21 รายการ

บทกำหนดโทษที่สำคัญ  คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนข้อห้าม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการประกอบธุรกิจ หรือเลิกกิจการ หรือสั่งเลิกการเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ต้องถูกปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

  หมายเหตุ  บทบัญญัติให้ศาลสั่งให้เลิกกิจการ และการปรับรายวันหากฝ่าฝืนคำสั่งศาล เป็นบทบังคับ มิใช่เป็นบทบัญญัติให้เป็นดุลพินิจที่ศาลจะสั่งให้เลิกกิจการหรือปรับรายวันหรือไม่ ทั้งนี้ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2566 คือ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต้องชำระค่าปรับหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 8 (3), 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2561 

คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมีผลบังคับนับตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 แต่มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ บัญญัติว่า คนต่างด้าวผู้ใดประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 6 มาตรา 7 หรือมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการประกอบธุรกิจ หรือเลิกกิจการ หรือสั่งเลิกการเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี 

หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ดังนี้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิได้กำหนดโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จึงเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ครบถ้วน

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 วันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ก็เพื่อให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีผลบังคับแล้วมีเงื่อนไขในการบังคับโทษครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น 

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องชำระค่าปรับนับแต่วันที่ 28 พ.ย.2561 จนถึงวันที่ 2 มี.ค.2563 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าปรับนับแต่วันที่ 29 ธ.ค.2561 อันเป็นเวลาหลังจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผลบังคับแล้ว

โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดต้องชำระค่าปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา กรณีจึงต้องบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.