ถอดสูตร “นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ” ดันธุรกิจดูแล “Silver age” มาตรฐานสากล
รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ” ที่มีวิสัยทัศน์ในการเล็งเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุทั้งตลาดไทยและตลาดโลก กับเป้าหมายพัฒนาสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุมาตรฐานสากลรับ "สังคมอายุยืน"
หลังจากเรียนจบเฉพาะทางด้านอายุรกรรม และมองว่า แม้การแพทย์ของไทยจะอยู่ในระดับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หัวใจ สมอง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา การดูแลเชิงฟื้นฟู ยังมีช่องว่างไม่ว่าจะเป็นเนอร์สซิ่งโฮม การดูแลที่บ้าน การพัฒนาบุคลากร และการดูแลระยะยาว
เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ “นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ” ผู้อำนวยการ Chersery Home International โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ก่อตั้งสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ดูแลครอบคลุมไปถึงผู้สูงอายุที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เช่น ออกจากโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน ฟื้นฟูให้ถูกหลัก ครบวงจรทั้ง 4 มิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และความสัมพันธ์ เตรียมความพร้อมให้ผู้สูงวัยแข็งแรงขึ้น ครอบครัวมีความพร้อม และเตรียมผู้ดูแลต่อที่บ้านให้มีทักษะที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้สูงวัยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
“Chersery เป็นคำที่หมอคิดเอง Cher มาจาก “ฌ” ที่หมายถึงต้นไม้ สมาสกับคำว่า Nursery ที่หมายถึง “การบริบาล” รวมทั้งสองคำจึงหมายถึง การบริบาลที่มีความใกล้ชิดธรรมชาติ สามารถให้ผู้สูงอายุฟื้นฟูได้โดยใช้หลักการทางการแพทย์ บวกกับธรรมชาติบำบัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแล”
ปัจจุบัน สถานดูแลผู้สูงอายุภายใต้การดูแลของ “นพ.เก่งพงศ์” แห่งแรก คือ Chersery Home International ดูแลเคสซับซ้อน ติดเตียง ต้องใช้ออกซิเจน กายภาพเข้มข้น และ Chersery Home International แห่งใหม่ สาขาบางบอน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาฟื้นฟูผู้สูงวัย The Senizens ดูแลกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องความจำ ผ่าตัด เป็นต้น
และ The Senizens Stroke Rehab Center เน้นเฉพาะทางฟื้นฟูผู้สูงวัยที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือดสมอง มีธาราบำบัด ศูนย์กายภาพผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบ/แตก และการผ่าตัดสมอง โดยทีมพยาบาล ทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
เติบโตด้วยมาตรฐาน
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยเติบโตมูลค่ากว่า 1.07 แสนล้านบาท ขณะที่ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ ผู้มีภาวะพึ่งพิง มีดีมานด์ที่สูง และมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีการคาดการณ์ว่ารุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตจะมีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ส่งผลให้ไทยมีเนอร์สซิงโฮมหลายพันแห่ง แต่กลับมีมาตรฐานและขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุไทย (SHSTA) ไม่ถึง 500 แห่ง
ดังนั้น จากประสบการณ์ตลอด 6 ปีที่ผ่าน ทำให้ “นพ.เก่งพงศ์” มองว่าอยากจะทำสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐานมากที่สุด โดยเลือกที่จะให้แต่ละแห่งมีจำนวนเตียง 20-60 เตียง เพื่อดูแลให้ครอบคลุมและกำลังคนเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาลด้านผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัดวิชาชีพ รวมถึง ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนจำนวนมาก
ขณะเดียวกันการขยายแต่ละสาขาต้องดู 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ใกล้โรงพยาบาลที่รับมาดูแล-ส่งต่อ และต้องดูแลกลุ่มฉุกเฉินได้ 2. อยู่ในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถมาใช้บริการได้สะดวกสบาย และ 3. เดินทางสะดวกอยู่ในเขตเมือง โดยปัจจุบัน ยังโฟกัสในกทม.และปริมณฑล และคาดว่าจะเปิดสาขาที่ต่างจังหวัดในอนาคต
“เราไม่ได้ดูแลเฉพาะมิติเดียว แต่ดูแลทางด้านร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ และสังคม ไม่สามารถจะทิ้งมิติใดได้ ทั้ง 4 มิติต้องไปพร้อมกัน”
รองรับต่างชาติวัยเกษียณ
หากมองในฐานะนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุไทย (SHSTA) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาท นพ.เก่งพงศ์ เผยว่า ที่ผ่านมาความต้องการเนอร์สซิงโฮมสูงขึ้นเรื่อยๆ ราว 8-10% ต่อปี ดูได้จากการขึ้นทะเบียนสถานดูแลผู้สูงอายุของสมาคมฯ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีอยู่ราว 250 แห่ง ปัจจุบันมีทั้งหมด 450 แห่ง อีกทั้ง ไทยมีความเหมาะสมที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของผู้สูงอายุทั่วโลกที่จะมาใช้ชีวิตวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การรักษา ฟื้นฟู การบริการ ความหลากลายทางอาหาร วัฒนธรรม และสภาพภูมิอากาศที่ถูกใจชาวต่างชาติ
“ส่วนตัวพยายามเตรียมความพร้อมให้มีการรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มาจากต่างประเทศ แถวสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือฝังเอเชีย ก็สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลมาตรฐานระดับนานาชาติ”
กฎ 5 นาทีฉบับ“หมอเก่ง”
สำหรับการที่ต้องรับหน้าที่ทั้งแพทย์ ผู้บริหาร นายกสมาคมฯ และต้องดูแลครอบครัว การทำทุกหน้าที่ให้ดีรวมถึงต้องดูแลสุขภาพจึงเป็นสำคัญ “นพ.เก่งพงศ์” เผยว่า ต้องดูแลทุกอย่างให้กลมกล่อม เพราะวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น โควิด-19 รู้เลยว่าวิกฤติมาตลอดเวลา ผู้บริหารต้องจัดการให้ได้ตลอด
“เมื่ออยู่ในวัยทำงาน เราอาจจะโฟกัสงาน การประชุมเป็นหลัก และมักจะละเลยครอบครัวคนใกล้ชิด แต่คนกลุ่มนี้เป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตเช่นกัน ดังนั้น หมอมีกฎ 5 นาที คือ การโทรศัพท์หา หรือแค่พูดอะไรบ้างอย่างที่มันแช่มชื่นหัวใจ เป็นการลดช่องว่าง และช่วยทำให้บรรยากาศของความรู้สึกดีดีไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่กับเราทุกๆ เวลา”
ขณะเดียวกัน การดูแลสุขภาพ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาม่าซึ่งดูแลตัวเองดี ทานอาหารดี และออกกำลังกาย จนขณะนี้ยังแข็งแรงแม้จะอายุ 103 ปี แนวคิดการหยอดกระปุกสุขภาพ ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เพราะสุขภาพทางกายเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากที่สุดในชีวิต ไม่มีใครมาเจ็บป่วยแทนเราได้
“พยายามทำเหมือนเดิมเป็นประจำ เราจะไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ขณะที่ความเครียด พอถึงเวลาพัก อาจจะต้องวางให้เป็น เราอาบน้ำทางกายทุกวัน เช้า เย็น แต่เราต้องอาบน้ำทางใจด้วย” นพ.เก่งพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
5 ด้านความเปลี่ยนแปลง Silver age
ปัจจุบัน คำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” เริ่มเปลี่ยนมาให้ Positive มากขึ้น คือ “สังคมอายุยืน” และเปลี่ยนจากคำเรียก “ผู้สูงอายุ” มาเป็น “กลุ่ม Silver age” นพ.เก่งพงศ์ มองว่าไม่อยากใช้คำว่า คนแก่ คนสูงวัย เพราะฟังแล้วดูมีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงถดถอย ความน่ากังวลของสังคมอายุยืน อันดับ 1 คือ “สุขภาพ” ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย และ การเตรียมพร้อมด้านสังคมจากอายุที่ยืนขึ้นต้องวางแผนอาชีพ การเงิน ปรับ Mindset ว่าทำอย่างไรจะยัง Active ได้
สำหรับ ครอบครัว ลูกหลาน ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลง 5 ด้านที่สำคัญของกลุ่ม Silver age คือ
1. ด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 เสื่อม
2. การดูแลที่ซับซ้อนจากการที่โรคเยอะขึ้น
3.อาการอาจจะไม่ตรงไปตรงมา เช่น หากไม่สบายเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการแรก คือ ซึม ไม่ค่อยพูด ทานอาหารน้อย ญาติผู้ดูแลต้องเข้าใจ
4.ต้องเข้าใจว่าการทานยาเยอะ นำมาซึ่งผลข้างเคียงที่มีปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน ลืมกินยาก็มีปัญหา กินยามากเกินไปก็มีปัญหา
5.การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เหงา ซึมเศร้า วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ
รวมถึงการฆ่าตัวตายก็มีตัวเลขสูงขึ้นทั้งในต่างประเทศและไทย มีการพูดคุยกันบ่อยมากขึ้นว่าผู้สูงวัยไม่อยากอยู่แล้ว เพราะมีความเครียดเรื้อรัง และภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง