สธ.ติดตามโควิด-19 "สายพันธุ์XBB" ยังไม่พบนัยความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น
สิงคโปร์เจอโอมิครอน "สายพันธุ์XBB" ไทยยกระดับเฝ้าระวังสนามบิน ระบุจากการติดตามยังไม่พบนัยความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น เตรียมซื้อวัคซีนโควิด-19สูตรผสม ใช้เข็มกระตุ้นปี 66
- ยุโรปเสี่ยงโควิด-19รอบใหม่
เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2565 นายฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป และนางสาวแอนเดรีย แอมมอน ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป (ECDC) ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ข้อมูลจาก WHO ระบุ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ต.ค. มีแต่ยุโรปเท่านั้นที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น รวมแล้วเพิ่มขึ้น 8% จากสัปดาห์ก่อนหน้า บ่งบอกว่าการติดเชื้อระลอกใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว”
ทั้งนี้ แนวโน้มทำให้คนในยุโรปไม่ออกไปฉีดเข็มกระตุ้น มีคนอีกหลายล้านคนทั่วยุโรปที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้ง WHO และ ECDC ขอให้ประเทศยุโรปฉีดทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ก่อนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะพุ่งขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ บุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรรับวัคซีนทั้งสองตัว
โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB สาธารณสุขฮ่องกงแถลงพบผู้ป่วยจากไทย
- พบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์XBB
ประเทศสิงคโปร์พบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เป็นโอมิครอนสายพันธุ์XBB ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง BJ.1 กับ BM.1.1.1 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารักษาในรพ.ก็เพิ่มขึ้น
รวมถึง มีข่าวเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB 29 คน ในจำนวนนี้ 24 คน ตรวจพบตอนเดินทางมาถึง และ 5 คน ตรวจพบหลังอยู่ในฮ่องกง 2 วัน ส่วนใหญ่พบเป็นผู้เดินทางมาจากสิงคโปร์ และพบ 3 คน เดินทางมาจากประเทศไทย
- 4 ระบบเฝ้าระวังของไทย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ปรับโควิด-19 มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องใน 4 ระบบ ได้แก่
ระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล
ระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน
ระบบเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงหรือกลุ่มเสี่ยง
และระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์
ยังไม่พบสัญญาณของสายพันธุ์ที่จะมีการระบาดรวดเร็ว หลบภูมิคุ้มกัน หรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ส่วนเรื่องการป้องกันตัวของประชาชน พบว่า มีการสวมหน้ากากอนามัยลดลง แต่ยังมีการสวมในที่ชุมชนอยู่ ซึ่งขณะนี้ไม่ได้บังคับเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสม
- โควิด-19 สายพันธุ์XBB ในไทย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า กรมวิทย์ฯ มีการสุ่มตรวจและเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบสายพันธุ์ XBB ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจด้วยว่าการตรวจเชื้อรวมถึงสายพันธุ์สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้มีการตรวจทุกคน การระบาดของสายพันธุ์ XBB ในสิงคโปร์ที่มีมากขึ้นคงจะมีการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการซึ่งเดินทางจากสิงคโปร์เข้ามาไทยมากขึ้น
“ไม่อยากให้ตื่นตระหนกกับสายพันธุ์XBBดังกล่าว จากข้อมูลที่ติดตามยังไม่พบว่ามีนัยยะความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น และเป็นธรรมชาติของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เกิดสายพันธุ์ต่างๆ ตลอดเวลา" นพ.ศุภกิจกล่าว
กรมวิทย์ฯ มีการติดตามและเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ตรวจพบส่วนใหญ่เวลานี้่ยังเป็นสายพันธุ์ BA.5 ที่ครองพื้นที่ในไทย
- เฝ้าระวังโควิด-19สายพันธุ์XBBสนามบิน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ประสานหน่วยงานสาธารณสุขผ่านกลไกกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation: IHR) เพื่อขอทราบข้อมูล 3 รายนี้ ว่าเป็นใคร อาศัยในไทยหรือเป็นผู้โดยสารต่อเครื่องบิน รวมทั้งติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายใต้ความร่วมมือของกฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการรับมือและเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์ใหม่ๆ จากข้อมูลต่างประเทศยังไม่พบความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้ยกระดับการเฝ้าระวังที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินทุกแห่ง หากตรวจพบผู้โดยสารที่มีอาการจากระบบทางเดินหายใจที่เดินทางจากประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และประเทศที่มีรายงานการระบาดของสายพันธุ์XBB
หากมีผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มีอาการป่วยจากระบบทางเดินหายใจที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐ และเฝ้าระวังในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้ทำการสุ่มเพื่อส่งตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ข้อแนะนำผู้เดินทางไปต่างประเทศ
ผู้ที่จะเดินไปต่างประเทศขอให้ไม่ประมาท โดยศึกษาคำแนะนำของประเทศที่จะเดินทางไป ป้องกันตนเองอยู่เสมอ โดยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
มาตรการนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจได้ และหากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นขอให้รีบไปรับวัคซีน เพราะวัคซีนเป็นตัวช่วยที่ลดความรุนแรงของโรคได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
วัคซีนโควิด-19สูตรผสม โอมิครอน-อู่ฮั่น
นพ.โอภาส กล่าววว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังต้องรณรงค์ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง รวมถึงเข็มกระตุ้นที่มีความจำเป็น โดยจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 2 ล้านโดสภายในปลายปีนี้ เน้นกลุ่ม 608 เป็นหลัก แต่ภาพรวมประชาชนทั่วไปยังควรต้องฉีดเช่นกัน และตั้งแต่12 ตุลาคม มีการคิกออฟฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้มในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจ หากเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวจะมีแพทย์ให้คำแนะนำ
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีน บู๊สเตอร์ป้องกันโรคโควิด-19 ในปี 2566 เป็นไปตามแผนดำเนินการของกรมควบคุมโรค ปัจจุบันมีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องมีการจัดซื้อเพิ่ม ซึ่งต้องดูตามสถานการณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และติดตามวัคซีนสูตรใหม่ ที่เป็นวัคซีนรวม 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์อู่ฮั่น ของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่มีการใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป
ข้อจำกัดของการผลิตวัคซีนที่ผ่านๆ มา จะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ แต่ตอนนี้รุ่นอู่ฮั่นก็ถือว่าได้ผล มีรายงานว่าไม่แตกต่างกัน สามารถลดอาการรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิตได้
“วัคซีนรุ่นใหม่อาจจะมีราคาสูงขึ้น ตอนนี้จึงอยู่ระหว่างการติดตาม แต่ประชาชนไม่ต้องรอเพื่อรับวัคซีนตัวนั้นตัวนี้ หรือรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะมีวัคซีนที่เตรียมไว้สำหรับฉีดให้ประชาชนอย่างเพียงพอ ขอให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิต เพราะตอนนี้ยังมีรายงานคนเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบ”นพ.นครกล่าว