"ปัญหาสุขภาพจิต"จะพุ่งขึ้นเป็นโรคอันดับ 1
ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ที่มักพบในคนมีอายุ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 1 แต่จิตแพทย์คาดว่าอีกไม่ช้า “ปัญหาสุขภาพจิต”จะขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 แทน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย และอุปสรรคใหญ่ต่อการเข้าถึงบริการ เพราะกังวลการถูกตีตรา
ในเวทีโต๊ะกลมเสวนาออนไลน์ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย” จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆนี้ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เชื่อว่าอีกราว 10-20 ปีข้างหน้า ปัญหาสุขภาพจิต จะพุ่งแซงหน้าทุกโรคแม้แต่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นอันดับ 1
ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายมีหลากหลายสาเหตุ ถ้าดูรายละเอียดผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ใน 100 คน พบว่า
- อันดับ 1 หรือราว 50% เป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ทั้งความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ความสัมพันธ์ในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงเรียน
- ปัญหาเรื่องการมีโรคประจำตัวทั้งโรคทางกายที่รักษาไม่หาย ทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าที่จะมีชีวิตอยู่และโรคทางจิต
- ปัญหาการใช้สุราและสารเสพติด โดยในผู้เสียชีวิตยจากการฆ่าตัวตาย พบว่า 10-20 % จะตรวจพบสารเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่งในเลือด
- ปัญหาเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจ
จากข้อมูลพบว่า 90% เกิดจาก 2 ปัจจัยขึ้นไป ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีโรคทางกาย หากมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี มีลูกหลานดูแลเอาใจใส่ ให้กำลังใจ ไม่ด้อยค่า ก็จะใช้ชีวิตดีมีความสุข
“ในอดีตการมี ปัญหาสุขภาพจิต มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและจะถูกตีตราว่าเป็นคนบ้า อย่างละครไทยก็มักจะให้ตัวร้าย มีจุดจบที่การเป็น ผู้ป่วยทางจิต กลายเป็นว่า โรคทางจิต เป็นเรื่องของบาปกรรม แต่ปัจจุบัน การรับรู้เรื่องปัญทางสุขภาพจิตมีความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างเจนZ หรือเจนอัลฟา”นพ.วรตม์กล่าว
ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น
จากรายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย ยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า
วัยรุ่นไทย อายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์
สอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School - based Student Health Survey) พบว่า 17.6 %ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
ซึ่ง การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย
ปัญหาสุขภาพจิตวัยแรงงาน
อรพิน วิมลภูษิต สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บอกว่า การทำงานมุ่งเน้นในคนที่ยังไม่ป่วยก่อนซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย โจทย์ของแรงงานช่วง 3 ปีที่ผ่าน มา คือ
1.การเผชิญกับภาวะดิสรัปชั่น แรงงานได้รับผลกระทบจากการเลย์ออฟ หรือเปลี่ยนถ่ายโยกย้ายการทำงาน ส่งผลต่อความเครียดความกังวล บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเพราะเป็นความลับบริษัท
2.ความเปราะบางของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ โอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์น้อย เพราะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรายได้ และย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ ส่งผลครอบครัวแตกแยกตามไปด้วย ลูกอยู่กับตายาย หรือไม่มีใครเลี้ยงลูก ความกังวล ครียดเรื่องลูกก็จะตามมา
โจทย์ใหญ่เรื่องการฆ่าตัวตายของแรงงานอกระบบ มาจากปัญหาหลักคือ การเงินและรายได้ ไม่เพียงพอ เป็นเรื่องความเครียด และบางทีขั้นฆ่าตัวตายเลยไม่ซึมศร้า ทำให้ครอบครัวแตกแยกและความวิตกกังวลช่วงโควิดว่าจะได้ทำงานต่อหรือถูกเลิกจ้างหรือไม่ บางทีกลายเป็นไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะกังวลไปหมด ซึ่งการเข้าถึงระบบริการสุขภาพจิต เป็นเรื่องยากของวัยแรงงานเพราะทำงาน และไม่กล้าไปพบแพทย์
ปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับ ปัญหาสุขภาพทางใจ ผู้สูงอายุจะรู้สึกสูญเสียพลัดพราก เศร้ากังวลมักคิดว่าแก่แล้วอีกไม่นานก็ตาย ไม่มั่นคงในชีวิตเพราะไม่มีรายได้หากลูกหลานกตัญญูจุลเจือเรื่องรายได้ให้ผู้สูงอายุก็จะรู้สึกดีขึ้น รวมถึง รู้สึกเป็นภาระเมื่อลูกทำงานไม่มีเวลาให้ก็เหมือนโดนทอดทิ้ง ทำให้น้อยใจ ว้าเหว่ นอกจากนี้ ชอบพูดเรื่องในอดีต คิดซ้ำๆ และบางคนชอบเก็บตัว ปลีกวิเวก แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ผู้สูงอายุส่งดอกไม้สวัสดีตามวันทางไลน์ ซึ่งหากยังส่งอยู่ก็ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ส่งเพื่อนก็จะตามหา ทั้งนี้ หากมีปัญหาสุขภาพใจมากลูกหลานจะต้องไปพบแพทย์
โดย ผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในรพ. มากที่สุด คือ
- อารมณ์แปรปรวน
- เครียดวิตกกังวลซึ่งเจอค่อนข้างมาก
- จิตเภทแต่เจอไม่มาก
- สมองเสื่อม หลงลืม
- กลุ่มอาการต่างที่จะต้องตรวจต่อ เช่น สมอง หัวใจ
ป้องกันการฆ่าตัวตาย
นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายใกล้ตัวมากกว่าคิด ช่วงเวลาที่คนวางแผนคิดฆ่าตัวตายมากที่สุดเป็นช่วง 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน เป็นช่วงโดดเดี่ยว อ้างว้าง ขาดการเชื่อมต่อโลกภายนอก จึงเป็นความเสี่ยงที่มากกว่าช่วงเวลาอื่น ทั้งนี้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จจากข้อมูลใบมรณบัตร พบมีจุดสูงสุดหรือพีคช่วงหลังต้มยำกุ้ง ปี 2542 อยู่ที่ 8.59 ต่อแสนประชากรซึ่งต้มยำกุ้งเกิดปี 2540 แต่ปัญหาการฆ่าตัวตายจะบ่มเพาะจนสุกง่อมประมาณ 1-2 ปีหลังเกิดวิกฤตินั้น
ส่วน วิกฤติโควิดที่เกิดในช่วงปลายปี 2562 ต้นปี 2563 ดังนั้นปลายปี 2564 ต้นปี 2565 จึงเป็นช่วงที่สุกงอม จะเห็นว่า
- ช่วงปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายกระโดดขึ้นเป็น 7.35 ต่อแสนประชากร ถือว่าสูงสุดในรอบ 17 ปี
- ช่วงปี 2564 เพิ่มเป็น 7.38 เฉลี่ยเป็นคนตายประมาณ 4,820 คน
พูดได้ว่า 1 ปีมีคนทำร้ายตัวเองสำเร็จเกือบ 5,000 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานตัวเลขของไทยอยู่ที่ 8.8 ต่อแสนประชากรในปี 2019
“การฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติอันดับ 2 ของคนไทย รองจากการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีสถิติมากสุดอันดับ 1 และอันดับ 3 คือการฆ่ากันตาย การฆ่าตัวตายมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงการตายจากอุบัติเหตุ บ่งบอกถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายเริ่มบ่มเพาะปัญหาและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ณัฐกรกล่าว
สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย
ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร ผู้แทนสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า
สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย ได้แก่
1.คำพูด เช่น บ่นไม่อยากอยู่แล้ว อยากฆ่าตัวตายจะได้หมดทุกข์ อยู่ไปก็เป็นภาระผู้อื่น พูดสั่งเสียล่วงหน้า
2.พฤติกรรม แยกตัว ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น หาอุปกรณ์ทำร้ายตัวเอง ซึ่งการฆ่าตัวตายโดยใช้เชือกแขวนคอเป็นแนวทางที่พบมากที่สุด นอนไม่หลับ หรือการใช้ยานอนหลับที่มากเกินขนาด
3.อารมณ์ หดหู่ เศร้า โกรธง่าย อารมณ์แปรปรวน
ช่องทางปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต การดูแลป้องกันประชาชนเบื้องต้นได้วางแนวทางไว้มากมาย บริการที่มีอยู่ให้สามารถปรึกษาเบื้องต้นได้ อาทิ
- สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
- แอปพลิเคชั่น Mental Health Check In
- ปรึกษาออนไลน์ผ่านแชทไลน์ KHUIKUN (คุยกัน)
- เชื่อมโยงการดำเนินงานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในทีมปฏิบัติการพิเศษปัองกันการฆ่าตัวตาย HOPE Task Force
ส่วนคนที่ไม่สามารถเข้ารับบริการผ่านดิจิทัล ก็มีบริการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่เข้าไปดูแลประเมินถึงบ้านและชุมชน