"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" Omicron มีความเสี่ยงติดเชื้อซ้ำได้มาก
"หมอธีระ" เผยสถานการณ์ "โควิด-19" แถบโอเชียเนีย เอเชีย และอเมริกาเหนือ น่าจับตามอง จำนวนติดเชื้อใหม่รายวันเฉลี่ยรอบสัปดาห์ต่อประชากรล้านคน กำลังไต่ขึ้น ขณะที่ยุโรปเพิ่งเป็นขาลง โดยสายพันธุ์ Omicron ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำได้มาก
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า
เมื่อวาน ทั่วโลกติดเพิ่ม 217,572 คน ตายเพิ่ม 442 คน รวมแล้วติดไป 637,504,359 คน เสียชีวิตรวม 6,604,933 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- ฝรั่งเศส
- ไต้หวัน
- ชิลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.42 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 79.86
เปรียบเทียบสถานการณ์ "โควิด-19" ทั่วโลก
สำรวจข้อมูลจาก Ourworldindata เช้านี้ จะเห็นได้ว่าแถบโอเชียเนีย เอเชีย และอเมริกาเหนือ เป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง เพราะจำนวนติดเชื้อใหม่รายวันเฉลี่ยรอบสัปดาห์ต่อประชากรล้านคน กำลังไต่ขึ้น ในขณะที่ยุโรปเพิ่งเป็นขาลงจากการปะทุที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ส่วนจำนวนเสียชีวิตรายวันเฉลี่ยรอบสัปดาห์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย และกลุ่มประเทศที่รายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower middle income countries)
หากดูจำนวนเสียชีวิตของไทยเราตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าภาพรวมแล้วสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่ Omicron ระบาดหนัก ต้องไม่ลืมว่ามีการปรับระบบรายงานจำนวนเสียชีวิตโดยไม่รวมคนที่มีโรคร่วม ทำให้จำนวนที่รายงานลดลงไปกว่าที่เห็นในกราฟ
การติดเชื้อ "โควิด-19" ซ้ำในสหราชอาณาจักร
ข้อมูลจาก Office for National Statistics (ONS) เมื่อ 19 ตุลาคม 2565 ซึ่งทำการวิเคราะห์ลักษณะการติดเชื้อซ้ำในประชากรของสหราชอาณาจักรจนถึงปลายกันยายน 2565
ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) นั้น 93% เป็นการติดเชื้อซ้ำในช่วง Omicron ระบาด ในจำนวนนี้ 24% เป็นผู้ที่เพิ่งติดเชื้อครั้งแรกในช่วงที่ Omicron ระบาด, 35% เคยติดเชื้อตอนเดลต้าระบาด, และ 34% เคยติดเชื้อตอนอัลฟ่าระบาด
ในขณะที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อซ้ำเพียง 7% ที่เกิดติดเชื้อซ้ำตอนช่วงเดลต้าระบาด ซึ่งในจำนวนนี้ 6% เป็นคนที่ติดเชื้อครั้งแรกตอนอัลฟ่าระบาด และ 1% เป็นการติดเชื้อซ้ำในช่วงเดลต้าระบาด
ข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ไวรัส "โควิด-19" สายพันธุ์Omicron นั้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเรื่องการติดเชื้อซ้ำได้มาก แม้จะมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากไวรัส เช่น ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงลักษณะเชิงประชากร พฤติกรรมป้องกัน และสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต ก็ตาม แต่ก็เป็นการดี หากเราตระหนักถึงเรื่องข้างต้น และไม่ประมาทในการใช้ชีวิตประจำวัน
ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และการไปในสถานที่เสี่ยง แออัด ระบายอากาศไม่ดี คลุกคลีใกล้ชิดเป็นเวลานาน ลอยกระทงในวันอังคารหน้าคงต้องระวัง
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลดความเสี่ยง Long COVID
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก ไม่ว่าจะทำงาน ศึกษาเล่าเรียน หรือตะลอนท่องเที่ยวก็ตาม
Long COVID เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และไม่ควรให้เราตกอยู่ในเกมส์รัสเซียนรูเล็ตที่จะรอลุ้นว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ หากเกิดติดเชื้อขึ้นมา
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด