1 ตุลาฯ 65 “โควิด” ที่ต้องเฝ้าระวัง
แม้สถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันดูเหมือนจะคลี่คลายลง และวันที่ 1 ต.ค. นี้ จะปรับสู่การเป็นโรคระบาดเฝ้าระวัง รวมถึงจะมีการเข้าถึงการรักษาที่ง่ายขึ้น แต่ก็ยังคงต้องดูว่าในอนาคตอันใกล้สถานการณ์จะบางเบาลงกว่านี้หรือไม่
วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกรมบัญชีกลาง ออกประกาศข้อกำหนดอัตราค่ายาผู้ป่วยนอกรักษาโรคโควิด-19 ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของทางราชการสำหรับตนเองและบุคคลในครอบครัว
โดยสามารถเบิกค่ายา “ฟาวิพิราเวียร์ - โมลนูพิราเวียร์” ได้ตามอัตราที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดไว้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระทรวงสาธารณสุข กรณีที่ทดรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกไปก่อน ให้ยื่นขอใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ไปยังส่วนราชการต้นสังกัดได้
ส่วนกรณีประชาชนที่ป่วยเป็นโควิด 19 เมื่อไปพบแพทย์และได้รับใบสั่งยาจากแพทย์แล้วสามารถไปซื้อยาต้านไวรัสที่ร้านขายยาได้ ซึ่งผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และหากแพทย์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรับยาก็ไม่ควรไปซื้อมารับประทานเอง
โดยการซื้อยาต้านไวรัสในร้านขายยาต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เนื่องจากยังเป็นยาที่อนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน และแม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีการประกาศถอดหน้ากากอนามัยทั่วประเทศแต่อย่างใด ทุกอย่างให้ประเมินตามสถานการณ์
จะว่าไปแล้วดูจากสถานการณ์โควิด เริ่มมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 (ข้อมูลวันที่ 5 กันยายน 2565) มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 142,891,943 โดส มีประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 53,744,479 ราย คิดเป็น 77.3%และฉีดเข็มที่ 3 ขึ้นไป จำนวน 31,876,008 ราย คิดเป็น 45.8 % ซึ่งตามแผนแล้ว จะต้องสามารถฉีดเข็ม 3 ให้ได้ประมาณ 70 %
โดยขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ เข้าถึงการฉีดได้ง่าย กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หากฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 3-4 เดือนขึ้นไป สามารถไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้น 3 เข็มขึ้นไป จะมีประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในระดับสูงกว่า 80% ได้นานถึง 6 เดือน ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดซื้อวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - ต่ำกว่า 5 ปี ส่งมอบในเดือนตุลาคมนี้ จำนวน 3 ล้านโดส เรียกได้ว่าประเทศไทยมีวัคซีนโควิดครอบคลุมทุกกลุ่มอายุแล้ว
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าหลังจากประกาศโรคติดต่อเฝ้าระวังแล้ว สถานการณ์ โรคโควิด-19 จะกลายเป็นหวัดชนิดหนึ่งหรือไม่ และในอนาคตจะมีวัคซีนรวมหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจลดจำนวนผู้ที่ต้องฉีดวัคซีน หรืออาจฉีดตามกลุ่มเสี่ยงทั้งนี้ต้องขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อด้วย เพราะหากเกิดการกลายพันธุ์และรุนแรงก็ต้องพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้การดำเนินงานควบคุมโรคต้องสมดุล ทั้งมาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมสูงสุด มาตรการสังคมที่ต้องใช้ชีวิต และมาตรการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับ โรคโควิด-19 ได้อย่างสมดุลทั้งด้านคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจเดินหน้า