ยังไม่เคาะ! ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท ตีกลับจังหวัด คาดชี้ชัด 23 ธ.ค.นี้
บอร์ดไตรภาคีค่าจ้าง ยังไม่เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ส่งกลับให้แต่ละพื้นที่ จังหวัดพิจารณาใหม่ ก่อนจะนำเสนอในที่ประชุมอีกครั้ง 23 ธ.ค.2567 เร่งให้ทัน 1 ม.ค.2568 มอบของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงาน
ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ครั้งที่ 10/2567 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น. โดยมี “นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ปลัดกระทรวงแรงงาน” เป็นประธานการประชุม ซึ่งในการประชุมจะเป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
การประชุมบอร์ดไตรภาคีครั้งนี้ มีกรรมการค่าจ้างจำนวน 2 คนที่แจ้งลาประชุม คือ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และ น.ส.วรวรรณ พลิคามิน ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ทำให้มีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 13 คนจาก 15 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กกร. แสดงจุดยืน ชง 7 ข้อเสนอค้านขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
ลุ้น! 'บอร์ดไตรภาคี 'เคาะค่าแรง 400 บาท ของขวัญปีใหม่ 12 ธ.ค.67
เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 23 ธ.ค.นี้
ต่อมาเวลา 12.30 น.นายบุญสงค์ พร้อมด้วย นายอรรถยุทธ ลียะวณิชย์ กรรมการค่าจ้าง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และนายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ร่วมกันแถลงภายหลังมีการประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ
นายบุญสงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยพิจารณาเห็นชอบใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ให้มีการรับทราบเรื่องการแต่งตั้งผู้แทนภาครัฐจำนวน 2 คน
2. รับทราบขั้นตอนวิธีการ เงื่อนไข รายละเอียด ข้อกฎหมายในการ ปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
3.พิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 400บาท ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเลขเสนอปรับค่าแรงจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ จากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัด ศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวนมาก
ดังนั้นเพื่อความรอบคอบทำให้ที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณา และขอให้ไปประชุมร่วมกันอีกครั้งในการประชุมนัดหน้า วันที่ 23 ธันวาคม2567 เวลา 13.00 น.
“จากภาวะเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด ทำให้บอร์ดไตรภาคีค่าจ้างยังไม่ได้ฟันธงว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หรือจะเป็นตัวเลขไหนเพราะจริงๆ แล้วคณะกรรมการไม่มีการกำหนดตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำว่าต้องเป็น 400 บาท แต่อยู่ที่ความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้าง สภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพ ในพื้นที่ ซึ่งเท่าที่ดูอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ในอัตรา 400 บาท เท่ากัน ต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ และจะพยายามให้ทันมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2568 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ใช้แรงงานทุกคน โดยที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องอยู่ได้” นายบุญสงค์ กล่าว
เห็นด้วยปรับขึ้นค่าแรงเป็นของขวัญปีใหม่
นายอรรถยุทธ กล่าวว่าในการปรับอัตราค่าแรงนั้น ฝั่งนายจ้างมีความยินดีที่จะให้ปรับอัตราค่าแรงอยู่แล้ว ไม่เคยคัดค้าน เพียงแต่ขอให้เป็นไปตามรอบของแต่ละปีที่เหมาะสม ที่ควรจะเป็น และตัวเลขจะปรับเท่าไหร่นั้นขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ กลไกและตามหลักกฎหมาย
“ฝั่งนายจ้างเห็นด้วยกับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในรอบนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องแรงงาน และประชาชน เพราะเข้าใจถึงสภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ แต่ในส่วนของตัวเลขจะเป็นอย่างไรนั้น ในแต่ละพื้นที่ขอให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น และการที่ระบุว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้น นายจ้างไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้อยู่แล้ว”นายอรรถยุทธ กล่าว
หวังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ
ขณะที่ นายวีรสุข กล่าวว่า เนื่องจากตัวเลขที่คณะกรรมการกลั่นกรองเสนอมา เป็นตัวเลขตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 และตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องไปพิจารณาใหม่ เพื่อความรอบคอบ ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขเดิม หรือปรับเพิ่มขึ้นลดลงต้องไปดูอีกครั้ง แต่ในส่วนของลูกจ้างยังคงคาดหวังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ และจะพยายามผลักดันตัวเลขเพื่อลูกจ้างเต็มที่
ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อกรรมการที่เข้าร่วมประชุมบอร์ดไตรีภาคีค่าจ้าง ครั้งที่ 10/2567 ได้แก่
ฝ่ายรัฐ ประกอบด้วย
1. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดฯ
2. ร.อ.สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน
3. นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง
ฝ่ายนายจ้าง ประกอบด้วย
1. นางสาวศุภานัน ปลอดเหตุ
2. นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ
3. นายอรรถยุทธ ลียะวณิช
4. นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย
5. นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี
ฝ่ายลูกจ้าง ประกอบด้วย
1. นายกัมปนาท ศรีพนมวรรณ
2. นายสมชาย มูฮัมหมัด
3. นายอ่อนสี โมฆรัตน์
4. นายไพโรจน์ วิจิตร
5. นายวีรสุข แก้วบุญปัน