สธ.ระบุน้ำท่วมขัง สร้างความเครียดระยะสั้น คาดไม่เกิด "PTSD"
สธ. จัดงบฯ ช่วยเหตุฉุกเฉิน 10 ล้านบาท รับมือน้ำท่วม ดูแลผู้ป่วย ระบุปมน้ำรอระบาย ทำเครียดระยะสั้น คาดไม่เกิด PTSD ส่วนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 พบ 10% แนะมีสติ
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการบริหารจัดการสถานพยาบาลรองรับสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม ว่า เบื้องต้นจากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ทราบว่ายังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก แต่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้มีการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ และหน่วยบริการ เพื่อมอบหมายให้มีการติดตาม สั่งการ
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจัดทำแผนบริหารจัดการรับมือฝนตกน้ำท่วม ทั้งแผนหลัก แผนสำรอง แผนการดูแลประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต ฟอกไต และผู้ป่วยที่ต้องรับคีโม ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเอาไว้ทั้งหมด ตลอดจนการจัดเตรียมทีมบุคลากรดูแลด้านร่างกาย และสุขภาพจิต ชุดใหญ่ ชุดเล็ก เอาไว้รองรับสถานการณ์
“สำนักงานปลัดสธ. ยังได้เตรียมงบกลางสำหรับการช่วยเหลือแบบฉุกเฉินประมาณ 10 ล้านบาท เอาไว้ช่วยเหลือในระยะฉุกเฉิน พร้อมระบบสำรองยา เวชภัณฑ์ จัดเป็นถุงยังชีพไว้รองรับ ในขณะที่แต่ละจังหวัดก็จะมีงบประมาณของแต่ละจังหวัดอยู่ราวๆ 5-10 ล้านบาทอยู่แล้ว ทั้งนี้จากรายงานขณะนี้ มีสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงแบ่งเป็นภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด และภาคกลาง 4 จังหวัด จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม อาทิ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครราชสีมา เป็นต้น”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
สำหรับปัญหาสุขภาพจิต จากการติดตามสถานการณ์พบว่าน้ำที่ท่วมตอนนี้ ไม่ได้ท่วมยาวนาน แต่เป็นลักษณะของน้ำท่วมขังจากปริมาณน้ำฝนมาก รอการระบาย ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต แต่ส่งผลกระทบกับปัญหาทรัพย์สิน เช่น ยานพาหนะ ข้าวของในบ้านได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนเกิดความเครียดระยะสั้น เวลาเกิดฝนตกฟ้าร้อง จะเกิดความวิตกกังวลได้ แต่ยังไม่พบสัญญาณที่จะส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตระยะยาว ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีการปรับตัวได้เร็ว
“ถ้าเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งท่วมนานเป็นเดือน เมื่อติดตามต่อเนื่องไป 3 ปี ก็พบว่ามีภาวะจิตใจหลังเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง (Posttraumatic stress disorder (PTSD) ผลกระทบกับสุขภาพจิตระยะยาวอยู่ราวๆ 10 % ถือว่าน้อย กรณีที่พบปัญหาสุขภาพจิตน้อยเป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือเร็ว มีการเยียวยา และคนไทยสามารถปรับตัวได้เร็ว ดังนั้นปีนี้ก็คาดว่าจะไม่มาก”
ในระยะนี้ ขอให้ประชาชน มีการเตรียมตัวเอง เก็บของมีค่าต่างๆ เอาไว้บนที่สูง จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ สิ่งจำเป็นเอาไว้ เผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการเตรียมตัวเองเอาไว้เช่นนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลจากปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ต้องควบคู่กับการ เรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือต้องมีสติ เพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาใหม่ๆ เช่น การทะเลาะเบาะ แว้ง หัวร้อน เป็นต้น นพ.เกียรติภูมิกล่าว