“หมอธีระ” เผยงานวิจัย ม.ปักกิ่ง พบ BQ.1.1 - XBB ดื้อภูมิคุ้มกันมาก
“หมอธีระ” เผยงานวิจัยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน พบว่า BQ.1.1 - XBB ดื้อภูมิคุ้มกันมาก คนที่เคยฉีดวัคซีน CoronaVac 3 เข็มไม่เพียงพอ
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น โควิดวันนี้ ระบุว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 194,359 คน ตายเพิ่ม 368 คน รวมแล้วติดไป 632,887,656 คน เสียชีวิตรวม 6,582,752 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ ไต้หวัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.64 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 95.65
BQ.1.1 และ XBB
ดังที่ย้ำมาหลายครั้งว่า BQ.1.1 และ XBB ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่ได้รับการประเมินจากทั่วโลกว่าจะนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ในปลายปีนี้
เหตุผลหลักที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วคือ การดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และความสามารถในการขยายการระบาดสูงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อน ทั้ง BA.2 และ BA.5
โดย XBB ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด ในขณะที่ BQ.1.1 ก็ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากเช่นกัน
ล่าสุด Cao Y และคณะจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อคืนนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า ทั้ง BQ.1.1 และ XBB นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันอย่างมาก
ทั้งนี้ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นว่า ระดับภูมิคุ้มกันจากคนที่เคยฉีดวัคซีน CoronaVac 3 เข็ม และเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron BA.1 มาก่อนนั้น ไม่เพียงพอที่จะจัดการกับ BQ.1.1 และ XBB ได้
นอกจากนี้แม้คนที่ฉีดวัคซีน และติดเชื้อมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 6 เดือน (7.5 เดือน) ระดับภูมิคุ้มกันก็จะลดลงมากอย่างชัดเจน
ผลการศึกษาของทีมมหาวิทยาลัยปักกิ่งนี้ ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
หนึ่ง การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องจำเป็น และจะลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อติดเชื้อลงไปได้มาก
สอง ประเทศต่างๆ ควรจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ชนิด bivalent vaccines ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น เพื่อให้แก่ประชาชนอย่างทันท่วงที
ยืนยันอีกครั้งว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
ติดเชื้อนั้น ไม่จบแต่ชิลๆ แล้วหาย แต่มีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ และที่สำคัญคือเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ระยะยาว
การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ไปได้บ้าง แต่ประสิทธิภาพจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป
ดังนั้นพฤติกรรมป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพของตนเอง อย่างเป็นกิจวัตร เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ควบคู่ไปกับการไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพ
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด